Posted: 24 Sep 2018 05:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-24 19:00


นิธิ เอียวศรีวงศ์

แม้ว่าประเทศตะวันตกมีกองทัพประจำการมานาน แต่กองทัพประจำการของโลกตะวันตกมีขนาดเล็กกว่าภารกิจที่ต้องทำในยามสงครามอย่างมาก เหตุดังนั้นก่อนเกิดสงครามหรือในยามที่ทำสงครามอยู่ จึงต้องระดมพลเสริมเข้ามาอีกจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่ทหารกองหนุนเท่านั้น แม้ผู้ชายที่ไม่เคยเป็นทหารเลย ก็ต้องถูกระดมเข้ามารับการฝึกอย่างรวดเร็ว และรวบรัด เพี่อส่งออกแนวหน้า

กองทัพสหรัฐมีกำลังพลที่ประจำการอยู่เกือบหรือเกินล้าน (ใน 2018 มีประจำการอยู่หนึ่งล้านสองแสนกว่าคน) แต่เพื่อทำสงครามเวียดนาม แม้เป็นสงครามที่ไม่ประกาศ ก็ต้องใช้กำลังพลถึง 5 แสนในช่วงสูงสุดของการศึก และสหรัฐต้องระดมกำลังคนหนุ่มทั่วประเทศมาเสริม เพราะกองทัพสหรัฐมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติแม้ในยามสงบ จนเกินกว่าจะถอนกำลังมาใช้ในเวียดนามได้ครบ

สหรัฐเป็นมหาอำนาจ และกำหนดบทบาทให้ตนเองต้องเข้าไปกำกับควบคุมการเมืองทั้งโลก จึงต้องรักษาทหารประจำการไว้จำนวนมาก แม้กระนั้นทหารประจำการสหรัฐก็มีเพียง 0.392% ของประชากรอเมริกัน

ก่อนที่สหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองโลก กองทัพประจำการของสหรัฐยิ่งมีขนาดเล็กลงไปกว่านี้อีก สงครามกับอินเดียนแดงเพื่อขยายที่ทำกินออกมาทางตะวันตกทั้งหมด ในช่วงแรกใช้กองกำลังที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ ในช่วงหลังแม้ว่าใช้ทหารประจำการเป็นแกนกลาง แต่ก็ต้องระดม “อาสาสมัคร” ซึ่งที่จริงคือทหารรับจ้างที่ไม่ได้ “รับจ้าง” อย่างออกหน้า แต่เข้าร่วมรบเพื่อหารายได้เป็นหลัก

จนสงครามกลางเมือง, สงครามกับสเปน หรือแม้แต่ใช้กำลังปราบปรามความไม่สงบภายในก็ยังคงทำอย่างเดียวกัน คือมีทหารประจำการเป็นแกน และระดม (ส่วนใหญ่คืออาสาสมัคร-รับจ้าง) กำลังพลเรือนเข้าเป็นทหารชั่วคราว หากวิเคราะห์กำลังทหารสหรัฐที่ทำสงครามเวียดนาม ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือมีทหารประจำการเป็นแกนกลาง แล้วระดมคนหนุ่มเข้ามาเป็นทหารระดับล่างๆ ทั้งหมด ทั้งในส่วนที่เป็นช่างเทคนิคและกำลังรบ

ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์สงครามของยุโรปก็เป็นอย่างเดียวกัน คือรักษากำลังทหารประจำการจำนวนน้อยเอาไว้ แล้วระดมกำลังขนานใหญ่เมื่อเกิดสงคราม (หรือกำลังจะเกิดสงคราม) คนที่เรียนประวัติศาสตร์ยุโรปคงจำได้ว่า จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 การที่มหาอำนาจใดเรียกระดมพล ก็เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านทันที เพราะเพื่อความไม่ประมาท เพื่อนบ้านก็มักระดมพลเพื่อตอบโต้ทันทีเหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะกองทัพประจำการขนาดใหญ่นั้นไม่จำเป็น นอกจากจะทำสงคราม

และในการระดมพลเพื่อการสงครามนั้น แม้แต่เรียกกองกำลังสำรองหรือทหารกองหนุนเข้าประจำการก็ยังไม่พอ ต้องเรียกเกณฑ์หรือรับ “อาสาสมัคร-รับจ้าง” เพิ่มเข้ามาอีกมาก

แม้ในเมืองไทยเองก็เคยปฏิบัติมาอย่างเดียวกัน สงครามกับฝรั่งเศสและการเข้าตีเชียงตุงในระหว่างสงครามโลก ใช้กำลังพลส่วนใหญ่จาก “อาสาสมัคร-รับจ้าง” ทั้งสิ้น โดยมีกองทัพประจำการเป็นแกนกลางในการนำ เมื่อเสร็จศึกจึงต้องปลดประจำการทหารออกไปจำนวนมาก

แต่การปลดประจำการหรือ demobilization นี้มีปัญหาในตัวเองอยู่สองอย่าง จู่ๆ ก็ปลดคนหนุ่มที่มีประสบการณ์การรบออกไปจำนวนมาก จำเป็นต้องมีงานรองรับคนเหล่านี้ มิฉะนั้นก็จะมีคนตกงานและความเดือดร้อนของคนหนุ่มกลุ่มก้อนใหญ่ ที่เคยชินกับการจัดองค์กรเสียด้วย จึงอาจเกิดความปั่นป่วนทางสังคมและการเมืองขึ้นได้ และอย่างที่สองก็คือ ทหารในกองทัพประจำการ โดยเฉพาะตัวนายๆ รู้สึกว้าเหว่จากอำนาจที่เคยมีระหว่างสงคราม เพราะกำลังพลในบังคับบัญชาหายไปเกือบหมด จะต่อรองอะไรกับคนกลุ่มอื่น ก็ไม่มีพลังต่อรองสักเท่าไร

แน่นอนประเทศไทยสมัยก่อน ซึ่งยังผูกกำลังแรงงานเกือบทั้งหมดไว้กับการเกษตร ย่อมดูดซับทหารปลดประจำการได้ไม่ยาก จึงไม่มีปัญหาอย่างที่หนึ่งมากนัก เหลือแต่ปัญหาอย่างที่สอง

เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ กองทัพประจำการของประเทศต่างๆ มักมีสัดส่วนของเปอร์เซ็นต์น้อย (เมื่อเทียบกับประชากร) ยกเว้นแต่ในประเทศมีภารกิจทางทหารที่ยังต้องปฏิบัติอยู่ เช่น สหรัฐ แม้กระนั้นทหารประจำการของสหรัฐก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรที่น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก (ของไทยคือ 0.49 หรือเกือบ 0.5 ของประชากร ขณะที่สหรัฐมีเพียง 0.39 หรือเกือบ 0.4 เท่านั้น) ทั้งนี้ เพราะทหารประจำการนั้นหากมองในทางเศรษฐกิจแล้ว สิ้นเปลืองอย่างมาก เพราะทหารประจำการไม่ได้ “ผลิต” อะไรในทางเศรษฐกิจเลย การมีทหารประจำการจำนวนมาก จึงเท่ากับบั่นรอนกำลังทางเศรษฐกิจของประเทศลง

ยิ่งในประเทศที่การเกิดลดลงอย่างมากเช่นประเทศไทย และกำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุ การมีทหารในกองทัพประจำการมาก ก็ยิ่งบั่นรอนกำลังทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีก เพราะแย่งชิงเอากำลังแรงงานที่ขาดแคลนจากตลาดไปโดยไม่ได้ “ผลิต” อะไรเลย

น่าสังเกตว่า หากไม่นับสิงคโปร์และพม่าแล้ว ไทยมีทหารประจำการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรมากที่สุด สิงคโปร์มีทหารประจำการถึง 1.2% ของประชากร แต่สิงคโปร์อาจเป็นข้อยกเว้นเพราะมีประชากรน้อยคือเพียง 5.8 ล้านเท่านั้น ดังนั้น กองทัพที่เล็กที่สุดในอาเซียนคือมีทหารประจำการเพียง 72,000 คน ก็ต้องใช้ประชากรไปถึง 1.2% เข้าไปแล้ว

ส่วนพม่านั้น จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมาก เพื่อรักษาสถานะทางการเมืองของกองทัพไว้ ทั้งจากการแข็งข้อของประชาชนชาวพม่า และชนส่วนน้อย ฉะนั้นทหารประจำการพม่าจึงมีถึง 0.73% ของประชากร หรือกว่าสี่แสนคน เวียดนามซึ่งมีประชากรกว่า 96 ล้านคน มีทหารในกองทัพประจำการมากกว่าไทยไม่ถึงแสนคน แต่มีกำลังสำรองหรือทหารกองหนุนกว่า 5 ล้านคน ทั้งนี้ เพราะเวียดนามรู้สึกว่าประเทศที่อาจใช้กำลังทหารรุกรานตนได้ในอนาคตคือจีน จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีกำลังทหารทั้งประจำการและสำรองจำนวนมากเช่นนั้น อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรกว่า 260 ล้านคน แต่มีกำลังในกองทัพประจำการมากกว่าไทยประมาณ 1 แสนคน คิดเป็นเพียง 0.16% ของประชากรเท่านั้น

ฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชากรกว่า 104 ล้านคน มีทหารในกองทัพประจำการน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง หรือ 0.16% ของประชากรเท่าอินโดนีเซีย

ประเทศไทยปราศจากภัยคุกคามจากภายนอกมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนการคุกคามภายในก็สิ้นสุดลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยล่มสลายในต้นทศวรรษ 2520 ถึงไทยอาจมีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้านบ้าง ก็ไม่มีข้อพิพาทกับใครที่ใหญ่ถึงกับคุ้มที่จะทำสงครามเพื่อให้ได้มาตามความต้องการ

เหตุใดไทยจึงยังรักษากำลังพลในกองทัพไว้มากถึงเพียงนั้น สัดส่วนทหารประจำการของไทยที่ 4.9% ของประชากรนั้น มากกว่ามาเลเซีย, เวียดนาม, รวมทั้งมากกว่าสหรัฐและจีนด้วย ยิ่งกว่านั้นไทยยังเกณฑ์ทหารมากกว่า 1 แสนคนทุกปี

คำตอบมาเห็นได้ชัดในการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้ เพื่อรักษาอำนาจที่ได้มาโดยผิดกฎหมายไว้ กองทัพต้องใช้กำลังพลสูงมากในการปราบปรามและระงับยับยั้งมิให้เกิดการต่อต้านล้มล้างอำนาจจากฝ่ายประชาชน ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตเมืองใหญ่อย่างในสมัยก่อนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยกำลังทหารไปทุกหย่อมหญ้า เฉพาะการ “เยี่ยม” ประชาชนซึ่งเป็นที่ระแวงสงสัยเพียงอย่างเดียว ก็ต้องใช้กำลังคนเข้าปฏิบัติการหลายร้อยหลายพันต่อวัน

รัฐประหารของกองทัพที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ก็คงต้องทำอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอำนาจที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย แต่เพราะประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว รัฐประหารไม่ใช่คำตอบทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปอย่างที่ผ่านมา ในสภาพเช่นนี้ วิธีเดียวที่จะรักษาอำนาจไว้ได้ กองทัพจำเป็นต้องใช้กำลังพลในการ “ตรึง” ประชาชนไว้อย่างไม่มีวันผ่อนมือลงได้เลย

หากสักวันหนึ่ง การปฏิรูปกองทัพสามารถทำได้จริง สิ่งที่เว้นไม่ได้เลยคือลดจำนวนทหารประจำการของกองทัพไทยลง (เช่น ไม่น่าจะเกิน 0.2% ของประชากร) กองทัพควรกลับมาเหมือนอย่างที่เคยเป็นก่อนจะเข้าสู่สงครามเย็น คือมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยแกนกลางที่เป็นทหารอาชีพเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือกำลังสำรองที่พร้อมจะถูกระดมได้ในยามสงคราม กองทัพจะมีสมรรถภาพทางการทหารเพิ่มขึ้น (อินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งมีทหารประจำการเป็นสัดส่วนต่อประชากรต่ำกว่าไทยมาก ถูกองค์กร Global Firepower ประเมินสมรรถนะทางทหารไว้สูงกว่าไทยพอสมควรทีเดียว) เพราะสมรรถภาพทางทหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของกำลังพลเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ทหารอาจทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะไม่มีสมรรถภาพที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยของชาติไปพร้อมกันด้วย



ที่มา: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1142579

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.