Posted: 10 Sep 2018 12:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-10 14:18


เหตุสืบเนื่องจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเห็นควรว่าต้องแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาล พ.ศ.2528 ให้ทันสมัย มีหลายเรื่องที่กฎหมายไม่คุ้มครองพยาบาล แต่สภาการพยาบาลเห็นว่าไม่ต้องแก้ไข ประธานสหภาพพร้อมสมาชิกจึงทำหนังสือเรียกร้อง แต่ไม่เป็นผล ท้ายสุดฟ้องศาลปกครองว่าสภาการพยาบาลละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หลังตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นจะมีการนัดพิพากษาคดี 2 ต.ค. 2561

นางสาวมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองมีการพิจารณาคดีนัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ 1198/2559 ระหว่าง นางสาวมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กับพวกรวม 3 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการสภาพยาบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยกระบวนการในวันนี้องค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดี มีตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีนี้ ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในศาลปกครอง การวินิจฉัยของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน โดยองค์คณะได้นัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. 2561 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีและพวกเห็นควรว่าต้องแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้ทันสมัย เพราะมีหลายเรื่องที่กฎหมายไม่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่จริงของพยาบาล แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลเห็นว่าไม่ต้องแก้ไข ผู้ฟ้องคดีพร้อมสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลจึงทำหนังสือเรียกร้องให้ดำเนินการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย แต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุด จึงมีการฟ้องศาลปกครองว่า สภาการพยาบาลละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการพิจารณาและแจ้งผลต่อผู้ฟ้องคดีและพวก ตามที่พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลกำหนดไว้ในมาตรา 12(2) หรือไม่


ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีประธานสหภาพพยาบาลฟ้อง คกก.สภาพยาบาล 5 ก.ย. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่ตุลาการผู้แถลงคดีจะอ่านความเห็น ผู้ฟ้องคดีได้แถลงด้วยวาจาว่าเหตุที่พยาบาลจำนวนมากต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ เนื่องจากพยาบาลปฏิบัติงานอยู่ที่ รพ.ชุมชน ถูกร้องเรียนมากว่าทำเกินขอบเขตหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น การลงพื้นที่ไปเจาะเลือด ส่งตรวจ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ทำเฉพาะในโรงพยาบาล ในกรณีเช่นนี้กฎหมายถึงไม่สอดคล้องกับบทบาทและการปฏิบัติงานจริงของพยาบาลซึ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน

ส่วนตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงของคดีนี้ สรุปความได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ส่งหนังสือเรียกร้อง 3 ประการต่อสภาการพยาบาล แต่ไม่การพิจารณาและชี้แจงกลับ จากนั้นได้ส่งหนังสือทวงถามพร้อมแนบรายชื่อสมาชิกสามัญไปอีก 89 คน ทางสภาการพยาบาลเห็นว่าเป็นการเสนอเรื่องโดยสมาชิกสภาการพยาบาล 50 คนขึ้นไปตามที่ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ มาตรา 12(2) กำหนด จึงได้นำข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาล ที่ประชุมมีมติว่า

คำให้การเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงในคดีนี้ สรุปความได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2558 มีผู้แทนของสภาการพยาบาลเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อถึงวาระทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ผู้แทนสภาการพยาบาลเสนอต่อที่ประชุมว่าไม่ประสงค์จะให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าทำให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ก.พ. 2559 เรียกร้องให้สภาการพยาบาลเปิดประชุมใหญ่วิสามัญทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกสภาการพยาบาล ฯ รวมถึงกำหนดวิธีการจัดการเลือกตั้งตัวแทนสมาชิกที่จะเป็นกรรมการสภาการพยาบาลต้องได้เสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีหรือสภาการพยาบาลเห็นว่า ตามกฎหมายแล้วการเสนอเรื่องให้สภาการพยาบาลพิจารณาต้องเสนอโดยกลุ่มบุคคลหรือองค์กรกลุ่มที่เป็นสมาชิกร่วมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป แต่หนังสือเสนอแนะต่อผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธานสภาพการพยาบาลแห่งประเทศไทย ลงชื่อเพียงคนเดียว ต่อมามีหนังสือทวงถามความคืบหน้า ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 พร้อมส่งรายชื่อสภาการพยาบาลวิชาชีพผู้เป็นสมาชิกสภาการพยาบาลจำนวน 89 รายชื่อแนบไปด้วย สภาการพยาบาลเห็นว่าครบองค์ประกอบตามกฎหมายจึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559

ที่ประชุมสภาการพยาบาลพิจารณาแล้วมีมติ คือ 1.ข้อเรียกร้องขอให้มีการเปิดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ มิได้มีบทบัญญัติให้สภาการพยาบาลต้องทำ 2.ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาการพยาบาลประเภทสมาชิกจะต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าไม่ต้องแก้ไขตามนั้น เพราะระบบการเลือกที่ใช้อยู่เป็นระบบคัดเลือกที่เปิดโอกาสให้คัดเลือกบุคคลโดยมีสัดส่วนสมาชิกสามัญการพยาบาลซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาการพยาบาล จึงเหมาะสมกับสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแล้ว 3. ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ตามที่ผู้ฟ้องคดีและพวกเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นต่อองค์คณะ สรุปความได้ว่าการที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติล่าช้าตามมาตรา 12(2) พ.ร.บ.การพยาบาลฯ ที่บัญญัติให้กรณีที่สมาชิกสามัญร่วมกันแถลง 50 คนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลพิจารณาเรื่องใดเกี่ยวกับสภาการพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการจะต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้เสนอทราบโดยไม่ชักช้านั้น จะต้องปรากฏขึ้นก่อนว่า มีสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 50 คนครบถ้วนก่อน หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีคือสภาการพยาบาลจึงจะพิจารณาและแจ้งผลตามกฎหมายกำหนด ปัญหาคือ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาใดจึงจะพิจารณาได้ว่าชักช้า ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการกระทำของสภาการพยาบาลชักช้าหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และระยะเวลาในการดำเนินการนั่นก็คือการประชุมของคณะกรรมการ กล่าวคือ หากนับจากระยะเวลาที่ได้รับหนังสือการแสดงความเห็นของสมาชิกสามัญ 50 คนขึ้นไปแล้ว คณะกรรมการสภาการพยาบาลก็ควรมีการนัดประชุมในครั้งถัดไป จึงจะถือว่าเป็นการพิจารณาโดยไม่ชักช้า

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบัญชีรายชื่อที่ผู้ฟ้องอ้างไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าจะใช้สิทธิแสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาลตามมาตรา 12(2) กำหนดไว้ เพราะบัญชีรายชื่อที่แนบหนังสือระบุเพียงว่า รายชื่อพยาบาลวิชาชีพผู้เสนอให้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รมว.สาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการคุ้มครองวิชาชีพพยาบาลเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงในชีวิตของประชาชนไท กรณีจึงไม่อาจถือว่า เป็นกรณีที่มีสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 50 คนขึ้นไปร่วมกันลงชื่อเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้พิจารณาการจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นข้อเท็จจริงก็ปรากฏต่อมาภายหลังจากที่ได้พิจารณาหนังสือติดตามทางถามแล้วปรากฏว่าสมาชิกที่ลงลายมือชื่อทวงถามมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 89 คน ถือว่าเกิน 50 คนตามกฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีก็นำเข้าประชุมในครั้งถัดไปซึ่งเป็นเดือนเดียวกันกับที่มีหนังสือทวงถามแล้วก็แจ้งผลให้ทราบ กรณีจึงถือว่าเป็นการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกทราบโดยไม่ชักช้าเห็นควรพิพากษายกฟ้อง[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.