Posted: 22 Sep 2018 09:38 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-22 23:38


อิทธิเดช พระเพ็ชร

“อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2504 จึงให้กรมตำรวจจัดการประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์สืบไป ให้กรมตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งนี้ โดยเร็วที่สุด สั่ง ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2504 จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี”

คำสั่ง ให้ประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ ด้วยมาตรา 17 ถูกอ่านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพลตำรวจโทนายหนึ่ง ณ บริเวณสนามหลังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสถานที่ประหารชีวิต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ณ เวลาประมาณเที่ยงตรง

นายครอง จันดาวงศ์ หรือครูครอง นับเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ความสนใจในฐานะวีรบุรุษประชาธิปไตยที่ต้องสิ้นชีวิตลงด้วยคำสั่งมาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีงานศึกษาเส้นทางชีวิต บทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของนายครองในฐานะนักการเมืองและนักต่อสู้ทั้งในเชิงหนังสือและบทความต่างๆ และยังมีภาพประวัติศาสตร์สำคัญของนายครองก็คือ ภาพการเดินเข้าสู่ลานประหารอย่างไม่เกรงกลัวพร้อมด้วยท่าทางยกมือเหมือนพูดอะไรบางอย่าง แต่ทว่ารูปถ่ายย่อมไม่มีเสียง คำพูดของนายครองจึงมีอยู่เพียงในเครื่องหมายคำพูดหรือเครื่องหมายอัญประกาศจากหลักฐานชิ้นต่างๆ ที่เล่าเรื่องราว

แต่ทว่าเมื่อสำรวจหลักฐานที่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนนายครองจะถูกประหาร หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า “ยิงเป้า” น่าสนใจว่า คำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศกลับมีความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงสนใจศึกษาหลักฐานที่ปรากฏการบันทึก เล่าเรื่อง หรือใส่คำพูดของนายครอง ที่ปรากฏในระหว่างช่องว่างของเครื่องหมายอัญประกาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประวัติศาสตร์คำพูดของนายครอง จันดาวงศ์ ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผู้เขียนเลือกแบ่งหลักฐานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ หนึ่งหลักฐานร่วมสมัยจากหนังสือพิมพ์ และสองหลักฐานจากหนังสือและบทความซึ่งถูกเขียนขึ้นภายหลัง เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างของคำพูดจากหลักฐานทั้งสองแบบ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์หลังนายครองถูกจับ และถูกส่งตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ

ประวัติศาสตร์คำพูดในหลักฐานร่วมสมัยจากหนังสือพิมพ์

ในหนังสือพิมพ์สารเสรีรายงานข่าวว่าเมื่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คน (ประกอบไปด้วย นายครอง จันดาวงศ์, นายวิทิต จันดาวงศ์, นายทองพันธ์ สุทธิมาศ, นายภักดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และนายบุญมา พงษ์บู่) ได้ถูกส่งตัวมาถึงสนามบินดอนเมือง เจ้าหน้าที่ให้ยืนเรียงหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพจับภาพ ผู้แทนหนังสือพิมพ์สารเสรี (หนังสือพิมพ์ที่จอมพลสฤษดิ์เป็นเจ้าของทุน) ได้ถือโอกาสสัมภาษณ์นายครอง โดยสอบถามว่า มีความรู้สึกอย่างไรต่อการที่ถูกจับกุมในข้อหาขบถ และถูกนำตัวมาที่กรุงเทพฯ คราวนี้คิดว่าเพราะปัญหาเรื่องมาตรา 17 หรือไม่ และหากคิดมีความรู้สึกอย่างไร

ในช่วงแรก เมื่อหนังสือพิมพ์สารเสรีเล่าคำพูดของนายครองนั้นไม่มีการใส่เครื่องหมายอัญประกาศ หากแต่เขียนเล่าคำพูดของนายครองต่ออีกที โดยเล่าว่า

นายครองอัดบุหรี่อย่างแรงแล้วตอบผู้แทน ‘สารเสรี’ ว่าไม่รู้สึกหวาดวิตกอะไร ที่ต้องถูกจับกุม เพราะตนไม่ได้ทำผิด สำหรับเรื่องมาตรา 17 ก็เหมือนกัน แม้จะหมายถึงการถูกยิงเป้าแต่ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัวเลยผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้ถามนายครองว่า ถ้าได้พบท่านนายกรัฐมนตรีจะพูดหรือขอร้องอะไรท่านบ้าง นายครองตอบว่าไม่คิดจะพูดอะไรกับท่านเกี่ยวกับการถูกจับกุม เพราะตนยังคิดว่าไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ามีโอกาสพบเมื่อไหร่ก็อยากจะเรียนถามท่านนายกฯ ว่าเมื่อไหร่จะมีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรสักที นายครองกล่าวต่อไปว่าตนเคยเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านย่อมทำอะไรที่อาจทำให้คนอื่นเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลบ้าง การถูกจับกุมคราวนี้จึงรู้สึกเฉยๆ เพราะเคยชินต่อเรื่องนี้เสียแล้ว

อย่างไรก็ดี ต่อมานายครองได้เข้าพบรองอธิบดีกรมตำรวจ หนังสือพิมพ์สารเสรีก็ได้ถามนายครองอีกครั้งว่าได้พูดอะไรกับท่านรองอธิบดี ถึงตรงนี้เริ่มปรากฏการใส่เครื่องหมายคำพูดนายครองมากขึ้น กล่าวคือ

นายครองตอบว่า ไม่พอใจที่รัฐบาลไม่ปล่อยอิสรภาพและเสรีภาพให้แก่ราษฎรโดยไม่ยอมมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร คนข่าวของเราได้ถามเพียงแค่นี้หรือจึงเป็นเหตุให้คุณคิดแบ่งแยกแผ่นดินตามที่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหา นายครองตักข้าวยัดใส่ปากด้วยมือสั่นเทา และตอบว่า “ผมไม่รู้เรื่อง” และย้อนว่า “ใครเป็นผู้แบ่งแยก ผมไม่ได้แบ่ง” คนข่าวของเราถามว่า ในการถูกจับครั้งนี้ หากมีการยิงเป้าคุณโดยใช้มาตรา 17 คุณคิดว่ายังไง รู้สึกอย่างไร นายครองหยุดยิ่งสักครู่แล้วตอบว่า “ยิงก็ยิง ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะผมไม่มีอะไรจะยิงกันก็เอา”[1]

นอกจากหนังสือพิมพ์สารเสรีแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ที่รายงานเหตุการณ์นี้ โดยเขียนคำพูดของนายครองว่า “ผมอยากจะเรียนถามท่านนายกฯ ว่า เมื่อไหร่ท่านจะให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศและมีสภา”[2] ในขณะที่หนังสือพิมพ์ชาวไทยเขียนคำพูดของนายครองว่า “ผมนึกดีใจตั้งแต่ทราบข่าวแล้วครับ ผมอยากพบท่าน และจะได้มีโอกาสกราบเรียนความจริงต่างๆ ให้ท่านทราบทั้งหมด และผมจะบอกท่านด้วยว่า ขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเร็วๆ”[3]

การดำเนินการสอบสวนดำเนินการมาจนถึงปลายเดือน จนท้ายที่สุดบทสรุปของเหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ รายงานว่า “นายกตัดสินใจใช้ ม.17” ซึ่งก็นำมาสู่การประหารชีวิตนายครองและนายทองพันธ์ ถึงตรงนี้หนังสือพิมสยามนิกร รายงานย้อนหลังเล็กน้อยว่า เมื่อมีการให้นำตัวนายครองและนายทองพันธ์ส่งกลับตัวไปยังจังหวัดสกลนคร นายครองได้ฝืนยิ้มหันไปร่ำลากับผู้ต้องหาที่ขังร่วมในห้องขังว่า “ขอลาทุกๆ คนไปก่อน”[4]

หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับต่างรายงานการประหารชีวิตหรือยิงเป้านายครองกับนายสุทธิพันธ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพสารเสรีและไทรายวัน ที่นักข่าวได้เข้าไปเก็บภาพสถานการณ์ถึงในลานประหาร สารเสรีฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ได้พาดหัวข่าวว่าถึงนายครองว่า “ ‘ครอง’ ไม่สะทกสท้านขอเข้าส้วมก่อนเอาไปยิงเป้า” และเมื่ออ่านข้อความที่มีคำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศทั้งหมดพบเพียง 2 แห่ง ที่แรกคือเนื้อความของหัวรองข่าว (sub headline) ที่ว่า “เดินเข้าสู่ที่ประหารอย่างทรนง”

เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฏว่าเดินไปอย่างทรนงไม่หวาดหวั่นแต่อย่างไร โดยเฉพาะนายครองนั้นยังยิ้มอยู่ และเมื่อช่างภาพของเรายกกล้องขึ้นมาถ่ายนั้นร้องบอกว่า “อย่าถ่ายให้มากนักซี”

และคำพูดที่สองในหัวรองข่าวว่า “ครองเร่งให้ยิงเป้าเร็วๆ”

ก่อนจะถึงเวลา 12.13 น. ตามคำสั่งนั้น พล.ต.ประเสริฐ อยู่ประเสริฐ นายแพทย์กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 ได้ไปจับชีพจรทั้งสองคนดู ปรากฏว่านายทองพันธ์อ่อนลงไปเล็กน้อย ส่วนนายครองนั้นยังปกติ “ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ” เขากล่าวอย่างโอหัง[5]

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ไทรายวัน (ซึ่งก็เป็นหนังสิอพิมพ์ในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์สารเสรี) ได้ลงรูปนายครองขณะเดินเข้าสู่ลานประหารโดยมีโซ่กุญแจมือคล้องไว้ที่มือด้านซ้าย ขณะที่มือด้านขวายกขึ้นเหนือศรีษะประหนึ่งเหมือนเป็นท่าทีบอกอะไรบางอย่าง โดยภายใต้รูปดังกล่าวหนังสือพิมพ์ไทรายวันเขียนว่า

(ขวา) นายครองโบกมือบอกกับนักข่าวของเราขณะที่เจ้าหน้าที่นำเอาทั้งสองคนไปสู่ที่ประหารว่า “อย่าถ่ายให้มากนัก”[6]

สำหรับหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยขณะนั้น สองเป็นคำพูดของนายครองที่ว่า “อย่าถ่ายให้มากนัก” กับ “ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ” น่าจะเป็นสองคำพูดสุดท้ายของนายครองที่ปรากฏในเครื่องหมายอัญประกาศ

ประวัติศาสตร์คำพูดในหลักฐานหนังสือและบทความ

อุดมการณ์และการต่อสู้ทางการเมืองของนายครองเป็นที่สนใจของงานศึกษาประวัตศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะการให้ภาพของนักต่อสู้ทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่ามีงานศึกษาหรืองานที่กล่าวถึงชีวิตและการต่อสู้ของนายครองอย่างน้อย 2 ชิ้น ที่กลายเป็นแม่แบบความเข้าใจต่อบทบาทของนายครองทั่วไป โดยเฉพาะการฉายภาพหรือกล่าวถึงเหตุการณ์การประหารชีวิต หลักฐานชิ้นที่หนึ่งคือ หนังสือชื่อ “ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร?” ของ คมสรรค์ มาตุคาม ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2521 หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายเหตุการณ์ตอนประหารชีวิตนายครองได้อย่างค่อนข้างตรงตามหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย อย่างไรก็ดีมีบทพูดของนายครองที่ปรากฏในเครื่องหมายอัญประกาศประโยคหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา คือหลังจากนายครองกล่าวต่อนักหนังสือพิมพ์ที่บันทึกภาพว่า “อย่าถ่ายมากนักซี” งานของคมสรรค์ เล่าต่อว่า

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำผู้ต้องประหารทั้งสองคนเข้าสู่หลักประหาร ทั้งคู่ฝืนยิ้มออกมาก่อนที่จะถูกมัดตรึงเข้ากับไม้กางเขน เมื่อเจ้าหน้าที่เอาผ้าผูกปาก ตา หู นายครองร้องขึ้นว่า “อย่าให้ปิดจมูก ให้หายใจได้บ้าง” ส่วนนายทองพันธ์คงสงบนิ่งอยู่ มิได้พูดอะไร[7]

หลักฐานจากหนังสือชิ้นที่สองคือ “ครูครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้” ตามข้อมูลหนังสือกล่าวว่า พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ในงานฌาปนกิจศพ นายครอง จันดาวงศ์ และนายทองพันธ์ สุทธิมาศ ในหนังสือเล่มนี้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ประหารชีวิตนายครองโดยตรงอยู่ 2 บทความ บทความแรกชื่อ “ 34 ปีแห่งการถูกประหาร” เขียนโดย เปลว สัจจาภา บทความนี้ ปรากฏคำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศ หลายแห่ง เช่น ตอนที่นายครองกับนายทองพันธ์ ลาผู้ที่ถูกคุมขังด้วยกันก่อนถูกส่งไปที่จังหวัดสกลนครว่า

ท่านทั้งสองจึงตะโกนลาเพื่อนๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ห้องข้างเคียงเป็นภาษาอีส่านว่า “ขอลาไปตายก่อนเด้อ พิน้องเอ้ย ผู้ได๋ยังอยู่ก็ขอให้สู้ต่อไป เผด็จการนี่มันไปบ่ได้ท่อได๋ดอก ประชาชนจะต้องชนะในที่สุดอย่างแน่นอน”

บทความนี้ ยังมีเนื้อหากล่าวถึงการพบเจอกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับนายครองและนายทองพันธ์ ก่อนถูกนำส่งตัวไปประหารด้วย หนึ่งในบทสนทนาของบทความนี้เขียนว่า

ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ได้ฟังดังนั้น แทนที่จะสำนึกผิดกลับมีอาการโกรธจัด จึงพูดเป็นเชิงข่มขู่ว่า “พวกมึงรู้หรือเปล่า กูมี ม.17 ซึ่งพร้อมที่จะประหารพวกมีงได้ทุกเวลา?”

“ทราบครับ” คุณครองตอบอย่างสุภาพ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “แต่อย่าคิดว่าผมกลัว ม.17 ของท่านนะ ท่านอาจสั่งประหารผมและผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้อย่างตามใจชอบ แต่ท่านไม่อาจประหารผู้รักชาติทั้งหมดทั่วประเทศได้ เมื่อคนหนึ่งล้มลง ก็จะต้องมีบุคคลอื่นๆ ลุกขึ้นมาสืบทอดแทนเป็นหมื่นเป็นแสน ท่านฆ่าพวกเขาไม่หมดหรอก ในที่สุดประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายชนะพวกอธรรม พวกเผด็จการจะต้องพินาศ ผมขอภาวนาว่าเมื่อวันนั้นมาถึงขอให้ท่านยังอยู่และอย่าได้หนีทัน...”

และเมื่อเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนประหาร ก็ปรากฏข้อความคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศว่า

ก่อนนำเข้าสู้หลักประหาร พนักงานเตรียมการประหารได้ส่งคนมาวัดชีพจรและการเต้นของหัวใจของบุคคลทั้งสอง ปรากฏว่ามีอาการปกติ บุคคลทั้งสองได้เดินเข้าสู้หลักประหารด้วยอาการที่ไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย เมื่อพนักงานเตรียมการประหารมัดบุคคลทั้งสองเข้ากับหลักประหารพร้อมกับใช้ผ้ามัดตาเป็นที่เรียบร้อย บุคคลทั้งสองได้เปล่งคำขวัญขึ้นพร้อมกันราวกับเป็นการนัดหมายว่า “เผด็จการจงพินาศ! ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ”[8]

บทความที่ 2 ในหนังสือเล่มนี้ที่ปรากฏคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศคือบทความ “พัฒนาการทางความคิดและชีวิตการเมือง” โดยผู้ขียนนาม เกียรติ ก้องไพร ซึ่งเป็นคำพูดเดียวกับบทความของเปลว สัจจาภา ดังที่เขียนว่า ขณะที่ถูกนำเข้าหลักประหาร บุคคลทั้งสองไม่มีอาการสะทกสะท้านแม้แต่น้อย และได้เปล่งคำขวัญขึ้นพร้อมกันว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ”[9]

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกบทความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เขียนโดย ไขแสง สุกใส หากแต่ไขแสงอ้างว่ามีผู้มาเล่าให้เขาฟังอีกทีหนึ่ง ว่าก่อนที่จะครูครองจะถูกประหารนั้น คนที่เล่าให้ฟังเขาเล่าว่า “กูไม่ผิด กูไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ กูเป็นชาวพุทธ กูสักคาถาและรูปพระพุทธองค์ไว้ทั้งตัวเพราะกูเป็นชาวพุทธ ไอ้คนโกงชาติโกงบ้านเมืองโกงประชาชนและสั่งฆ่ากูวันนี้ มันจะต้องฉิบหาย ต้องรับกรรมที่ทำกับกูและคนไทยอื่นๆ ขอให้มันฉิบหาย ฉิบหายทั้งโคตร ฟ้าดินเป็นพยานกูด้วย”[10]

ประวัติศาสตร์คำพูดในเครื่องหมาย “อัญประกาศ” ของครอง จันดาวงศ์

จากหลักฐานสองแบบที่ผู้เขียนกล่าวมา มิได้ต้องการสรุปหาความจริงของคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศ เพราะหลักฐานแต่ละแบบก็ล้วนมีเงื่อนไขของตนเองในการนำเสนอความจริง หากแต่ต้องการแสดงให้เห็นอีกมิติของความหลากหลาย การเปลี่ยนแปลง และความขาดหายไปของคำพูดในอัญประกาศจากการต่อสู้ทางการเมืองของครอง จันดาวงศ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วนายครองน่าจะพูดอีกหลายถ้อยคำก่อนการถูกประหาร แต่คำพูดเหล่านั้นยังไม่ถูกบรรจุลงในช่องว่างของเครื่องหมายอัญประกาศ ขณะที่อีกทางหนึ่ง บางคำพูดที่เคยถูกบรรจุอยู่ในช่วงว่างเครื่องหมายอัญประกาศก็ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก ขณะที่บางคำพูดในช่องว่างอัญประกาศก็ได้กลายเป็นคำขวัญที่ถูกฉายภาพซ้ำจนกลายภาพแทนของการต่อสู้ทางการเมืองของนายครองอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดี ควรบันทึกส่งท้ายว่า ในหลักฐานหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยได้ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่การจับกุม สอบสวนและน่าจะรวมถึงพิธีการประหารนายครองกับนายทองพันธ์ กรมตำรวจได้มีการบันทึกภาพวิดีโอไว้ด้วย กระนั้น ผู้เขียนก็ไม่เห็นและไม่ทราบว่ามีอยู่จริงๆ หรือไม่ แต่ก็หมายความว่า หากมีอยู่จริงและถูกค้นพบในวันหนึ่งข้างหน้า ในแง่การศึกษาการต่อสู้ของนายครองก็จะมีหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องหมายอัญประกาศอีกต่อไป และถึงวันนั้นบทความนี้ก็กลายเป็นอดีตที่ไร้เสียง เป็นแค่เพียงประวัติศาสตร์คำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศของนายครอง จันดาวงศ์ เท่านั้น.


หมายเหตุ: บทความนี้เกิดขึ้นจากการตั้งข้อสังเกต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนะนำเอกสารต่างๆ โดยคุณปรัชญากรณ์ ลครพล ผู้เขียนขอขอบพระคุณปรัชญากรณ์ ลครพล (พี่แอ๊ด) เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดและตื้นเขินทางสติปัญญาในบทความนี้ทั้งหมดย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว.


เชิงอรรถ


[1] หนังสือพิมพ์สารเสรี วันที่ 17 พฤษภาคม 2504


[2] หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย 17 พฤษภาคม 2504


[3] หนังสือพิมพ์ ชาวไทย 18 พฤษภาคม 2504


[4] หนังสือพิมพ์ สยามนิกร 1 มิถุนายน 2504


[5] หนังสือพิมพ์ สารเสรี 1 มิถุนายน 2504


[6] หนัวงสือพิมพ์ ไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504


8] เปลว สัจจาภา และคนอื่นๆ, ครอง จันดาวงศ์: ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539), 12-15


[9] เพิ่งอ้าง, 62-63


[10] เพิ่งอ้าง, 118.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.