Posted: 18 Sep 2018 09:27 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-18 23:27
อุเชนทร์ เชียงเสน
สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
วันที่ 19 กันยายน 2561 นี้ ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง “การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม งานนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่เพียงสถาบันวิจัยสังคมเลือกจัดในวันครบรอบ 12 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น แต่เป็นการทบทวนบทบาท “ประชาสังคม” กับประชาธิปไตย ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีเหตุการณ์รัฐประหารเป็นหลักหมาย โดยผู้นำเสนอแม้จะเป็นนักวิชาการเสียส่วนใหญ่แต่ก็ถือว่าเป็น “คนใน” ประชาสังคมเอง
ถ้างานนี้ เนื้อหาเดียวกันนี้ จัดขึ้นในทศวรรษที่ 2540 ผู้จัดคงใช้คำ “การเมืองภาคประชาชน” มากกว่า “การเมืองภาคประชาสังคม” เพราะในช่วงนั้น คำแรก “ประชาชน” เป็นที่นิยมกว่า ดูก้าวหน้าราดิคาลกว่า “ประชาสังคม” ซึ่งมีความหมายแบบกลางๆ หรือกึ่งไปทางปฏิกิริยา ละเลยชนชั้น
ชื่อของงานในวันนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความเสื่อมทรุดของ “การเมืองภาคประชาชน” ในอดีต
ล่วงเลยรัฐประหาร 19 กันยา ที่ “ภาคประชาสังคม” แทบทุกส่วน มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น มาถึง 12 ปี จึงจะมีเวทีวิชาการ-สาธารณะครั้งใหญ่เพื่อทบทวนเรื่องนี้ น่าเสียดายที่อยู่ชายขอบจนเกินไป จึงไม่มีโอกาสเข้าร่วมโดยตรง แต่เพื่อประโยชน์ในการถกเถียงหรืออื่นๆ จึงขอร่วมแลกเปลี่ยนผ่านบางส่วนของ “บทนำ : ปฏิวัติเข้าคลอง” ในหนังสือ การเมืองภาคประชาชน ของผู้เขียนที่ศึกษาสิ่งที่ผู้จัดเรียกว่า “ประชาสังคม” ผ่านความคิดและปฏิบัติของนักกิจกรรมทางการเมือง โดยมีคำถามว่า การเมืองภาคประชาชน ปรากฏขึ้นและกลายเป็นขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างไร
“บทนำ : ปฏิวัติเข้าคลอง” นี้ ถูกเขียนขึ้นปลายสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การเมืองภาคประชาชน” สรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้น และเสนอบทเรียนบางประการสำหรับนักกิจกรรมในอนาคต เพื่อไม่ให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ดังนี้
ความเป็นมาและบริบท
ผู้เขียนเริ่มเรียนรู้ “การเมืองภาคประชาชน” จากการชักชวนของนักศึกษารุ่นพี่มาร่วมให้กำลังใจสมัชชาคนจนที่ตั้งหมู่บ้านรายล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี 2540 การได้สัมผัสกับขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง มากกว่าขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 6 ตุลาที่ได้รู้จักผ่านตัวอักษรในหนังสือ ในครั้งนั้นได้ “ดูด” ผู้เขียนเข้าสู่ “ขบวนการ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นยุคทองของขบวนการประชาชนยุคใหม่ “การเมืองบนท้องถนน” เกิดการขยายตัวขององค์กรประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการขยายบทบาทของนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ในปี 2540 ความสำเร็จของ “สมัชชาคนจน” ในฐานะตัวแทนของคนจนในสงครามยืดยื้อกลางเมืองหลวง การยกระดับจากขบวนการ “เพื่อตัวเอง” สู่ “เพื่อสังคม” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ฯลฯ ผ่านการต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมือง ถูกจับจ้องอย่างตื่นตาตื่นใจทั้งจากภายนอกและผู้ที่ถือตัวว่าเป็นผู้ประกอบสร้างขบวนการนี้มาจำนวนไม่น้อย นำไปสู่จินตนาการทางการเมืองที่ไกลโพ้นออกไป
อาจเรียกได้ว่า ช่วงนี้เป็นจุดสูงสุดของการเมืองบนท้องถนน
การเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนต่างๆ เหล่านี้ นำไปสู่การเกิดคำและความคิด “การเมืองภาคประชาชน” โดยนักกิจกรรมทางการเมือง
ถ้าไม่นับช่วงสั้นๆ ปีแรกของรัฐบาลทักษิณ และถือว่าความสำเร็จขององค์กรชาวบ้านบางกรณีเป็นข้อยกเว้นแล้ว โดยภาพรวม ความถดถอยหรือความสามารถในการกดดันต่อรองเจรจากับรัฐบาลที่ลดลงเริ่มปรากฏร่องรอยให้เห็นตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัยแล้ว
หากมองอย่างเข้าใจ นี่เป็นสภาพปกติของขบวนการเคลื่อนไหว มีวัฏจักร ขึ้นมีลงตามกระแส สถานการณ์การเมือง โครงสร้างโอกาสทางเมืองที่เปิดและปิดที่สัมพันธ์กับความสามารถ/ศักยภาพในการพัฒนาวิธีการต่อสู้ของขบวนการเอง ความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถของรัฐหรือฝ่ายเผชิญหน้ากับขบวนการเคลื่อนไหว
และเป็นสภาพปกติของขบวนการเคลื่อนไหวและองค์กรชาวบ้านที่มีความจำกัดจำเขี่ยทั้งจำนวน ที่มาของการก่อเกิด และความคิดในการรวมตัว ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องใดน่าผิดหวังต่อขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน/องค์กรประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิเพื่อเสียงของตนเอง
แต่จากที่เคยอยากเป็น “เอ็นจีโอ” นักกิจกรรมเต็มเวลา มีเงินเดือน ที่คิดว่าจะทำให้อุดมคติกับอาชีพเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อก้าวเข้ามาใหม่ กลายเป็นการตั้งคำถาม นี่ไม่ใช่ทัศนะที่มีต่อปัจเจกบุคคล หลายคนเป็นแบบอย่างของนักอุดมคติ น่ายกย่องทั้งโลกทัศน์และชีวทัศน์ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคตินัก ขาดความเป็นประชาธิปไตยและการตรวจสอบวิพากษ์ตนเอง กีดกันคับแคบจนไม่อาจจินตนาการถึงขอบฟ้าความคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงอื่นใดที่กว้างไกลกว่าที่คุ้นชินและเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ได้ โครงสร้างขององค์กรและเครือข่ายที่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงคนจำนวนน้อย และทรัพยากรที่ต้องอาศัยแหล่งทุนสนับสนุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ต้องตอบสนองต่อแหล่งทุนจนลืมเป้าหมายแรกเริ่มไป และขาดอิสระในการทำงานในที่สุด
ทั้งข้อจำกัดของวัฒนธรรมและโครงสร้างองค์กร การคิดถึงขบวนการ การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตหรือการปฏิวัติ อย่างน้อยก็ในสภาวะเช่นนั้น ย่อมไม่อาจกลายเป็นความเป็นจริงได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว อุดมคตินั้นบางครั้งจึงเป็นเพียงคำโอ้อวดหรือปลอบประโลมตัวเองเท่านั้น
นี่คือคำถามที่ค่อยๆ ก่อขึ้นในช่วงชีวิตนักกิจกรรมนักศึกษาต่อนักกิจกรรมทางการเมืองและข้อจำกัดของขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม
ช่วงปลายปี 2548 การเกิดขึ้นของ “ขบวนการสนธิ” และก่อตัวเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” สิ่งที่สั่งสมฟูมฟัก ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหน้าของนักอุดมคติ ผู้เสียสละและ “นักปฏิวัติ” ได้เผยตัวออกมา ด้วยแรงผลักดันของกระแสสูงทางการเมืองจากภายนอกและความขัดแย้งแตกต่างภายในที่หาฉันทามติร่วมกันไม่ได้ ย้ำ นี่ไม่ใช่ความแตกต่างในการประเมินสถานการณ์แต่เป็นความคิดที่อยู่เบื้องหลังของการทำงาน การไปสู่อุดมคติ และการจัดความสัมพันธ์กับคนอื่น
พูดอย่างตรงไปตรงมา หาก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” การโค่นล้มทักษิณ การสนับสนุนรัฐประหาร และอะไรก็ตามที่ฉุดลากการเมืองไทยให้ถอยหลังมาไกลถึงวันนี้ เป็นด้านมืดหรือความเลวร้ายของ “การเมืองภาคประชาชน” นี่ไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรือการละทิ้งหลักการของพวกเขา แต่เป็นการเผยตัวของบางสิ่งที่ซุ่มซ่อนมายาวนานแล้วปะทะกับสถานการณ์ใหม่ที่ท้าทายต่อหลักการสวยหรูที่ฉาบเคลือบไว้ นำมาสู่คำถามหลักว่า คนเหล่านี้กลายเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยอ้างหรือยึดถือเป็นอุดมคติได้อย่างไร
จากพันธมิตรฯ สู่ กปปส.
รัฐบาลทักษิณไม่ได้เป็นรัฐบาลในอุดมคติและไม่จำเป็นต้องปกป้อง แต่การโค่นล้มเอาชนะในทุกวิถีทางแล้วฉุดลากประชาธิปไตยลงสู่หุบเหวก็เลวร้ายยิ่งกว่า ในรอบ 12 ปีมานี้ที่มีกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการฉุดลากสังคมการเมืองเข้าสู่ “วงจรอุบาทว์ใหม่” : การชุมประท้วง-รัฐประหาร-เลือกตั้ง/รัฐบาลใหม่-ชุมนุมประท้วง-รัฐประหาร สองรอบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวี่แววว่าจะหาทางออกจากวงจรนี้ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้นหรือดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้
สถาบันการเมือง เรามีการปฏิรูปการเมืองใหม่ รอบสอง รอบสาม รอบสี่ มีรัฐธรรมนูญใหม่สะท้อนหลักอำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ประชาชนมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองและคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิบัติ เราอยู่กันอย่างสันติ เคารพความหลากหลาย ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ยุติการใช้กำลังบังคับและปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ยุติการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนจากความขัดแย้งทางการเมืองได้
อำนาจประชาชน องค์กรประชาชน นักพัฒนาเอกชน มีเสรีภาพในการรวมตัว รวมกลุ่ม ชุมนุมประท้วง กดดันต่อรองกับรัฐบาลและกลไกราชการได้มากขึ้น ปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านที่คั่งค้างมานานได้รับการแก้ไขเยียวยาลุล่วงสำเร็จไปด้วยดี
หากประเมินว่าทั้ง 3 ด้านดีขึ้น เป็นไปในทางบวก ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและอยากเห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่หากไม่แน่ใจหรือตรงกันข้ามและเลวร้ายมากขึ้น ไม่ว่าจะในหลักการที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
สิ่งเหล่านี้ เรา-ไม่เพียงภาคประชาชน แต่คือสังคมการเมืองไทย ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิ์มีส่วนอย่างเท่าเทียมกัน-แลกมากับสิ่งที่หวังจากการเข้าร่วมกับเครือข่ายสนธิโดยหวังผลเฉพาะหน้า เพียงเพื่อได้พูดขยายประเด็นปัญหาของตัวเองหรือ “ชาวบ้าน” ในการเคลื่อนไหวผ่านสื่อของสนธิ พร้อมกับหวังว่า “การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ...จะส่งผลให้ปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไข”
สำหรับนักพัฒนาเอกชนโดยทั่วไป ไม่มีใครถูกหลอกจากใคร พวกเขาเติบโต เป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ ไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองจนไม่เห็นความเป็นไปได้ข้างหน้าที่จะออกนอกลู่นอกทาง แต่เป็นเส้นทางที่เลือกด้วยเหตุผล คิดคำนวณ ชั่งน้ำหนัก มีการวางแผนสนับสนุน ภายใต้ท่วงทำนองที่ดูเขินอายในช่วงแรก แต่เคลื่อนไหวสอดรับภายใต้เป้าหมายเดียวกัน
สำหรับนักกิจกรรมทางการเมือง หากการเข้าร่วมเครือข่ายสนธิ คือการพยายามขยายฐานมวลชนให้กว้างขวางออกไปจากเดิมที่มีจำนวนจำกัดจำเขี่ย (ถูกวิจารณ์ว่า) หวังผลประโยชน์แค่เฉพาะหน้าและไม่ก้าวหน้า เพื่ออนาคตใหม่คือ การสร้างพรรคการเมืองภาคประชาชนและข้อเสนอทางการเมืองที่ “ก้าวหน้า” ถึงตอนนี้ภาคประชาชนที่ว่านั้นขยายกว้างขวางออกไปแค่ไหน พรรคการเมืองที่ “ก้าวหน้า” ไม่เพียงล้มพับไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม สังคมที่ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมรุ่งเรืองเฟื่องฟู กับโอกาสเกิดและเติบโตของพรรคการเมืองทางเลือกและการเสนอแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ ย่อมแปลผกผันกัน
ไม่มีบทเรียนสำหรับคนที่ไม่ตระหนักว่าการตัดสินของตนเองผิดพลาดและส่งผลต่อเนื่องถึงประชาธิปไตยไทยมาถึงวันนี้ และยังพัฒนาเหตุผลปกป้องอดีตของตนเองต่อไป
การหายไปของ “การเมืองภาคประชาชน” และบทเรียนสำหรับนักกิจกรรม
“การเมืองภาคประชาชน” ในฐานะความคิดและปฏิบัติการทางการเมือง เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตรุ่งเรืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบหนึ่ง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นความฝันความหวังของผู้คนมากมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่วันนี้ “การเมืองภาคประชาชน” กลับหายไปจากพื้นที่ทางการเมือง หรือไม่ได้มีความหมายสลักสำคัญอีกต่อไป
การหายไปของ “การเมืองภาคประชาชน” ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับการหายไปของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “ประชาชน” เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายปีมานี้ นำไปสู่การเกิดขึ้นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติขนาดใหญ่สองฝั่งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันคือ พันธมิตรประชาชาเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ฝั่งหนึ่ง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อีกฝั่งหนึ่ง แต่ด้วยข้อเรียกร้องต่อสู้ที่แตกต่างออกไป ขณะที่การเคลื่อนไหวแบบเดิมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวบ้าน-องค์กรประชาชนต่างๆ ทำได้ยากหรือแทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เลย ทั้งเพราะกลไกการสร้างอำนาจให้กับตนเองถูกพรากไปโดยเผด็จการทหาร แม้กระทั่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไร้เสถียรภาพและอายุสั้นเกินไป เสียงและปัญหาของพวกเขาถูกกลบด้วยการเมืองของความขัดแย้งในระดับชาติ
ไม่นับผลพวงอันเกิดจากการสวมบทเป็น “ตัวแทน” ของภาคประชาชนก่อนหน้านี้ และการมีบทบาทอย่างแข็งขันในขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยของนักกิจกรรมทางการเมืองที่นำไปสู่ความเสื่อมทรุดด้านความชอบธรรมต่อขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม ทำให้การเคลื่อนไหวในเวลาต่อมา ทั้งจากองค์กรที่อาจเคยมีส่วนในขบวนการ “โค่นทักษิณ” มากบ้างน้อยบ้างต่างกัน หรือไม่เคยเลย มักถูกจับจ้องมองอย่างเคลือบแคลงสงสัยจากสาธารณะถึงเจตนาหรือเป้าหมายที่แท้จริงของการเคลื่อนไหว
หากการตัดสินใจครานั้นต้องการยกชู “การเมืองภาคประชาชน” ให้สูงเด่นเป็นสง่า บัดนี้ก็ย่อยยับลงกับมือ ขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนทั่วไปซึ่งมีส่วนในเรื่องนี้น้อยมาก พลอยตกที่นั่งลำบากไปด้วย
นี่คือที่มาของการหายไปของ “การเมืองภาคประชาชน” ในพื้นที่ทางการเมือง
มีเหตุผลพอที่จะเชื่อและเข้าใจเรื่องนี้บนสมมุติฐานว่า นักกิจกรรมการเมืองเหล่านั้นมีอุดมคติ หวังดีต่อประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า แค่อุดมคติไม่เพียงพอต่อการก้าวไปข้างหน้าเช่นนั้น
การยึดมั่นถือมั่นในความดี/ความถูกต้องสูงสุดของตัวเองและพวกพ้องกลับทำให้ถอยห่างจากเป้าหมายออกไปทุกวัน
ความพยายามที่ขาดจินตนาการ ความรอบรู้ที่กว้างขวาง การเปิดรับโลกใหม่ ทำให้ขาดสายตาที่แหลมคมพอจะมองเห็นความเป็นไปได้อื่น และเรียบแคบลงเรื่อยๆ
การไม่มีหลักการอะไรคอยกำกับควบคุมทิศทาง หรือพร้อมอ่อนงอทุกครั้งเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า/เป้าหมายเฉพาะหน้า ทำให้กลายเป็นนักฉวยโอกาส
การขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ควบคุมตรวจสอบกันเองทั้งจากภายในและภายนอก “ขบวนการ” ปิดตัวอยู่เฉพาะ “พวกพ้อง” ของตัวเอง ทำให้ขาดการเหนี่ยวรั้งถ่วงดุลและออกนอกลู่นอกทาง
การคิดถึงพร่ำเพ้อแต่การปฏิวัติ ถือตนเป็นนักปฏิวัติ เป็นผู้นำ “ขบวนการ” ตลอดเวลา ประเมินตัวเองสูงเกินไป ไม่ตระหนักถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่ได้ลงแรงกับสิ่งที่คิดฝัน ไม่ได้นำพาไปสู่อะไรนอกจากตัวตนของตัวเอง
การไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ ทำให้ระหว่างเส้นทางเดินได้ค่อยๆ ทำลายมันลงไป เมื่อถึงจุดนั้น ทุกอย่างจึงกลายเป็นความว่างเปล่า มีไม่เป้าหมายหลงเหลืออยู่ที่ปลายทาง
ทั้งหมดนี้ ทำให้ภารกิจปฏิวัติของนักอุดมคติกลายเป็น “ปฏิวัติเข้าคลอง”
แสดงความคิดเห็น