พ.อ.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ รองผู้อำนวยการ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
Posted: 12 Sep 2018 10:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-13 00:47
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา รายงาน
อายจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. นำเสนอบทความวิชาการเรื่องแนวทางการสร้างทหารอาชีพ ยกโมเดล West Point เป็นตัวอย่าง ชี้ ‘ทหารอาชีพ’ สร้างได้ด้วยการปรับหลักสูตร เน้นสอนมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นวิชาแกน ทำให้ทหารใหม่คิดเองเป็น เพื่อวางรากฐานให้ระบอบประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการจัดเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 โดยภายในงานได้มีการนำเสนอบทความวิจัยของ พ.อ.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ รองผู้อำนวยการ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชื่อบทความว่า “ปรัชญา” และ “หัวใจ” ของการผลิต “ทหารอาชีพ” ตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยตะวันตก และข้อคิดสำหรับกรณีของไทย ซึ่งเป็นงานที่พัฒนาจาก งานวิจัยเรื่อง “การออกแบบระบบการศึกษาทางทหารของไทยใหม่ เพื่อการผลิตทหารอาชีพและการปฏิรูปกองทัพ” (Redesigning the Thai Military Education System to Produce Professional Military Officers and Support Military Reform) ภายใต้โครงการวิจัยสถาบันการเมือง: ออกแบบประเทศใหม่ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับการอนุมัติจากกองทัพบก ปี 2558-2559
“เพราะอะไรประชาธิปไตยของไทยจึงล้มเหลว” คือโจทย์ที่ พ.อ.สรศักดิ์ คิดกับมันอย่างจริงจังมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะมารับราชการทหารเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลเจ้าเกล้าเมื่อปี 2535 สาเหตุแห่งความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยที่ พ.อ.สรศักดิ์ ได้ยินมาบ่อยครั้งคือ เป็นเพราะทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แต่เขาเห็นว่าคำตอบนี้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น ยังมีอีก 2 เสาที่คนยังไม่ให้น้ำหนักมากเท่าที่ควรนั่นคือ นักการเมือง และประชาชน ที่พยายามเรียกร้อง และเปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ
เขาบอกว่ารัฐประหารในปี 2490 ถือเป็นโมเดลต้นแบบของ รัฐประหารที่คลาสสิคที่สุดสำหรับประเทศไทย และกลายเป็นแบบแผนของการรัฐประหารในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการรัฐประหารที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากทหารเพียงฝ่ายเดียว นักการเมือง และประชาชนต่างก็มีส่วนร่วม
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาเข้าไปเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแล้ว โจทย์ใหม่สำหรับเขาคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ทหารอาชีพ’ ตามแบบประเทศในโลกตะวันตกทำนั้น เขาทำกันอย่างไร โจทย์นี้คือที่มาของบทความที่เขาได้นำเสนอ เขาเห็นด้วยว่าหากยังไม่สามารถสร้างทหารอาชีพขึ้นมาได้ เรื่องประชาธิปไตยก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงสำหรับประเทศไทย
‘ทหารอาชีพ’ คือทหารที่ยอมรับความเป็นใหญ่ของประชาชน และทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
รองผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เล่าว่า หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยของประเทศโลกที่สามส่วนมากจะนำต้นแบบหลักสูตรมาจาก West Point(The United States Military Academy - สถาบันเตรียมทหารในสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1802) แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ ขณะเดียวกันสังคมไทยในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมือง หลายคนต่างก็เรียกร้องให้ทหารเป็น ‘ทหารอาชีพ’ แต่กลับพบว่างานวิจัย หรืองานวิชาการ ที่สำรวจกระบวนการสร้างทหารอาชีพ หากนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ถือว่ามีงานที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก
“เราพูดถึงเรื่อง ทหารอาชีพ กันมาก เพราะเห็นว่ามันเป็นของสำเร็จรูป เราจะได้ทหารที่ไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง เราจะได้ทหารที่ไม่ทำรัฐประหาร แล้วเราก็ยกหน้าที่นี้ให้กับโรงเรียนนายร้อยทหารบกไปจัดการ แต่นักวิชาการ หรือคนที่พูดเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจจริงๆ เลยว่าโรงเรียนนายร้อย จปร. เขาเรียนกันยังไง เขาฝึกกันอย่างไร” พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว
เขากล่าวต่อว่า เขาได้เดินทางไปยังโรงเรียนเตรียมทหาร หรือโรงเรียนนายร้อยในประเทศตะวันตกหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศในฝั่งทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี และสเปน รวมทั้งประเทศในทวีปเอเซียที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทหารอาชีพอย่าง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นได้จากโรงเรียนายร้อยแทบทุกแห่งคือ วิธีคิดที่ชัดเจนของเหล่าทหารอาชีพว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยมีการสอนเรื่องเหล่านี้กันในหลักสูตรอย่างจริงจัง เขายกตัวอย่างวิธีคิดของทหารเยอรมันนีว่า หากเกิดภาวะสงครามแล้วผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตทั้งหมด คนที่ทหารพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคือ รัฐบาลที่มีความชอบธรรมจากประชาชน เพราะผู้บังคับบัญชาของพวกเขาก็ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วนี่คือการสอนที่ทำให้ทหารยอมรับในความเป็นใหญ่ของประชาชน หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เราจะสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ ตามแบบโลกตะวันตกได้อย่างไร
พ.อ.สรศักดิ์ เล่าต่อว่า เขาได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยในหลายประเทศ พบว่าห้องเรียนแต่ละห้องจะจำกัดจำนวนผู้เรียนไว้ไม่เกิน 18 คน เพื่อที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงการบรรยายโดยผู้สอนเท่านั้น แต่ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องเตรียมตัวก่อนการเรียนเช่นการอ่านหนังสือ ค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันห้องเรียน และการจำกัดจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 18 คน ก็มีส่วนในการสร้างบรรยากาศในการเรียนทำให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
“การผลิตทหารอาชีพของตะวันตกมีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมให้นักเรียนนายร้อย เติบโตขึ้นเป็นทั้งทหารและพลเมืองที่มีคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกัน เนื่องจากระบบและกระบวนการผลิตมีเป้าหมายและทำได้จริง คือการฝึกอบรมให้นักเรียนนายร้อยมีความเป็นผู้ใหญ่ มีวินัย มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมด้วยความรู้ทางทหารและวิชาการอย่างสมดุล เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตน และเข้าใจสังคมและโลกกว้าง ยอมรับความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับสิ่งอื่น หรือคนอื่นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ตลอดเวลา อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยวิชาความรู้ในหมวดมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแกนกลาง” ตอนหนึ่งในบทความ “ปรัชญา” และ “หัวใจ” ของการผลิต “ทหารอาชีพ” ตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยตะวันตก และข้อคิดสำหรับกรณีของไทย
พ.อ.สรศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อย จปร. ในปัจจุบันคือหลักสูตร พ.ศ. 2558 แบ่งออกเป็นวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 5 สาขา วิทยาศาสตรบัณฑิต 2 สาขา และศิลปศาสตรบัณฑิต 1 สาขาเท่านั้น ซึ่งหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตนี้ในแต่ละปีจะมีนักเรียนนายร้อยเลือกเรียนเพียงร้อยละ 10 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดปีละประมาณ 200-230 คน ขณะที่ West Point ของสหรัฐอเมริกามีถึง 37 สาขา ส่วน KMA (Korea Military Academy – สถาบันเตรียมทหารเกาหลีใต้) มีถึง 30 สาขา ซึ่งเปิดกว้างให้กับให้กับสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และยังให้ความสำคัญกับให้ความรู้ในหมวดมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแกนกลาง ของการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยด้วย
พ.อ.สรศักดิ์ กล่าวต่อว่า หัวใจของหลักสูตรในโรงเรียนนายร้อยในโลกตะวันตกมีจุดร่วมกันที่การให้ความสำคัญกับวิชาด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ แต่อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ที่ Universitat der Bundeswehr Hamburg (โรงเรียนนายร้อยในประเทศเยอรมันนี) ซึ่งจะให้ผู้เรียนเรียนหลักสูตรนายร้อยให้จบในระยะเวลาประมาณ 1 ปี และหลังจากนั้นจะต้องสอบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยพลเรือน ใช้ชีวิตกับนักศึกษาทั่วไป เพื่อที่จะทำให้นายร้อยของเขาเข้าใจสังคมภายนอก หรือที่ VMI (Virginia Military Institute) จะมีระบบคัดออกโดยปีหนึ่งจะมีการรับสมัครทั้งหมดราวๆ 400 คน แต่เมื่ออยู่มาถึงปี 4 จะมีคนที่ผ่านมาถึงขั้นจบการศึกษาเพียง 200 คน ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจะได้คนที่มีคุณภาพมากทั้งในแง่ของร่างกาย ความรู้ทางการทหาร และความรู้ในทางวิชาการ
“ผมได้ข้อสรุปว่า การสร้างทหารอาชีพของเขา คือการสร้างทหารวิชาการ หรือทหารปัญญาชน คือบู๊ กับบุ๊น มันอยู่ในคนคนเดียวกันได้ ความเป็นนักรบของเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น แต่เขาก็มีความเป็นบัณฑิตอยู่ในคนคนเดียวกัน นี่คือความแตกต่างจากของประเทศเรา เราได้เรื่องบู๊ เรียกได้ว่าเข้มข้นที่สุด แต่เรื่องวิชาการเราไม่ได้เลย เรื่องที่สองคือ ทำไมทหารของยุโรป หรือของสหรัฐอเมริกาเขาถึงไปกันได้กับผู้คนในสังคมเขา หรือไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย เขาเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็จริง แต่เขามีวิชาแกนประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของหลักสูตร ที่ประกอบไปด้วยวิชาทางด้านมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ทุกคนจะต้องเรียนแบบนี้หมด และนักเรียนนายร้อยของ West Point ปี 4 ทุกคนจะต้องเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และเขาเข้าถึงเนื้อในของวิชา เขาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต่างมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก” พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว
ทำอย่างไรให้ว่าที่นายร้อยไทยมีนายเป็นประชาชน
พ.อ.สรศักดิ์ เล่าว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยของไทย หากต้องการจะปรับให้เป็นเหมือนโลกตะวันตก จะต้องรื้อกันทั้งหลักสูตร เพราะโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตอนนี้มีอายุ 135 ปี สิ่งที่มีการปลูกฝั่งกันมาจากรุ่นสู่รุ่นคือนักเรียนนายร้อยทุกคนจะต้องเน้นไปทางสายวิศวกรรมศาสตร์ และตลอดเวลาที่ผ่านไม่มีวิชาแกนด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์บรรจุอยู่ในหลักสูตรเท่าที่ควรจะเป็น มีเพียงวิชาไทยศึกษาที่บังคับนักเรียนปี 2 เรียนทั้งหมด และวิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่บังคับปี 5 เรียนทุกคน นอกจากนี้มีเพียงวิชาเลือกเสรีอีก 2 วิชาเท่านั้น
“มีปีหนึ่ง ผมสอนปี 2 วิชาไทยศึกษา ผมรับผิดชอบสอนเรื่องการเมืองการปกครองไทย นักเรียนนายร้อยปี 2 มาถามผมว่า อาจารย์ครับ พรรคการเมืองมีหน้าที่อะไร เขาอยู่ปี 2 เขามาเจอกับผมแค่ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเขาก็ไปเรียนวิศวะโยธา เขาก็ไปเรียนวิชาหลักของเขาหมด แล้วถามว่าคนที่จะจบไปแบบนี้เขาจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยไหม เทียบกับ West Point เขามีถึง 37 สาขา มีทั้งนายร้อยที่เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ของเรา 90 เปอร์เซ็นต์เรียนวิศวะทั้งหมด ลูกชายผมเองก็เรียนวิศวะ ถามเรื่องการเมืองสังคมอะไรเขาไม่ค่อยรู้เรียนหรอก แต่เขาเป็นช่างที่เก่งมาก” พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว
พ.อ.สรศักดิ์ มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกสำหรับประเทศไทยเพื่อที่จะสร้างทหารอาชีพตามแบบโลกตะวันตก อย่างแรกคือการนำต้นแบบจาก West Point มาทำให้เข้มข้น มีวิชาบังคับด้านมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเปิดให้มีหลักสูตรที่หลากหลาย หากไม่สามารถทำแบบนี้ได้เขาเห็นว่า สิ่งที่จะได้จริงๆ คือการทำตามต้นแบบอย่างประเทศเยอรมันนีคือ ให้มีการเรียนหลักสูตรนายร้อยเพียง 1 ปี แล้วให้นักเรียนนายร้อยสอบเข้าไปในมหาวิทยาพลเรือนเพื่อเรียนให้จบปริญญาตรี หรืออีกทางหนึ่งคือการอนุมัติให้มีการตั้ง โรงเรียนนายร้อยของเอกชนขึ้นมาเพื่อที่จะเกิดการแข่งกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอน
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเปิดให้โรงเรียนนายร้อยมีการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งในมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าการเรียนเรื่องเหล่านี้คือการวิพากษ์องค์กร หรือสถาบันทหารไปในตัว พ.อ.สรศักดิ์ ตอบว่า เท่าที่สังเกตจากประสบการณ์ในห้องเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาบรรยายให้นักเรียนนายร้อยฟัง เวลานั้นก็มีบรรยากาศของการถกเถียงกันอย่างจริงจัง หรือตอนที่ได้เข้าไปเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยช่วงแรกๆ ก็ได้เชิญ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ไปบรรยายเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนอย่างวรเจตน์ ภาคีรัตน์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และปวิณ ชัชวาลพงพัน ก็เคยมาบรรยายที่นี่ การที่เราเชิญอาจารย์ข้างนอกเหล่านี้เข้ามา เพราะเราต้องการให้นักเรียนายร้อยรู้ว่า มุมมองของคนข้างนอกโรงเรียนเขาคิดอย่างไร เขามองอย่างไร และเท่าที่ผ่านมามันก็ไม่เกิดปัญหา เพียงแต่ก่อนหน้านี้มันเป็นเพียงห้องเรียนเล็กๆ เท่านั้น
เมื่อถามต่อไปว่า ถ้ายกตัวอย่างสถาบันอย่างสิงห์ดำ สิงแดง โดยหลักสูตรการเรียนการสอนเองก็มีเน้นให้นักศึกษาคิดเองเป็น มีการถอดรื้อ มีการวิพากษ์ มีการถกเถียงในห้องเรียน แต่ก็ยังมีระบบนอกห้องเรียนอีกแบบหนึ่ง ยังคงมีการยึดถือในระบบรุ่น ซึ่งโรงเรียนนายร้อยก็คงมีความเข้มข้นในเรื่องนี้เช่นกัน เราจะทำอะไรอย่างกับเรื่องแบบนี้ พ.อ.สรศักดิ์ ตอบว่า เวลาเราฝึก เราสอนคน เราก็ต้องสอนเขาเต็มที่ แต่เมื่อเขาเขาไปในกองทัพ มันก็เหมือนกับการที่เราส่งสิงห์แดง สิงห์ดำเข้าไปในมหาดไทย มันก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไขกันอีกจุด แต่เราคิดว่าถ้าเราสามารถพัฒนาทหารที่เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพได้ แล้วทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะทดแทน มันก็จะเข้าไปปรับระบบภายในเอง โดยเฉพาะการจะปรับวัฒนธรรมกองทัพ เราไม่สามารถทำได้จากภายนอก เราต้องใช้คนภายในทำ ค่อยปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันอาจจะนาน 10 – 20 ปี กว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเริ่มอัดฉีดทหารอาชีพเข้าไปในกองทัพตั้งแต่วันนี้
“อาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมได้เรียนด้วยที่สหรัฐอเมริกา ท่านเคยบอกว่า การที่เราจะรู้ว่าทหารเขาคิดอะไร อย่างแรกเราต้องดูระบบการเรียนการสอนที่โรงเรียนนายร้อย สองซึ่งเมืองไทยยังขาดในแง่ของงานวิจัยคือ วัฒธรรมของกองทัพตั้งแต่คนคนหนึ่งจบร้อยตรีเข้าไปในกองทัพจนเป็นนายพลเขาเห็นอะไรบ้าง เราจะได้รู้ว่าปัญหาภายในกองทัพคืออะไร” พ.อ.สรศักดิ์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น