Posted: 21 Sep 2018 06:49 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-09-21 20:49
15 กันยายน 2561 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการสัมมนาวิชาการ 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ วิทยากรประกอบด้วย รศ.สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปวงชน อุนจะนำ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเศวร, รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดร.ธิกานต์ ศรีนารา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.Katsuyuki Takahashi College of ASEAN Community Studies มหาวิทยาลัยนเรศวร
ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอของสรวิศ ชัยนาม (อ่านที่นี่) เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (อ่านที่นี่) ตามด้วยการนำเสนอขอองปวงชน อุนจะนำ
ในวิกฤตยังมีโอกาส บทเรียนทางประวัติศาสตร์
จากชีวิตของคาร์ล มาร์กซ์
ปวงชน อุนจะนำ
ปัจจุบันมีวิกฤตที่ปรากฏให้เห็นหลายประการซึ่งทำให้พวกเรารู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่หากเราศึกษาชีวประวัติของมาร์กซ์ เราจะพบว่ามาร์กซ์ก็ต้องเผชิญวิกฤตหลายอย่าง เขาไม่ได้หลีกหนีปัญหา พยายามเผชิญหน้ากับมันแล้วแก้วิกฤต เราสามารถเรียนรู้จากมาร์กซ์ได้ นำบทเรียนตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ในวิกฤตของเรา ทำวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้
ตอนแรกประหลาดใจนิดๆ เพราะงานประเภทนี้น่าจะจัดที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานครที่มีชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความรู้ เข้าถึงหนังสือภาษาอังกฤษได้ มาร์กซ์เป็นคนเยอรมันเชื้อสายยิว และเขียนงานส่วนใหญ่เป็นภาษาเยอรมัน การเข้าถึง text ของมาร์กซ์ถ้าไม่ใช่ภาษาเยอรมันก็เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ประหลาดใจที่จัดที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่พอคิดอีกทีหนึ่งก็รู้สึกว่า ไม่มีไหนแล้วที่จะเหมาะกับการจัดงานประเภทนี้เท่าที่นี่ เพราะดินแดนอีสานนี่แหละเป็นดินแดนที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากส่วนกลางโดยตลอด ถ้าสีแดงคือสัญลักษณ์ของมาร์กซ์ ไม่มีที่ไหนที่เหมาะจัดงานเท่าพื้นที่ที่รัฐไทยจัดว่าเป็นพื้นที่ “สีแดง” มาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ใจความสำคัญของการบรรยายคือ ปัจจุบันมีวิกฤตที่ปรากฏให้เห็นหลายประการซึ่งทำให้พวกเรารู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่หากเราศึกษาชีวประวัติของมาร์กซ์ เราจะพบว่ามาร์กซ์ก็ต้องเผชิญวิกฤตหลายอย่าง เขาไม่ได้หลีกหนีปัญหา พยายามเผชิญหน้ากับมันแล้วแก้วิกฤต เราสามารถเรียนรู้จากมาร์กซ์ได้ นำบทเรียนตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ในวิกฤตของเรา ทำวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้
หัวข้อในการบรรยายแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ 1.วิกฤตของพวกเรา 2.วิกฤตในยุคของมาร์กซ์ 3.การแก้วิกฤตของมาร์กซ์ 4.การแก้วิกฤตของเรา อย่างไรก็ตาม วิกฤตในที่นี้จะเน้นวิกฤตทางการเมืองและสังคมเป็นหลัก
เราเผชิญ 3 วิกฤตในโลกปัจจุบัน
1.วิกฤตที่เกิดจากการผงาดของฝ่ายขวาและกุมชัยชนะไว้ไม่ปล่อยมือ ทุนนิยมในปัจจุบันกลายเป็นทางเลือกเดียวของเราไปแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกหลังสงครามเย็น หรือหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต นอกจากนั้นในอดีตเราคิดว่ารัฐรับใช้นายทุน รับใช้ชนชั้นกระฎุมพี สหรัฐอเมริกาตอนนี้ประมุขของรัฐเป็นนายทุนเสียเอง ไม่ต้องพูดถึงรัฐอีกหลายแห่ง รัฐราชาธิปไตยหลายที่ประมุขของรัฐก็คือคนที่รวยที่สุด เช่น บรูไน ซาอุดิอาระเบีย ตอนนี้ทุนไปไกลขนาดนี้ นอกจากนี้นกระแสที่เกิดขึ้นคือ คนคนเดียวมีแนวโน้มจะปกครองประเทศเป็นเวลานาน เช่น ปูตินปกครองประเทศแบบลากยาวตั้งแต่ปี 1999 และสัญญาว่าจะลงจากตำแหน่งในปี 2024 ฯลฯ กระแสอนุรักษ์นิยมพุ่งสูงมากในปัจจุบัน อุดมการณ์ที่เคยถูกมองว่าล้าหลัง ชาตินิยม การเหยียดสตรี เหยียดเพศที่สาม เหยียดชาวมุสลิม ต่อต้านผู้อพยพ ฯลฯ กลับมาได้รับความนิยมใหม่ แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย แนวทางการแก้ปัญหาในรัฐสภา การเลือกตั้ง เสื่อมความนิยม กลายเป็นว่าระบอบรัฐสภานี่เองที่ผลักดันให้ผู้นำเผด็จการขึ้นสู่อำนาจได้ในหลายๆ ประเทศ
ถ้ามองในประเทศไทยก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน ปัจจุบันระบอบเผด็จการทหารกลับมาครองอำนาจแทนระบอบประชาธิปไตย แล้วครองอำนาจยาวนานเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสี่ทศวรรษ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ราชาชาตินิยม กษัตริย์นิยม จะมียุคไหนที่อุดมการณ์เหล่านี้กลับมาพุ่งสูงอีกเท่ายุคนี้
เรื่องชนชั้นหรือ class กลายเป็นเรื่องแสนเชยในปัจจุบัน... ปัญญาชนเกิดความสิ้นหวังแล้วก็เฉื่อยชาทางการเมือง... ประกอบกับเสาหลักของฝ่ายซ้ายในไทย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ใจ อึ๊งภากรณ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ประสบมรสุมชีวิตแตกต่างกันไป ...เราแทบไม่มีแรงบันดาลใจอะไรเหลือ
2. ขณะที่ฝ่ายซ้ายตกต่ำ กระจัดการกระจาย พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกล่มสลายหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ดีที่สุดตอนนี้คือเยอรมันมีพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย อังกฤษมีพรรคแรงงาน ที่ย้อนแย้งก็คือ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในอดีต จีน รัสเซีย เวียดนาม ลาว คิวบา อ้าแขนตอนรับนายทุนให้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ ไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์อีกแล้ว นอกจากนั้น ทฤษฎีมาร์กซิสม์ ทฤษฎีสังคมนิยม ทฤษฎีคอมมิวนิสต์ กลายเป็นแค่สิ่งที่เรียนในห้องเรียน และเป็นการเรียนต่อเนื่องในเชิงปรัชญาประวัติศาสตร์การเมือง เรียนมาร์กซ์เพื่อเอาไว้ต่อกับนักคิดสมัยใหม่ มันไร้น้ำยาอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้เป็นคู่มือในการปฏิวัติอีกต่อไป
ที่สำคัญ กลุ่มซ้ายเก่าปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มขวาใหม่ นักสู้นักปฏิวัติผันตัวเองไปสมาทานแนวคิดอนุรักษ์นิยม เผด็จการ ในประเทศไทยเราก็เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์หมดบทบาทโดยสิ้นเชิงในการเมืองมหภาค คนเขียนหนังสือมาร์กซิสม์บางคนชีวิตจริงไปสนับสนุนทหาร อดีตซ้ายที่เคยเข้าป่าปัจจุบันเป็นนายทุน บางคนเป็นนักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หากจะมีขบวนการไหนที่ใกล้เคียงกับขบวนการที่สู้เพื่อมวลชน เพื่อคนชั้นล่าง มันคือขบวนการ “เสื้อแดง” แต่เสื้อแดงถูกล้อมปราบ ถูกกดขี่ แกนนำหลายคนต้องลี้ภัยทางการเมือง ถูกจำคุก ต้องลงไปเคลื่อนไหวใต้ดิน
3.ความไร้น้ำยาและสิ้นหวังของชนชั้นที่เป็นปัญญาชน เรื่องชนชั้นหรือ class กลายเป็นเรื่องแสนเชยในปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องพูดถึงการเมืองเชิงอัตลักษณ์ เรื่องเพศ เรื่องผิว เรื่องศาสนา เรื่องชาติพันธุ์ เราถอยห่างออกจากมวลชนมากขึ้น เรื่องคนรวยคนจน เรื่องปากท้องที่ชาวบ้านเขาพูดกัน ปัญญาชนมีแนวโน้มที่จะไม่พูด ปัญญาชนเกิดความสิ้นหวังแล้วก็เฉื่อยชาทางการเมือง เกิดกระแสแนวคิดว่า ไม่มีอะไรจีรัง ทุกอย่างเป็นวาทกรรม ประเทศนี้ถือว่าเช่าเขาอยู่ แล้วก็ถอยห่างออกจากการเมืองบนท้องถนน แนวคิดหลังสมัยใหม่ ชุมชนนิยมภูมิปัญญาชาวบ้าน และลัทธิเคร่งคัมภีร์เน้น text มากโดยที่ไม่ได้มองว่าชาวบ้านเขาสนใจเรื่องอะไร กระแสเหล่านี้มากลบการศึกษาแนวมาร์กซิสม์ไปหมด ประกอบกับเสาหลักของฝ่ายซ้ายในไทย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ใจ อึ๊งภากรณ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ประสบมรสุมชีวิตแตกต่างกันไป เราแทบไม่มีแรงบันดาลใจอะไรเหลือ
นอกจากนี้ในไทย จะมียุคไหนอีกที่คนมีการศึกษาสูงขนาดนี้ คนจบปริญญาตรีล้นตลาด คนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์แทบจะเท่ากับนายพลเลย แต่ปรากฏว่าปัญญาชนวิพากษ์ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อยแค่ไหน แต่ไม่วิพากษ์สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า การกดขี่ ชนชั้น สถาบันทางการเมืองหลายสถาบัน
คนรุ่นใหม่อาจมองภาพไม่ออกว่าประวัติศาสตร์ยุโรปเกี่ยวอะไรกับเราในปัจจุบัน ลองเปรียบเทียบง่ายๆ แบบนี้ว่า มาร์กซ์เกิดและโตในยุค ร.2 เป็นหนุ่มเต็มตัวสนใจการเมือง เข้าเล่นการเมืองในสมัย ร.3 ตกต่ำอย่างถึงที่สุดในสมัย ร.4 แล้วกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง สนใจการเมืองอีกครั้งในสมัย ร.5 ดังนั้น แม่พลอยไม่ใช่คนเดียวที่อยู่ใน 4 แผ่นดิน มาร์กซ์ก็เป็นผู้ชายที่อยู่ครบ 4 แผ่นดินเหมือนกัน
ก่อนที่จะพาไปดูชีวิตมาร์กซ์ ขอแบ่งให้เข้าใจง่ายเป็น 4 ช่วง1.เด็กจนถึงวัยรุ่น (1-17 ปี) ซึ่งยังไม่ค่อยมีสีสัน 2.ช่วงวัยหนุ่ม (18-30 ปี) ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยจนถึงการปฏิวัติในปี 1848 ซึ่งสำคัญมากในประวัติศาสตร์ยุโรป ชนชั้นล่างลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบศักดินาแล้วปลดแอกตัวเองจากการถูกกดขี่ ช่วงนี้ได้รับความนิยมในการศึกษามากที่สุด 3.วัยผู้ใหญ่ (31-46 ปี) เป็นช่วงที่มาร์กซ์ตกต่ำที่สุดในชีวิต ลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน ถอยห่างจากการเมือง ท้อแท้และสิ้นหวัง ช่วงนี้จบลงที่การประชุมสากลที่ 1 ของสมาคมแรงงานซึ่งมาร์กซ์แอคทีฟในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง 4.วัยอาวุโส (46-65 ปี) สากลที่ 1 จนเสียชีวิต
ที่น่าสนใจไม่ใช่วัยหนุ่ม แต่คือวัยผู้ใหญ่ที่เขาตกต่ำที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนให้พวกเราไม่มากก็น้อย
เพื่อให้เห็นภาพ คนรุ่นใหม่อาจมองภาพไม่ออกว่าประวัติศาสตร์ยุโรปเกี่ยวอะไรกับเราในปัจจุบัน ลองเปรียบเทียบง่ายๆ แบบนี้ว่า มาร์กซ์เกิดและโตในยุค ร.2 เป็นหนุ่มเต็มตัวสนใจการเมือง เข้าเล่นการเมืองในสมัย ร.3 ตกต่ำอย่างถึงที่สุดในสมัย ร.4 แล้วกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง สนใจการเมืองอีกครั้งในสมัย ร.5 ดังนั้น แม่พลอยไม่ใช่คนเดียวที่อยู่ใน 4 แผ่นดิน มาร์กซ์ก็เป็นผู้ชายที่อยู่ครบ 4 แผ่นดินเหมือนกัน
มีเกร็ดความรู้อีกนิดว่ามาร์กซ์อยู่ร่วมสมัยกับคนสำคัญในศตวรรษที่ 19 อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ดาร์วิน, จอห์น สจ๊วต มิลล์, ชาร์ล ดิกเกนส์, อับราฮัม ลินคอล์น
ขอเกริ่นนำในช่วงวัยหนุ่มสักนิดว่า เป็นช่วงวัยที่คนสนใจศึกษามาก จนขนาดมีการทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ล่าสุดคือปี 2017 คือ The Young Karl Marx เป็นยุคที่สนุกที่สุด เพราะมาร์กซ์ได้รู้จักงานปรัชญาของเฮเกล แล้วชอบมากจนสมาทานแนวคิดแบบเฮเกล หรือ เฮเกลเลี่ยน (Hegelian) นอกจากนั้น มาร์กซ์ยังเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญา แต่ผันตัวเองไปทำงานหนังสือพิมพ์ แล้วโดนปราบปรามโดยรัฐปรัสเซียที่พยายามปิดหนังสือพิมพ์
ชีวิตส่วนตัวก็สนุก แต่งงานกับ Jenny von Westphalen ในภาพยนตร์เรื่องนี้ฉากที่สนุกคือฉากเลิฟซีนระหว่างเขากับภรรยา ในอดีตไม่เคยมีฉากทำนองนี้ในภาพยนตร์ คนเห็นมาร์กซ์เป็นพระเจ้า แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นว่ามาร์กซ์ก็ต้องสืบพันธุ์เหมือนกัน นอกจากนั้นช่วงวัยหนุ่มมาร์กซ์ยังได้เจอคนที่สำคัญมากคือ ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) ซึ่งกลายเป็นสหายที่ช่วยกันต่อสู้จนถึงตอนเสียชีวิต แล้วตอนช่วงวัยหนุ่มยังมีการเปลี่ยนอุดมการณ์ครั้งใหญ่ แตกหักกับเสรีนิยมกลายมาเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัวด้วย ที่สำคัญที่สุด ยุควัยหนุ่มมาร์กซ์เข้าร่วมการปฏิวัติในปี 1848 เข้าไปร่วมกับชนชั้นล่างล้มระบอบราชาธิปไตยแล้วเปลี่ยนให้เป็นระบอบสาธารณรัฐ
งานเขียนของมาร์กในวัยหนุ่มมีหลายชิ้นที่น่าสนใจ ยกมา 4 ชิ้นให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก คือ 1.On the Jewish Question เขาพยายามแตกหักฝ่ายเสรีนิยมที่เรียกร้องเพียงการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างชาวยิวกับชาวเยอรัน เราปลอดแอกมนุษย์แค่ในทางการเมืองไม่พอ ต้องปลดแอกในทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย 2.Economic and Philosophical Manuscripts of 1844 งานชิ้นนี้ถือเป็นงานชิ้นโบว์แดง พาไปดูความแปลกแยกของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมและเงินตราขึ้นมามีอำนาจนำเหนือมนุษย์ 3.German Ideology งานชิ้นนี้พาไปดูว่าเขาได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดแบบเฮเกลมากน้อยแค่ไหน เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่พูดถึงสังคมคอมมิวนิสต์ในฝันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว 4.The Communist Manifesto หรือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ชิ้นนี้เราอาจคุ้นเคยกันดี เป็นคู่มือการปฏิวัติของฝ่ายซ้ายทั่วโลก ถูกยกย่องว่าเป็นงานเขียนชิ้นที่ดีที่สุดของมนุษย์เคียงข้างกับคัมภีร์ไบเบิล หนังสือ The Republic ของเพลโต รวมถึงคำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา
ตอนเข้าร่วมการปฏิวัติ 1848 มาร์กซ์มีแนวโน้มที่จะประนีประนอมพอควร ตัวเขาเองคิดว่าการปฏิวัติต้องค่อยเป็นค่อยไปเป็นลำดับขั้น เริ่มด้วยการปฏิวัติกระฎุมพีก่อน แล้วค่อยตามด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ
มาร์กซ์ยังมองว่ากระฎุมพีคือความหวัง…
เมื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการปฏิวัติ มาร์กซ์กับเองเกลร่วมกันเขียนแถลงการณ์อันหนึ่งที่ลดดีกรีความรุนแรง แถลงการณ์พรคคอมมิวนิสต์มี 10 ประการในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นคอมมิวนิสต์ มาร์กซ์ลดให้เหลือแค่ 4 ประการเท่านั้น ไม่แตะกระฎุมพีมาก เน้นส่วนที่กระฎุมพีพอจะรับได้ เช่น เรื่องการศึกษา ธนาคารแห่งชาติ แต่ไม่แตะเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล
ที่น่าสนใจคือ ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ดูจะเป็นการปฏิวัติอย่างรุนแรงถอนรากถอนโคน แต่ถ้าไปดูชีวประวัติของมาร์กซ์ตอนเข้าร่วมการปฏิวัติ 1848 มาร์กซ์มีแนวโน้มที่จะประนีประนอมพอควร ตัวเขาเองคิดว่าการปฏิวัติต้องค่อยเป็นค่อยไปเป็นลำดับขั้น เริ่มด้วยการปฏิวัติกระฎุมพีก่อน แล้วค่อยตามด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ มาร์กซ์ยังมองว่ากระฎุมพีคือความหวัง เป็นชนชั้นที่มีความก้าวหน้า มีความรู้มีการศึกษา รักในสิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพต้องเป็นพันธมิตรกับกระฎุมพี ต้องร่วมกับเขาเพื่อล้มศักดินา ในช่วงนี้เขายังมองว่าการเมืองจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจจะยังไม่พร้อมแต่ถ้ากระแสการเมืองมาแล้วก็ร่วมปฏิวัติเลย กรรมาชีพในเยอรมันถือว่ามีน้อยมากในตอนนั้นเมื่อเทียบกับชาวนา กระฎุมพีมีอำนาจน้อยมากถ้าเทียบกับอำนาจทหารหรือกษัตริย์ แต่ตอนนั้นไม่สนแล้วกระแสปฏิวัติมาก็ลุยเลย
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์มองในมุมมองคนยุคหลังคิดว่ามันยิ่งใหญ่ แต่ตอน 1848 แทบจะไม่มีใครรู้จักเลย ในคำนำมาร์กซ์บอกว่าได้รับการแปลแล้ว 5 ภาษา แต่ในทางปฏิบัติจริงมีแค่ภาษาเดียวคือภาษาเยอรมัน ตอนที่มาร์กซ์เข้าไปในเยอรมันโดยเอาแถลงการณ์ที่ตีพิมพ์แล้ว 1,000 ชิ้นเข้าไป แต่เมื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการปฏิวัติ มาร์กซ์กับเองเกลร่วมกันเขียนแถลงการณ์อันหนึ่งที่ลดดีกรีความรุนแรง แถลงการณ์พรคคอมมิวนิสต์มี 10 ประการในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นคอมมิวนิสต์ มาร์กซ์ลดให้เหลือแค่ 4 ประการเท่านั้น จะไม่แตะกระฎุมพีมาก เน้นส่วนที่กระฎุมพีพอจะรับได้ เช่น เรื่องการศึกษา ธนาคารแห่งชาติ แต่ไม่แตะเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล
แล้วมาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่เป็นอย่างไร
นอกจากแพ้การปฏิวัติยังไม่พอ ชีวิตส่วนตัวของมาร์กซ์เองก็ตกต่ำไม่แพ้กัน ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในลอนดอน ไม่มีเงินเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว มาร์กซ์มีลูก 7 คนมีแค่ 3 คนที่มีชีวิตอยู่ถึงวัยผู้ใหญ่ ลูกสาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตมาร์กซ์ไม่มีเงินซื้อโลงศพแก่ลูกสาวต้องไปขอยืมเงินคนในละแวกบ้าน
เขาเจอวิกฤตทางการเมืองเยอะ ถ้าดูหนัง The Young Karl Marx ตอนจบนั้นยิ่งใหญ่มาก หลังแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เผยแพร่ออกไป การปฏิวัติลุกฮือเป็นไฟ ฝ่ายซ้ายดูเหมือนชนะแน่นอน ภาพยนตร์จบเช่นนั้น
แต่ความเป็นจริง หลังเหตุการณ์คลี่คลาย มันคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวากุมชัยชนะยึดครองอำนาจ กษัตริย์และขุนนางถอยร่นไปแป๊บหนึ่งสุดท้ายร่วมกับทหารและตำรวจล้อมปราบผู้ชุมนม ที่ผิดหวังที่สุดคือ กระฎุมพีชนชั้นกลางทั้งหลายหักหลังชนชั้นล่าง กลับยินยอมให้กับอำนาจเก่า ขณะที่ฝ่ายซ้ายก็กระจัดกระจาย ผู้ประท้วงถูกกวาดล้างอย่างรุนแรง มีการยุบสหพันธ์คอมมิวนิสต์ มีการยุติการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการแล้วแกนนำก็ถูกจับกุม มีการลี้ภัยทางการเมือง ฝ่ายคอมมิวนิสต์เองก็แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เคลื่อนไหวอย่างมากแค่ใต้ดิน มาร์กซ์ก็มีความสิ้นหวัง เป็นความสิ้นหวังของชนชั้นปัญญาชน คนที่มีความรู้มีการศึกษายังไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้ เราต้องสู้ต่อ แล้วก็เน้นเรื่องการปลุกระดมทางการเมืองเป็นหลัก โดยไม่ได้ดูมิติเศรษฐกิจสังคม มีการแตกคอกันเอง ไม่มีทฤษฎีอะไรเป็นเรื่องเป็นราวในการการนำมวลชน
นอกจากแพ้การปฏิวัติยังไม่พอ ชีวิตส่วนตัวของมาร์กซ์เองก็ตกต่ำไม่แพ้กัน ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในลอนดอน ไม่มีเงินเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว มาร์กซ์มีลูก 7 คนมีแค่ 3 คนที่มีชีวิตอยู่ถึงวัยผู้ใหญ่ ลูกสาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตมาร์กซ์ไม่มีเงินซื้อโลงศพแก่ลูกสาวต้องไปขอยืมเงินคนในละแวกบ้าน ที่สำคัญคือการตายของลูกชายที่มาร์กซ์รักนั่นคือ เอ็ดก้าร์ ทำให้มาร์กซ์รู้สึกเศร้าหมองในชีวิต ภรรยาของเขาก็แทบจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย ส่วนเองเกลก็ต้องประนีประนอมกับครอบครัวไปทำงานในโรงงานที่แมนเชสเตอร์ เป็นนายทุนเพื่อเลี้ยงตัวเองแล้วเจียดเงินบางส่วนมาเลี้ยงครอบครัวของมาร์กซ์ มาร์กซ์ยังโดนประณามและดูแคลนจากฝ่ายซ้ายด้วยกันเองเพราะแนวคิดที่ได้กล่าวไปในตอนแรก เขาถูกหาว่าเป็นพวกปฏิกิริยา เป็นพวกปฏิปักษ์การปฏิวัติ ต่อต้านชนชั้นแรงงาน เป็นนักวิชาการในหอคอยงาช้างที่ดันไปชื่นชมพวกกระฎุมพี ทำให้มาร์กซ์รู้สึกสิ้นหวัง มันแทบไม่ต่างจากยุคของพวกเรา
การแก้วิกฤตให้เป็นโอกาสของมาร์กซ์ มีอยู่ 3 ประการด้วยกัน
มาร์กซ์ยอมรับว่ากระฎุมพีในหลายๆ ที่ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ มีแนวโน้มจะเป็นชนชั้นอนุรักษ์นิยมและทรยศการปฏิวัติที่ตัวเองสมควรจะทำ
1.การแสวงหาบทเรียนจากการพ่ายแพ้และรู้จักวิพากษ์ตัวเอง คำถามที่หลอกหลอนมาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่ก็คือ ทำไมการปฏิวัติในปี 1848 ถึงล้มเหลว ทำไมฝ่ายขวาถึงมีพลัง ทำไมซากเดนของศักดินาถึงอยู่ในสังคมปัจจุบัน นอกจากนั้นมาร์กซ์ก็หันมาสนใจความหลากหลายของชนชั้นหรือพลังทางสังคมมากขึ้น แทนที่จะมีแค่ชนชั้นในนายทุนกับกระฎุมพี งานของมาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่เน้นความหลากหลาย ชาวนา กระฎุมพีน้อย กษัตริย์ ขุนนาง กองทัพ นอกจากนี้มาร์กซ์ยังยอมรับว่ากระฎุมพีในหลายๆ ที่ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ มีแนวโน้มจะเป็นชนชั้นอนุรักษ์นิยมและทรยศการปฏิวัติที่ตัวเองสมควรจะทำ อีกประเด็นหนึ่งคือ ฝ่ายซ้ายเองก็ก้าวข้ามอดีตไม่ได้ ฝ่ายซ้ายในปี 1848 ก็อยากจะปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณรัฐไม่ต่างจากฝรั่งเศส คิดว่าตัวเองเป็นพวกจาโกแบง โรฟ ปิแอร์ แต่ไม่ได้คิดให้ไปไกลกว่านั้น มันคือสังคมคอมมิวนิสต์ต่างหากที่ต้องไปให้ถึง นอกจากนี้ในหลายๆ ที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบอบศักดินาไปเป็นระบบทุนนิยมยังไม่สมบูรณ์ เขาครุ่นคิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
2.เขาเน้นย้ำให้ฝ่ายซ้ายอดทนอดกลั้น มีการวางแผนในระยะยาว มีการจัดตั้งและฝึกฝนมวลชนให้มากขึ้น มาร์กซ์บอกเลยว่าการต่อสู้ไม่ใช่เพียงปีสองปี บางทีการต่อสู้ การปลดแอกมวลชนใช้เวลาหลายทศวรรษ ต้องมีความอดทน มีวินัย นอกจากนั้นมาร์กซ์ยังเริ่มมองว่าการเมืองนำเศรษฐกิจไม่น่าจะใช่ เศรษฐกิจต่างหากที่สำคัญ วิกฤตเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นก่อน วิกฤตทางการเมืองถึงจะตามมา เขาจึงหันมาสนใจเศรษฐกิจมากขึ้นอีก แล้วก็การปฏิวัติกรรมาชีพต้องเป็นการปฏิวัติระดับโลกเท่านั้น ปฏิวัติในประเทศเดียวไม่ได้ แล้วต้องต่อเนื่อง ไม่หยุดกับที่ permanent revolution นั่นเอง
อีกประการสำคัญคือ แกนนำจะประสบความล้มเหลวตราบใดที่มวลชนไม่มีการจัดตั้งและฝึกฝน
3.การแก้วิกฤตของมาร์กซ์นั้นวางปืนแล้วไปถือปากกาแทน แทนที่จะเป็นท้องถนนเขากลับเข้าห้องสมุด เขาใช้ชีวิตหลายปีมากในการไปห้องสมุดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษ เช้าถึงเย็นทุกวัน มาร์กซ์สนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นพิเศษในยุคนี้ สนใจเรื่องทุน การผลิต เครื่องจักร ตลาด การบริโภค แล้วก็เทคโนโลยี ศึกษาจดหมายเหตุ ข่าวหนังสือพิมพ์ เอกสารรัฐบาล และการบันทึการเดินทางของคนยุโรปที่ไปในที่ต่างๆ ในยุคนี้จะเห็นมาร์กซ์วิเคราะห์การเมืองในระดับโลกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิล่าอาณานิคม ลัทธิชาตินิยม การเหยียดสีผิว การละเมิดชนกลุ่มน้อย
งานเขียนของมาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่มีอยู่หลายชิ้น ยกตัวอย่าง Class Struggle in France, The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte, Grundrisse, Preface to A Critique of Political Economy บทความหลายชิ้นใน The New York Daily Tribune และร่างข้อมูลที่เตรียมเขียน Capital หรือ ทุน เล่มที่ 1,2,3 ซึ่งเขาเขียนเสร็จก่อนเสียชีวิตแค่เล่ม 1 เท่านั้น
หลังผ่านวัยตกต่ำไปแล้วก็เข้าสู่ยุคอาวุโส เกิดการประชุมครั้งใหญ่คือ สากลที่ 1 แล้วมาร์กซ์กลับมาแอคทีฟมาก มีการตีพิมพ์ ทุนเล่ม 1 ทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับการเคารพจากฝ่ายซ้ายมาก จะปฏิวัติที่รัสเซีย แกนนำต้องมาปรึกษามาร์กซ์ ที่เยอรมันจะตั้งพรรคฝ่ายซ้ายก็มาปรึกษามาร์กซ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวัยอาวุโส มาร์กซ์สุขภาพทรุดโทรมมากและเสียชีวิตในที่สุด
สุดท้าย พวกเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวประวัติของมาร์กซ์
เราอาจทำอะไรมากไม่ได้ในยุคเผด็จการทหาร แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการค้นคว้าหาข้อมูล เข้าห้องสมุดได้ ศึกษาหาความรู้ได้ เรื่องที่สำคัญที่หลายคนละเลยคือ ทุนไทยเป็นอย่างไร การสะสมของทุนไทยเป็นอย่างไร มีสถาบันไหนบ้างที่เป็นพันธมิตรในการสะสมทุนในบ้านเรา มีอุดมการณ์ไหนบ้างที่ค้ำจุนให้ทุนไทยอยู่ได้แล้วความเหลื่อมล้ำยังอยู่ได้
1.เราจะต้องมีการทบทวน แสวงหาบทเรียนจากความพ่ายแพ้ อะไรทำให้ พคท.พ่ายแพ้ ตกลงเสื้อแดงแพ้หรือยัง ถ้าแพ้แพ้เพราะอะไร เรายังควรมีความหวังกับกระฎุมพีในเมืองให้ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่อีกหรือไม่ แล้วทำไมซากเดนศักดินาจึงยังอยู่ในสังคมไทยอีก
2.เราจะต้องมีความอดทน ต้องมีการฝึกฝนแล้วก็จัดตั้งมวลชน การต่อสู้ยังอีกยาวไกล เราแพ้ในวันนี้ไม่ได้แพ้ตลอดไป เราสู้เพื่อสักวันหนึ่งจะชนะ แต่จะสู้ไม่ได้เลยถ้าพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจะไม่มีให้ประชาชนเลือกอย่างเป็นจริงเป็นจัง ตอนนี้ที่มาแรงอาจเป็นพรรคอนาคตใหม่ นี่อาจเป็นชอยส์ที่ดีที่สุดตอนนี้ แต่เป็นชอยส์ที่ดีที่สุดหรือเปล่าในมุมมองของฝ่ายซ้าย
3.เราอาจทำอะไรมากไม่ได้ในยุคเผด็จการทหาร แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการค้นคว้าหาข้อมูล เข้าห้องสมุดได้ ศึกษาหาความรู้ได้ เรื่องที่สำคัญที่หลายคนละเลยคือ ทุนไทยเป็นอย่างไร การสะสมของทุนไทยเป็นอย่างไร มีสถาบันไหนบ้างที่เป็นพันธมิตรในการสะสมทุนในบ้านเรา มีอุดมการณ์ไหนบ้างที่ค้ำจุนให้ทุนไทยอยู่ได้แล้วความเหลื่อมล้ำยังอยู่ได้ จะเกิดตรงนี้ได้ต้องค้นคว้าอย่างจริงจัง ติดตามข่าวสารทั้งในและนอกประเทศ
ขอปิดท้ายด้วยข้อมูลของมาร์กซ์ที่จะทำให้เราไม่เครียดจนเกิดไปและเป็นการแฮปปี้เบิร์ธเดย์มาร์กซ์ด้วย มาร์กซ์เคยร่วมเกมบนโต๊ะอาหาร มีคำถามสั้นๆ และให้มาร์กซ์ตอบสั้นๆ
คุณธรรมประจำใจของคุณคืออะไร
ความเรียบง่าย
ลักษณะเด่นของคุณคืออะไร
การยึดมั่นในเจตจำนงของตัวเอง
คติพจน์ของคุณคืออะไร
จงกล้าตั้งคำถามกับทุกๆ สิ่ง
อะไรคือความสุขของคุณ
การต่อสู้
ความชั่วร้ายที่คุณรู้สึกรังเกียจที่สุด
การยอมจำนนให้กับอำนาจ ไม่ต่างจากทาส
สีที่คุณชอบที่สุดคือสีอะไร
สีแดง
แสดงความคิดเห็น