Posted: 22 Sep 2018 09:08 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-22 23:08


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

อดีตสันติกโรภิกขุ หรือ Robert David Larson ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) พูดถึงความเป็นไปในวงการพุทธศาสนาของไทยได้บางตอนเด็ดๆ อย่างเช่น “เพราะไปให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์เกินไป โดยที่คนมาบวชส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ด้วย ผม (สันติกโร) มั่นใจว่า พระ(ไทย) 95% ถ้าแต่งงานได้ก็ไม่ปฏิเสธ” นี่เขาพูดไว้อย่างนี้ ถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงมากในห้วงเวลานั้น แค่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และผมก็คิดว่าประเด็นดังกล่าว มันยังคงร้อนแรงมาแม้จนกระทั่งถึงตอนนี้ ด้วยเหตุที่สถานการณ์ทางด้านพระศาสนาอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในไทยและนอกประเทศ

โดยเฉพาะเมื่อกระแสความสนใจในหมู่ชาวตะวันตก อย่างชาวอเมริกันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทุกวันนี้ ตามร้านหนังสือในอเมริกา มีหนังสือแนวพุทธออกมาวางจำหน่ายมากมาย ศาสตร์ตะวันออกแขนงพุทธ กำลังได้รับความสนใจ จากคนอเมริกันหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นพุทธสายมหายานและสายตันตระยาน ซึ่งสายหลังนี้ คนอเมริกันได้รับอิทธิพลจากองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางการเมืองของทิเบตที่เดินทางมายังอเมริกา ค่อนข้างบ่อย

ดาไลลามะ เข้าพบนักการเมืองและบุคคลสำคัญของอเมริกันหลายครั้งหลายครา ถึงกระทั่งมีสถาบันทางวิชาการศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาโรปะเกิดขึ้นเพื่อสอนให้ความรู้เกี่ยวกับนิกายพุทธตันตระมานานหลายปี

สะท้อนถึงการเปิดเสรีทางการศึกษา เชิงวิชาการที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ ตราบเท่าที่ผู้ที่ต้องการเปิด ดำเนินกิจการสถาบันการศึกษา ก็สามารถจัดตั้งสถาบันการศึกษา ตามกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวบทกฎหมายการจัดตั้งสถาบันการศึกษาได้

กรณีของสถาบันการศึกษาสายทิเบตอย่าง “นาโรปะ” นั้น นับว่าควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างของเถรวาทนิกายในแง่ของการให้การศึกษากับผู้ ที่สนใจด้านการศาสนาและทิเบตศึกษา โดยที่สายเถรวาทของเรา (ซึ่งมีหลายประเทศเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา เช่น ไทย ศรีลังกา พม่า ลาว เขมร) ยังไม่จัดการงานเผยแผ่พระศาสนาในเชิงลึก หากมุ่งเอาวิธีการแบบฉาบฉวยด้วยการแข่งกันสร้างวัด สร้างวัตถุธรรม แต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนพระสงฆ์ที่อยู่ประจำ จะมีคุณภาพกันเพียงใด ย่อมไม่เป็นที่สนใจของชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเท่าใดนัก หากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม กลุ่มใคร กลุ่มมัน เอาแบบแผนวิธีคิดเสรีแบบไทยๆ สีข้างเข้าถู ขณะที่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยเอง กลับก้าวไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่มีการขนพระ ขนคน ขนทายก ขนทายิกา อ้างว่า มาดูงานที่อเมริกาทุกปี

ผมเองไม่ทราบขอบเขตการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พ.ศ. ว่ามีมากน้อยเพียงใด ต่องานเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างแดน อย่างน้อย พ.ศ.เอง น่าจะศึกษาความเปลี่ยนแปลงว่าด้วยบริบททางศาสนาของคนอเมริกันเอาไว้บ้าง เพราะเวลานี้พุทธศาสนาค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมาก คือมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากคนอเมริกัน มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

แทนที่จะมุ่งเน้นงานเผยแผ่ด้วยการสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานเพียงอย่างเดียว แต่หันมาสร้างสถาบัน เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของสังคมอเมริกันน่าจะจะดีกว่าหรือไม่?

ความสนใจของอเมริกันต่อศาสนาพุทธนั้น จาการสังเกต พวกเขาต้องการแก้ปัญหา (บำบัด) ชีวิตของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ หมายถึงปัญหาทางด้านจิตใจของพวกเขา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องทางด้านวัตถุได้ด้วยการประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และกำลังเป็นไปอยู่นี้ ก็เป็นเหตุให้คนอเมริกันกันหาทางออกให้กับชีวิตมากขึ้นเช่นกัน น่าเสียดายที่เราไม่มีกลไกบริหารจัดการด้านพุทธศาสนาในต่างแดนที่มีประสิทธิภาพพอ หากแต่มุ่งไปในทางการสร้างวัตถุมากกว่า

เพราะแม้กระทั่งการสนับสนุนการศึกษา หรือการสร้างสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาสก็ยังละเลยโอกาสนี้ เช่นเดียวกันกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างระบบเศรษฐกิจอาเซียน( ASEAN) ที่เราเองต่อจิ๊กซอว์ ในเรื่องของศาสนาไม่ได้ ว่าควรจะเดินหน้าไปอย่างไร หากแต่กลับปล่อยให้ต่างคนต่างทำกันไป เหมือนๆ ที่ผ่านมา

อย่างที่บอกความสนใจทางด้านศาสนาของคนอเมริกันส่วนหนึ่งมาจากความเดือดร้อน ทางจิตและพวกเขาพยายามหาทางออกจากทางตัน ความสนใจนี้จึงมีผลต่อการจัดการหรือวางสถานภาพของตัวเอง(น่าจะส่วนใหญ่) ในฐานของการเป็นคนธรรมดา หรือเป็นฆราวาส หาใช่ในสถานะของนักบวชไม่

นี่คือ ความเป็นไปหรือกระแส ซึ่งแม้แต่ในเมืองไทยก็กลับมีกระแสที่ว่านี้นี้ด้วยซ้ำ คนหันมาสนใจทางพุทธศาสนากันมากขึ้น ขณะที่จำนวนนักบวช โดยเฉพาะจำนวนพระสงฆ์ลดลงเรื่อยๆ (ในเมืองไทยมีปัญหาเรื่องสถานภาพของนักบวชหญิง ทั้งภิกษุณีและแม่ชี ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่จนถึงเวลานี้ โดยหากนักบวชหญิงเหล่านี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อเรียกร้องรับรองสถานภาพทางด้านข้อกฎหมาย เชื่อว่า นักบวชหญิงในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขดีเลิศเพียงใดก็ตาม จำนวนนักบวชชายไทยก็มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าใจหาย)

ในเรื่องหน่วยงานด้านบริการในด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาของสถาบันสงฆ์นั้น พ.ศ.น่าจะลองทำการสำรวจ วิจัยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดูว่า เหตุใดการเผยแผ่พระศาสนาในต่างแดนจึงได้ผลน้อย ยกเว้นในกรณีที่คนต่างแดนสนใจ พระพุทธศาสนาอยู่แล้ว พร้อมกับศึกษาว่า ควรแก้ที่จุดไหน อย่างไร เพื่อให้การจัดวางสถานภาพนักบวชประเภทต่างๆ โดยเฉพาะพระภิกษุ เหมาะสมกับความเป็นไปในยุคร่วมสมัย โดยที่ปฏิเสธ ไม่ได้ว่ากฎหมายคณะสงฆ์เองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการชำระเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบัน

ความใส่ใจในศาสนธรรมเชิงพุทธ จึงหมายถึง ความสามารถในการศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยใช้ชีวิตตามปกติวิสัย ทำงานตามปกติ ใช้ชีวิตประจำวันหรือครองเรือน ตามปกติ ปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเชิงการเกื้อกูลต่อตนเองและสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่

ซึ่งหากจะศึกษากันให้ดี ในเวลานี้ในอเมริกา มีชุมชนพุทธอเมริกันอยู่จำนวนไม่น้อย และมีผู้สนใจใฝ่รู้พระพุทธธรรมจำนวนมาก ปัญหาคือ เราในฐานะประเทศต้นแบบพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่งจะต้องทำอย่างไร เพื่อสอดใส่พุทธธรรมให้กับคนเหล่านี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งในส่วนบุคคลและในระดับสถาบัน องค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เรื่องนี้ อาจอยู่เหนือบริบททางการทูตในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในแง่งานกงสุล ย่อมจะต้องคาบเกี่ยวกับงานด้านพระศาสนาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากบุคคลที่เป็นกงสุลเหล่านี้ ไม่คร่ำเคร่งแต่เรื่อง เอาอกเอาใจ บรรดา “ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง” ทั้งหลาย ที่ทยอยมาลิ้มลองท่องเที่ยวอเมริกากันจนหัวกระไดสำนักงานกงสุลไม่แห้ง หรืออาจถึงขั้นหัวกระไดลื่นเอาด้วยซ้ำ

เราทุ่มเถียงกันมากพอแล้ว ในเรื่องการส่งพระธรรมทูตมาอเมริกาแล้วหาย สิกขาลาเพศไปจำนวนมาก หลังจากได้ใบเขียว หน่วยงานคณะสงฆ์และ พ.ศ.น่าจะต้องใคร่ครวญให้ดีๆ ถึงการแก้ไขปัญหาข้อนี้

ไม่ใช่พลังบางอย่างที่เก็บกดไว้อย่างเดียวตามที่อดีตพระสันติกโรว่าไว้ หากแต่ยังมีสาเหตุอย่างอื่นหรือไม่ที่ทำให้การเผยแผ่สัทธรรมในอเมริกาเป็นไปแบบ เชื่องช้า ไม่ทันการณ์ ออกนอกเส้นทาง คลำไม่เจอเป้าเสียทีจนถึงทุกวันนี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.