Posted: 13 Sep 2018 06:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-13 20:20
ในเวทีอภิปรายสาธารณะ "โซตัสกับการพัฒนาสังคมไทย สร้างชาติหรือถ่วงความเจริญ?“ ช่วงตอบคำถามสำคัญเรื่องหนุนค้านโซตัส โดยพรรณิการ์ วานิช ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ คัดค้านโซตัสและการรับน้องโดยเห็นว่าผลลัพธ์จากระบบโซตัสไม่เป็นประชาธิปไตย
สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ อดีต ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พรรคภูมิใจไทยเสนอว่ากิจกรรมรับน้องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไม่ควรทำ กิจกรรมแก้ไขได้ด้วยการคุยกันในคณะระหว่างนักศึกษาปี 1 ถึง 4 แต่จะยกเลิกกิจกรรมไปเลยคงไม่ใช่
นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือหมอเอ้ก ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ยังเชื่อว่าโซตัสเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดยย้ำว่ารับน้องต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ละเมิด ไม่ตีตราคนที่ไม่เข้าร่วม
ด้านตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเสนอคล้ายกับ นพ.คณวัฒน์ คือรับน้องต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด และรุ่นน้องมีสิทธิเดินออกจากการรับน้องได้ โดยเชื่อว่าสามารถปรับเปลี่ยนโซตัสให้เป็นไปตามยุคสมัยได้
สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ พรรคภูมิใจไทย
ถ้าได้คุยกันในคณะ รุ่นพี่รุ่นน้อง พูดกันถึงเรื่องที่ทำกันก่อนว่า บางเรื่องมันผิด มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วจะปรับเปลี่ยนการรับน้องอย่างไร เพื่อให้มันมีประโยชน์ขึ้น กิจกรรมมันต้องมี
ถ้าถามผมในมหาวิทยาลัย ผมก็อยากให้มีกิจกรรมที่มันต้องทำร่วมกัน ได้สนุกสนานร่วมกัน คือจะไปยกเลิกเลย แล้วแบบไม่มีอะไรเลย มาแค่มหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วกลับบ้าน มันไม่ใช่ ในมหาวิทยาลัยมันมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เยอะแยะ ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดเรียนจบมัธยมมา พอเข้ามหาวิทยาลัย เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก เกรดปีหนึ่งนี่ร่วงระนาว ก็ในมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่คนต้องเรียนรู้กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน
อย่างเรื่องที่ผมชอบตอนเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะรับน้องก็มีการต้องหาเงินทุน โดยการขายสมุด ขายเสื้อ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ผมมองว่า มันเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้รู้จักหาทุนเองในการทำกิจกรรม ไม่ได้ไปขอเงิน แต่สิ่งที่ไม่ดีก็ต้องปรับ ต้องคุยกันในคณะแล้วเขียนเป็นข้อบัญญัติก็ได้ แต่ละปีก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขกัน มาคุยกันในที่ประชุมของคณะว่าปี 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ว่าจะตั้งคณะกรรมการกันอย่างไรก็ได้
นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ พรรคประชาธิปัตย์
สำหรับคำถามที่ผมไปคิดมาเนาะ ว่าการรับน้อง หรือกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่าเดิมในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันต้องมีสามอย่าง หนึ่งคือ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ใครอยากมาก็มาใครไม่อยากมาก็ไม่มา อันที่สองก็ต้องไม่ละเมิด ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือทำให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นไม่ว่าทางร่างกาย หรือทางจิตใจก็แล้วแต่ สองอันนี้ผมว่ามันไม่ได้ยากมาก มันขึ้นอยู่กับต้นน้ำว่าจะจัดกันอย่างไร แต่เรื่องที่สามที่พูดไปแล้ว ผมว่ามันยากที่สุด สังคมเนี่ย ใครที่ไม่เข้าเพราะไม่ได้มีความคิดเดียวกัน ไม่ได้แบบเข้าร่วมกิจกรรมเดียวกัน คุณก็ต้องห้ามไปตีตราเขา อันนี้มันยากเพราะมันการเปลี่ยนความคิดคนหมู่มาก แล้วที่รุ่นพี่บางมหาวิทยาลัยคนออกแบบกิจกรรม อย่างห้องเชียร์ ไม่เข้าเนี่ย แถวนั้นต้องทำเพิ่มขึ้น ทำแทนคนที่ไม่อยู่ คนที่อยู่บนแถวนั้นก็ต้องมาคิด ไอ้คนที่ไม่อยู่ทำไมไม่มาว่ะ เห็นแก่ตัวฉิบหาย อันนี้คือการตีตราที่ผมบอก อันนี้ต้องไม่มี
คนในแถวนั้นนักศึกษาต้องคิด ไอ้รุ่นพี่เนี่ยทำไมมันคิดอย่างนี้ว่ะ เขาที่ไม่เข้ามาเป็นสิทธิของเขาที่เขาไม่อยากเข้า ทำไมคุณถึงพูดอย่างนี้ แล้วให้พวกผมมาทำเพิ่มได้อย่างไร มันต้องสร้างมายด์เซ็ตแบบนี้ให้เกิดขึ้น ผมก็ผ่านมาหลายปีแล้วจากรั้วมหาวิทยาลัยก็ต้องฝากที่พวกคุณที่จะต้องเปลี่ยนในส่วนนี้
ความคิดของเด็กรุ่นใหม่ๆ มัธยมปลายที่เพิ่งจบเข้ามาในมหาวิทยาลัย มาเข้าสู่กิจกรรมรับน้องอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องทำให้เขารู้ เหมือนจะ brain wash เลยนะ ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นในการรับน้อง
จากนั้น ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ผู้ดำเนินรายการถามเพิ่มว่า "โซตัสเนี่ยเป็นอย่างก็ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อกี้บอกว่าอยู่ที่คนเอาไปใช้ แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้คนตีความเอาไปใช้ในทางที่ผิด เหมือนผมจะชี้ให้เห็นภาพ เช่น บ้านเมืองมีระบบของมันดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าราได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองก็จะไปในทางที่ดี หรือเปล่าฮะ หรือเปล่าฮะ"
โดย นพ.คณวัฒน์ ชี้แจงว่า ผมเห็นด้วยกับประโยคนี้นะที่บอกว่า โซตัส มันเป็นคอนเซ็ปต์จะดี หรือไม่ดีก็ได้ ถามว่าจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรในโซตัสไหม ก็ไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องสนใจมัน ทำไมคุณจะต้องสนใจในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับน้อง การรับน้องมันเป็นการแอบอ้างคำว่าโซตัสมาใช้ แล้วเอาไปใช้ในทางที่ผิด คุณเข้าใจผมนะ
โดยภานุวัฒน์ ถามเพิ่มว่า "เข้าใจครับ แต่เราจะหาวิธีป้องกันการตีความเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่างไร เพื่อที่จะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร?"
นพ.คณวัฒน์ชี้แจงต่อว่า สำหรับผมนะ กิจกรรมรับน้องต้องมีสามอย่าง ถ้ารุ่นน้องเข้ามาต้องมาโดยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ
สองไม่มีการละเมิด ข้อที่สาม สังคมต้องไม่ตีตราหากเขาเลือกใช้สิทธิที่จะไม่เข้ามา ผมไม่เปลี่ยนแปลงนะ จุดยืนผมเหมือนเดิม จะให้ผมพูดเกี่ยวกับโซตัส ผมก็พูดเหมือนเดิมว่าผมไม่ยุ่งกับโซตัส เพราะมันเป็นอะไรที่แขวนไว้ คุณจะเอามาใช้แบบไหนได้ แต่ถ้าคุณเอามาใช้ในทางที่ผิด ก็มาเข้าหลักการสามข้อนี้ ถูกไหมฮะ ถ้าเกิดคุณเอาโซตัส แอบอ้างมาใช้ว่าเนี่ยคือ โซตัสนะ การรับน้องคุณต้องเข้าระบบโซตัส มันไม่เกี่ยว ต้องรักษาระบบ ไม่เกี่ยว มันต้องยึดหลักสามอย่างนี้ โซตัสมันเป็นคอนเซ็ปต์นะครับ ก็เหมือนทุนนิยม คุณว่าทุนนิยมมันผิดหรือถูกล่ะ
พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่
หนึ่งนะคะ สำหรับช่อ โซตัส ไม่ใช่คอนเซ็ปต์ที่เป็นกลาง โซตัสเป็นคอนเซ็ปต์แบบนาซี เป็นคอนเซปต์ที่เป็นเผด็จการ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่งาช้างไม่งอกออกจากปากสุนัข ประชาธิปไตยไม่งอกจากปลายกระบอกปืน ก็ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยงอกออกมาจากระบบโซตัส เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถกเถียงกันได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นแบบนี้
สอง ระบบโซตัส กับการรับน้องเป็นสิ่งเดียวกันไหม ใกล้เคียง คุณอย่าบอกว่ารับน้องเป็นคอนเซ็ปต์ที่สร้างสรรค์ได้ แค่คำว่ารับน้องมันก็ขึ้นอยู่กับโซตัสแล้วถูกไหม เพราะว่าถ้ามีคำว่าพี่ มีคำว่าน้อง มันคือโซตัส ถ้าคุณมีคำว่ารับน้องหมายความว่า มีวัฒนธรรมการแบ่งความสูงต่ำอะไรบางอย่างอยู่ พี่จะอยู่สูงกว่าน้อง ถ้าเกิดมันเป็นการรับเพื่อนใหม่ แนะนำที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้รู้จัก ไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อันนั้นก็ไม่ต้องเรียกว่ารับน้อง เป็นกิจกรรมแนะนำมหาวิทยาลัย เป็นกิจกรรม Open House เป็นกิจกรรมอะไรต่างๆ ที่เป็นของคณะทั่วไป แต่ในคอนเซ็ปต์ของรับน้อง มันคือคอนเซ็ปต์ของโซตัส คือน้องเข้ามาน้องไม่รู้พี่รู้ พี่ใช้ความรู้นั้นเป็นภาษีที่เหนือกว่าเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่างกับน้องได้ ฉะนั้นอย่างที่บอกเราเห็นต่างกันได้ แต่โดยความเห็นส่วนตัวที่ผ่านการรับน้องของคณะที่มีระบบโซตัสเข้มแข็งที่สุดในจุฬาฯ คณะหนึ่ง คือคณะรัฐศาสตร์ มันเป็นแบบนั้น ที่อื่นถ้าเป็นธรรมศาสตร์ มันอาจจะคอนเซ็ปต์ที่ดีงามเกิดขึ้นได้ อันนี้เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า โซตัสไม่ใช่คอนเซ็ปต์ที่เป็นกลาง แล้วก็ผลลัพธ์การันตีได้ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย
ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยควรจะออกกฎเลยว่า การเข้ารับน้องต้องเป็นการสมัครใจ และห้ามเป็นการบังคับ อันที่สองผมคิดว่าก่อนจะมีนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย โรงเรียน ภาคมัธยมศึกษา ควรจะมีการปลูกฝังเรื่องสิทธิ ประชาธิปไตย สิทธิของพลเมือง สิทธิที่เขารู้ว่าเขาสามารถที่จะ walk away เดินออกไปก็ได้ไม่จำเป็น หลายๆ คลาสที่ผมเข้าไปเรียนหนังสือ ผมก็เป็นรุ่นน้องพี่ช่อรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ว่าเรียนปริญญาโท ผมรู้สึกว่าอาจารย์พูดอะไรไม่ถูกใจ ผมก็เดินออกไปเลย ก็มันคือสิทธิของเรา เราไม่อยากฟัง หรือเรื่องที่เราฟังเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วก็ได้ ผมคิดว่ามันไม่ได้โชว์การเป็นคนก้าวร้าว แต่ว่ามันเป็นสิทธิของเราถูกต้องไหมครับ
ผมว่าเราควรจะปลูกฝังเรื่องสิทธิของพลเมืองให้มากขึ้นในระดับโรงเรียน และก็ผมคิดว่าโซตัสในปัจจุบันนี้ หรือโซตัสที่ไม่ดีในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างคนไปสู่ระบบประชาธิปไตย มันเป็นการสั่ง ผมคิดว่ามันต้องมีการเปลี่ยนระบบโซตัสใหม่ จะมีหรือไม่มีก็เป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัย แล้วแต่รุ่นพี่ที่จะคิด
แต่คิดว่ามันจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโซตัสให้เป็นไปตามยุคสมัย ไม่ใช่ว่าเคยเป็นมาอย่างไรในยุค 2445 ตั้งแต่วชิราวุธ ตั้งแต่จุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเนี่ย มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงน้อย วิวัฒนาการมันแย่ลงไปด้วย ผมคิดว่าตรงนี้มันต้องปรับให้ตรงกับบริบทสังคม ควรทำให้มันสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมละลายพฤติกรรมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เนี่ยเป็นสิ่งที่ดีมาก มาถึงก็ระดมสมองกัน รุ่นพี่พารุ่นน้องไปดูมหาวิทยาลัย ไปดูว่าระบบมันเป็นยังไง ในคณะเรามีอะไรบ้างห้องน้ำอยู่ตรงไหน อะไรอยู่ยังไง ก็ดีหมด ทำกิจกรรม Team building กิจกรรมมีตั้งเยอะตั้งแยะ ไม่ต้องไปลูบไข่ที่เห็นออกข่าว มีตั้งเยอะแยะ แต่ว่าคุณจะต้องเลือกวิธีการที่มันเหมาะสมที่สุด เถื่อนไม่ใช่ดีที่สุด ไม่ใช่เท่ที่สุด
แสดงความคิดเห็น