ภาพซ้าย : คนซ้ายมือสุด คือ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ต้องหา (ที่มา : เฟสบุ๊ก วิญญัติ ชาติมนตรี) ภาพขวา ภาพโปรไฟล์ประจำเพจ CSI LA
Posted: 11 Sep 2018 06:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-11 20:20
คดี 12 ผู้แชร์ข้อมูลข่าวนักท่องเที่ยวอังกฤษถูกข่มขืนบนเกาะเต่า จากเพจ CSI LA รับสารภาพ 3 ปฏิเสธ 9 ‘ทนายวิญญัติ’ ตั้งข้อสังเกต หมายจับระบุข้อหาผิดจาก พ.ร.บ.คอมฯ ขาดคำว่าเจตนาทุจริต-หลอกลวง ออกหมายจับแทนหมายเรียก นัยสำคัญคือหยุดการแชร์โพสต์ ‘คนรับสารภาพ’ ระบุ รับเพราะไม่อยากสู้คดี แต่ไม่คิดว่าตนทำผิด ขณะที่ ‘คนปฏิเสธง ระบุ เจตนาสุจริต ยันสู้คดี ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานการใช้อำนาจของตำรวจ
11 ก.ย. 61 ความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีและออกหมายจับผู้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษที่ระบุว่าถูกข่มขืนบนเกาะเต่า จากเพจ CSI LA จำนวน 12 คน ฐานกระทำผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฯลฯ นั้น
- องค์กรสิทธิฯ ร้องยุติคดี 'แอดฯเพจ CSI LA - 12 มือแชร์' ปมโพสต์ข่าวข่มขืนบนเกาะเต่า
- ออกหมายจับ 'แอดฯเพจ CSI LA - 13 แชร์' ปมโพสต์ข่าวข่มขืนบนเกาะเต่า 'ทนายวิญญัติ' ชี้ให้ดูที่เจตนา
- จับ-คุมสอบ 9 คนแชร์ข้อความ 'เพจ CSI LA' ระบุสาวอังกฤษถูกข่มขืนเกาะเต่า
ล่าสุดวันนี้ (11 ก.ย.61) วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ต้องหาระบุว่า ในชั้นสอบปากคำรับสารภาพไป 3 คน ปฏิเสธ 9 คน ตอนนี้เตรียมการที่จะให้การเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องหาที่ปฏิเสธหรือรับสารภาพทั้งหมด 12 คน โดยกำลังประมวลข้อเท็จจริงของแต่ละคนว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมถูกจับ ขณะที่แชร์มีเจตนาอะไร จากนั้นจะทำคำให้การ โดยวันที่ 18 ตุลาคม นี้ พนักงานสอบสวนนัดฟังคำสั่งหรือความเห็นว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หลังจากนั้นจะส่งอัยการ
เมื่อถามว่ามีโอกาสที่พนักงานสอบสวนจะไม่ฟ้องหรือไม่ วิญญัติ กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่ การมีโอกาสที่จะไม่ฟ้องคือพนักงานสอบสวนต้องได้ข้อเท็จจริงพอสมควรที่จะเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาหรือความตั้งใจในการทำผิด นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อกฎหมาย เช่น ขณะโพสต์รู้ไหมว่าเท็จ หรือความเท็จคืออะไร หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายแบบที่ข้อกล่าวหาอ้างจริงหรือไม่
คนรับสารภาพชัดเจนว่าผิด ศาลอาจลดโทษ แต่คนปฏิเสธสู้คดีได้เต็มที่
เมื่อถามถึงผลดีผลเสียของการรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา วิญญัติ แสดงความเห็นว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวหาร่วมกันกระทำความผิด ซึ่งคนที่รับสารภาพตนคิดว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี คือการกระทำความผิดนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นการร่วมกระทำผิด ความเป็นจริงคือต่างคนต่างทำ ต่างคนไม่เคยรู้จักกัน แชร์คนละที่
ประเด็นต่อมาเมื่อรับสารภาพแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดความยุ่งยากใดๆ เพราะยังต้องไปพบพนักงานสอบสวนอยู่ เพียงแต่หากอยู่ในชั้นศาล คนที่รับสารภาพซึ่งชัดเจนว่ามีความผิด ศาลก็อาจจะลงโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ แต่คนที่ปฏิเสธก็ยังมีโอกาสสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ว่าไม่ได้เป็นตัวกลางร่วม และไม่ได้กระทำความผิด เพราะโพสต์โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ ทั้งหมดนี้ตนจึงเห็นว่าการรับสารภาพไม่ได้ดีกว่าการปฏิเสธเลยในแง่ของรูปคดี
ทั้งนี้ วิญญัติ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีนี้ ดังนี้
หมายจับระบุข้อหาผิดจาก พ.ร.บ. คอมฯ ขาดคำว่าเจตนาทุจริต-หลอกลวง
วิญญัติ ชี้ว่า ตั้งแต่การออกหมายจับ มีการระบุข้อหาผิดไปจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรค 1 ซึ่งต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือมีเจตนาทุจริตหรือโดยหลอกลวง แต่หมายจับนั้นตัดสองคำนี้ออก นั้นแสดงว่าตัดคำเหล่านี้ออกเพื่อให้เห็นพฤติการณ์ว่ากระทำผิดจริง ใช่หรือไม่? ถ้าเป็นแบบนั้นก็เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการแชร์โพสต์ดังกล่าวผู้แชร์ก็ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง
ออกหมายจับแทนหมายเรียก นัยสำคัญคือหยุดการแชร์โพสต์
ประเด็นต่อมา วิญญัติ มองว่าเป็นการกระทำที่เกินเหตุของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ยังไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ ออกหมายเรียกก็ได้ กรณีอื่นๆ ก็ออกหมายเรียกก่อนทั้งนั้น
เขาอธิบายว่าในขั้นตอนนี้สามารถออกหมายเรียกก่อนได้ เพราะการออกหมายเรียกเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบถาม โดยยังไม่ต้องกล่าวหา ส่วนการออกหมายจับคือการเชื่อเต็มๆ ว่าเขาเป็นผู้ต้องหา แต่การออกหมายเรียกถ้าไม่เป็นความผิดก็ปล่อยตัวเขาได้โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา กระบวนการแบบนี้ควรเกิดขึ้น อย่างในต่างประเทศก่อนออกหมายจับได้ตำรวจต้องร่วมกับอัยการในการสอบสวน ได้มูลชัดเจนแล้วถึงออกหมายจับ หรือไปเชิญตัวมาก่อน ถ้าเห็นว่ามีส่วนกระทำผิดจริงก็ถึงจะออกหมายจับ ทำการแจ้งข้อกล่าวหา
“การแชร์ข่าวซึ่งมาจากต่างประเทศและเป็นการตั้งข้อสังเกตซึ่งยังไม่มีใครยืนยันว่าเท็จหรือจริง วิธีการคือสามารถออกหมายเรียกคนที่แชร์เพื่อสอบสวนก่อนได้ แต่คุณไม่ได้ทำ คุณออกหมายจับ แล้วก็ส่งตัวไปในสถานที่ที่ไกลมาก (สภ. เกาะเต่า) นัยสำคัญก็คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐต้องการที่จะให้หยุดการแชร์ มากกว่าที่จะมุ่งเอาความผิดจากกฎหมายที่ถูกต้องตรงไปตรงมา ดังนั้นมันจึงเป็นการบิดผันอำนาจไปใช้ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจไทยมักใช้วิธีการรุนแรงและให้เกิดความน่ากลัว มันเป็นอิมแพคที่เขาต้องการ” วิญญัติ กล่าว
ข้อมูลเท็จหรือจริงยังต้องพิสูจน์ คนแชร์ต้องรู้ว่าเท็จถึงเรียกว่ากระทำผิด
วิญญัติ ยังระบุว่า การที่จะกล่าวหาใครแล้วออกหมายจับ แม้กฎหมายระบุว่าออกหมายจับคนที่น่าเชื่อว่ากระทำความผิดหรือมีมูลเหตุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงที่จะบอกว่ามันเป็นความเท็จหรือยัง? การที่บอกว่าอะไรคือความเท็จ ต้องรู้ว่าอะไรคือความจริงก่อน และตอนนี้ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้ถูกสอบสวน ดังนั้นทั้งหมดจึงยังอยู่ในกระบวนการระหว่างความสงสัยและความคลุมเครือ ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงยังไม่ปรากฏ สาระสำคัญของกฎหมายคือขณะที่คุณแชร์หรือนำเข้าคุณจะต้องรู้ว่าอันนั้นคือความเท็จ
'คนปฏิเสธ' ระบุ เจตนาสุจริต ยันสู้คดี ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐาน
ประชาไทได้สัมภาษณ์ 3 ใน 12 ของผู้แชร์ข้อมูลแล้วถูกจับกุม โดย นาย ก. (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในผู้ปฏิเสธข้อกล่าวหาระบุว่า เราเจตนาว่า มันมีคนถูกข่มขืนและเราไม่อยากให้มีแบบนี้ เราก็เลยแชร์ อยากให้คนที่รับผิดชอบเข้ามาดูแล จากสถิติเกาะนี้ปีหนึ่งมีคนเข้าไปเป็นแสนคน ทั้งฝรั่งและคนไทยอยากมาเที่ยว เราเลยอยากให้เรื่องนี้มันดีขึ้น ตามข้อกฎหมายที่ฟังมาจากทนาย การที่เราแชร์โดยเราไม่ทราบว่าเป็นข้อความเท็จ และเราแชร์โดยสุจริตใจว่าจริงนั้นเราไม่ผิด
“แน่นอนว่าเรากลัวติดคุก กลัวเสียเงินเยอะ กลัวยุ่งยากที่จะต้องเดินทางไกลไปพิจารณาคดีในแต่ละครั้ง ซึ่งเข้าใจคนที่รับสารภาพนะ ว่าเขาคงกลัวอะไรพวกนี้ แต่เราไม่อยากให้มันเป็นบรรทัดฐานให้ตำรวจใช้อำนาจอะไรกับเราก็ได้ จับใครก็ได้ ถ้าครั้งนี้เรายอมต่อไปตำรวจจะไปจับใครทุกคนก็จะต้องยอมหมด” นาย ก. กล่าว
นาย ข. (นามสมมติ) ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นกัน กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดว่าตนทำผิด หรือทำให้ประเทศชาติหรือประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องการจะแชร์เพื่อเตือนให้เกิดความระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดอีก ตนพร้อมที่จะสู้คดี
นายข. เล่าว่า ตอนที่ถูกจับไปก็มีตำรวจพูดในทำนองว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีร้ายแรง ยอมรับก็จะจบเร็ว แค่ค่าปรับไม่กี่พันไม่กี่หมื่น แต่ก็ไม่ได้พูดเชิงบังคับ พูดโน้มน้าวเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการรับสารภาพกับการไม่ยอมรับสารภาพ ซึ่งตอนแรกๆ ตนก็ลังเลอยู่เหมือนกัน เพราะตนก็ไม่ได้รู้เรื่องกฎหมายมาก แต่พอทนายวิญญัติเข้าไปให้ความรู้ ก็รู้สึกโอเค เห็นทางที่จะสู้
'คนรับสารภาพ' รับเพราะไม่อยากสู้คดี แต่ที่จริงไม่คิดว่าตนทำผิด
ขณะที่ นาย ค.(นามสมมติ) ซึ่งให้การรับสารภาพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่และพ่อบอกให้รับสารภาพเพราะจะยุ่งยากน้อยกว่า ก็เลยรับโดยไม่ได้ขัดขืน เพราะตนก็มีธุรกิจ ไม่อยากให้กระทบกับธุรกิจที่ทำ และไม่อยากสู้คดี
“จริงๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเราผิด และมันยังอยู่ในขั้นตอนสอบสวนอยู่เลย แล้วมาจับแบบนี้มันไม่น่าใช่ เราไม่ได้เจตนาตามที่เขากล่าวหา เราคิดว่าเป็นข่าวจริงก็เลยแชร์ เรารู้สึกน้อยใจแทนนักท่องเที่ยว ทำไมถึงเกิดแบบนี้อีกแล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่ทำกับเขาแบบนี้ เราก็เป็นคนไทยที่ห่วงประเทศไทย ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ นักท่องเที่ยวเขาก็จะไม่มาเที่ยวประเทศไทยอีก ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ทำลายระบบการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทำลายระบอบความมั่นคงของประเทศไทย ถ้าเป็นต่อไปใครจะกล้าแชร์” นาย ค. กล่าวทิ้งท้าย
แสดงความคิดเห็น