Posted: 14 Sep 2018 01:16 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-09-14 15:16
สุภชาติ เล็บนาค
นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นที่ยกย่องของต่างชาติอีกครั้ง ในการประชุมระดับเอเชีย-แปซิฟิค ว่าด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : ประสบการณ์จากนานาชาติ ความท้าทาย และทางออก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ เป็นแม่งานในการดึงนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าด้วยการจัดการโรคเอดส์ และวัณโรค ซึ่งเป็นวาระสำคัญ ก่อนการออกปฏิญญาสากลว่าด้วยการต่อสู้เพื่อยุติวัณโรค ในการประชุมของสหประชาติ ซึ่งจะมีขึ้นภายในเดือน ก.ย. นี้ ที่ นิวยอร์คสหรัฐอเมริกา
แม้ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีลดลงจากตอนเริ่มต้นโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” อย่างเห็นได้ชัดและมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมผู้ป่วยเอชไอวี แต่ในส่วนของ “วัณโรค” กลับพบว่า ในช่วงหลัง มีอัตราผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อร่วมกันของคนไข้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และการเกิดอาการ “ดื้อยา” ของผู้ป่วยวัณโรค
แม้การต่อสู้กับวัณโรค ยังคงดำเนินต่อไป แต่ไทยก็ประสบความสำเร็จ ในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จกับโครงการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 และครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า 49 ล้านคน
นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีกองทุนเฉพาะ สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าว ยังให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัส จนทำให้มีผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ นโยบายของไทย ยังยึดหลักการสำคัญคือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยนอกจากจะให้ยาต้านไวรัส ใน “คนไทย” แล้ว สำหรับแรงงานข้ามชาติ ก็ให้การรักษา และให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีด้วย โดยขณะนี้แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยแนวทางที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ น่าจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ “โรคเอดส์” ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป ภายในปี 2573
เอียมอน เมอร์ฟีร์ ผู้อำนวยการระดับเอเชียแปซิฟิค โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) บอกว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ประสบความสำเร็จจากหลายปัจจัย เริ่มจาก “สภาวะผู้นำ”กล่าวคือ ความต่อเนื่องที่ผ่านมา ทำให้ “บัตรทอง” ไม่ได้เป็นของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากการส่งไม้ต่อ และความร่วมมือ เป็นระยะเวลานานกว่า 17 ปี จนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ และทั่วโลกก็ให้การชื่นชม
นอกจากนี้ เคล็ดลับที่ทำให้นโยบายประสบความสำเร็จอีกข้อ ก็คือการเริ่มกำหนดนโยบายจาก “รากหญ้า” ขึ้นสู่ด้านบน ไม่ใช่นโยบายแบบบนลงล่าง หรือจากส่วนกลางสั่งลงมา เหมือนกับนโยบายอื่น ทำให้ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นของประชาชนจริงๆ
“มีหลายข้อที่นานาชาติสามารถเรียนรู้จากประเทศไทย เพราะไทยถือว่าเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถขยายสิทธิประโยชน์ และพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไทยเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อทุกฝ่ายนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาปรับใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้ผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย UNAIDS เห็นได้ชัดว่า นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าซึ่งนานาชาติควรเรียนรู้จากประเทศไทย” ผู้อำนวยการ UNAIDS ระดับเอเชีย-แปซิฟิคระบุ
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจเกิดขึ้นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นโครงการที่สิ้นเปลืองงบประมาณนั้นเอียมอน อยากให้มองว่า เป็นการ “ลงทุน” ในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขมากกว่า กล่าวคือ หากรัฐบาลลงทุนให้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว หรือ ตั้งเป้าให้คนเหล่านี้ ห่างไกลจากโรคเรื้อรัง ประเทศก็มีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตมากขึ้น เพราะประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
“หากรัฐบาลมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในวัยแรงงาน และยังไม่ป่วย ประเทศก็จะสามารถพัฒนาได้อีกมาก และในระยะยาว เราก็จะสามารถป้องกันการป่วยโรคไม่ติดต่อในผู้สูงอายุ ซึ่งต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าในอนาคต เพราะฉะนั้นผมจึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยลงทุนในโครงการนี้ต่อไป” เอียมอน ระบุ
ขณะที่ แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข มากกว่า 1,000 ล้านคน ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ซึ่งประเทศไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้องค์การอนามัยโลกสามารถตั้งต้นระบบเหล่านี้ได้ในประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก โดยเฉพาะในเรื่องเฉพาะ อย่างการจัดการเชื้อเอชไอวี วัณโรค หรือโรคไม่ติดต่อต่างๆ
แดเนียล บอกว่า หลักการสำคัญที่ทำให้โครงการ “บัตรทอง” ประสบความสำเร็จ ก็คือ 1. ต้องไม่มีการ ‘ร่วมจ่าย’ ณ จุดให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผู้มีสิทธิ์ต้องควักกระเป๋าจ่ายทุกครั้งที่รับการรักษา นโยบายนี้ก็คงไม่เกิด และ 2. มีงานวิชาการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การกำหนดสิทธิประโยชน์ การใช้ยาและเทคโนโลยี ไปจนถึงการคำนวณต้นทุนการรักษาพยาบาล และ 3. การขยายความร่วมมือ จากภาครัฐ ลงไปสู่ท้องถิ่น และขยายไปถึง “ภาคเอกชน”ให้เข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนี้ เขายังทึ่งในหลักการ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่อาศัย “ข้อผูกพันทางการเมือง” “ความรู้” และ“การมีส่วนร่วมของสังคม” เพื่อขับเคลื่อนเรื่องที่ยากและซับซ้อน อย่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นได้ แม้จะต้องผ่านความยุ่งเหยิงทางการเมืองมาหลายรัฐบาล แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ยังตั้งมั่นที่จะรักษานโยบายนี้ไว้
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยทิ้งท้ายว่า ข้อท้าทายของนโยบายนี้ก็คือ ไม่มีจุดจบ และไม่มีจุดที่บอกว่า พอแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว แต่จะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และสิทธิประโยชน์ก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ไทยได้ทำให้โลกเห็นแล้วว่า ไทยสามารถเริ่มนโยบายนี้ได้และรักษานโยบายนี้ได้ โดยที่คุณภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าเดิม[full-post]
แสดงความคิดเห็น