ภาพความชุลมุนบนถนนในอินเดีย (ที่มา:flickr/mmntz)
Posted: 12 Sep 2018 03:13 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-12 17:13
กูเกิลวางแผนตีตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลักพันล้านคนในอินเดียด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเว็บบอร์ดชุมชน สอดรับการทำวิจัยที่พบว่าชาวอินเดียดำเนินชีวิตไม่ห่างจากที่พำนัก บวกกับการกลายเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วเกินคนปรับตัวทัน องค์กรส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกังวลเรื่องกฎหมายความเป็นส่วนตัวที่ยังไม่ออกมา ในวันที่บรรษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ต่างมองผู้ซื้อจำนวนมหาศาลตาเป็นมัน
เดอะการ์เดียนนำเสนอว่าหลายพื้นที่ในอินเดียยังคงมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมในอินเดียยังต้องพยายามยืนหาสัญญาณในที่โล่งๆ บางคนก็มีการเปิดบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียร่วมกัน นอกจากนี้ยังมักจะประสบปัญหาหน่วยความจำของโทรศัพท์เต็ม
ผู้ที่ประสบปัญหารายนี้คือผู้หญิงอายุ 22 ปี จากชัยปุระ รัฐราชสถาน เธอได้เข้าไปนั่งพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีมกูเกิลในห้องนั่งเล่นที่มีกระดานบันทึก ทำให้หญิงอายุ 22 ปีที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งรู้สึกได้รับความสำคัญจากบรรษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีการวิเคราะห์ว่าตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศในโลกที่หนึ่งพัฒนาแล้วตอนนี้ถึงจุดที่ใกล้อิ่มตัว นั่นทำให้บรรษัทไอทีอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ค และอเมซอนเริ่มหันไปหาตลาดอย่างเอเชียและแอฟริกา ประเทศอินเดียที่ข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่าอินเดียมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงเป็นอันดับที่สามของโลกคือมากกว่า 330 ล้านราย ขณะเดียวกันก็มีประชากรที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 1,000 ล้านรายด้วยจึงถูกมองในฐานะตลาดขนาดใหญ่
จอช วูดวาร์ด ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของกูเกิลบอกว่า ทีมของพวกเขากำลังวางแผนออกเพื่อรองรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่นับพันล้านคนในอนาคต และกำลังคิดกันว่าจะออกแบบอย่างไรถ้ามองจากมุมของชาวอินเดียแทนที่จะมองจากมุมของสำนักงานใหญ่กูเกิลเอง นั่นทำให้พวกเขาออกแบบโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชื่อ "เนเบอร์ลี" (Neighbourly) ที่แปลได้ว่า "บ้านใกล้เรือนเคียง" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอินเดีย เป็นความพยายามท้าทายตลาดไอทีของเฟซบุ๊คและว็อทสแอพพ์รอบล่าสุดโดยมีการประเมินว่าจะมีผู้ใช้งานเกิน 800 ล้านคนภายใน 3 ปีข้างหน้า
เนเบอร์ลีจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กในลักษณะที่คล้ายกับกระดานข่าวในโลกเสมือนที่ให้ผู้คนในละแวกพื้นที่เดียวกันสามารถให้คำแนะนำกันได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น ที่ไหนรักษาคนกำลังบาดเจ็บ หรือเรื่องธรรมดาทั่วไปอย่าง ร้านอาหารไหนทำอาหารชนิดใดได้อร่อยที่สุด
กูเกิลสร้างแอพพลิเคชันนี้จากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในที่ต่างๆ ของอินเดีย ทั้งตามสถานีรถไฟ ตลาด ไปจนถึงห้องนั่งเล่น จนกระทั่งพบว่ามีกระแสสองอย่างในอินเดีย หนึ่ง ชีวิตของชาวอินเดียส่วนใหญ่จะจับจ่ายซื้อของ ทำงาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมห่างจากที่พักอาศัยภายในระยะ 1-2 กม. เท่านั้น สอง ความเป็นเมืองของอินเดียกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น การประเมินจากสหประชาชาติพบว่าอินเดียจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองถึง 416 ล้านคน ในขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมีเพียง 255 ล้านคน การกลายสภาพเป็นเมืองแบบนี้มีผลกระทบทางสังคมในแบบที่ชวนให้เวียนหัว เพราะมันเป็นการผลักผู้คนหลักหลายล้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคยและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออินเดียเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 หลังจากที่คนที่รวยที่สุดในอินเดียคือ มุเกช อัมบานี ให้ข้อเสนอแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนคือการให้คนใช้บริการโทร. และรับข้อมูลฟรี 6 เดือน มุเกชยังเปิดบริษัทซิมมือถือของตัวเองชื่อจิโอ 4G ซึ่งให้บริการข้อมูลโทรศัพท์ราคาถูกที่สุดในโลก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอินเดียก็รับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นมากถึงสามเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาคิดเฉลี่ยคนละราว 2.5 กิกะไบท์ต่อเดือน จิโอเองก็มีเป้าหมายแบบกูเกิลคือทำให้ประชากรอีก 1,000 ล้านคนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตให้ได้
"ข้อมูลก็เหมือนทรัพยากรน้ำมันแบบใหม่ และข้อมูลข่าวสารก็เป็นเชื้อเพลิงแบบใหม่" มุเกชกล่าวในการเปิดตัวบริการ 4G ของตัวเอง
การแพร่หลายมากขึ้นของผู้ใช้สมาร์ทโฟนยังส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวอินเดียให้ต่างไปจากเดิมอย่างมาก ทั้งในแง่ที่สามารถทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้นเวลาฉุกเฉิน แต่ขณะเดียวกันการแพร่การจายข่าวลือผ่านว็อทสแอพพ์ก็เคยทำให้เกิดเหตุการณ์รุมฆ่าแขวนคอคนแบบศาลเตี้ยซึ่งเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว
อย่างไรก็ตาม โอซามา มานซาร์ จากมูลนิธิดิจิทัลเอ็มพาวเวอร์เมนต์ที่ส่งเสริมการนำอินเทอร์เน็ตไปสู่หมู่บ้านที่ห่างไกลในอินเดียกล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ยังไม่บอกแน่ชัดว่าจะมีวิธีการเก็บข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้อย่างไร และยังชี้ประเด็นว่าเมื่อทุกคนเห็นอินเดียเป็น "เหมืองทองแห่งข้อมูล" เช่นนี้ รัฐบาลก็ควรจะเล็งเห็นเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้คนด้วย โดยขณะนี้รัฐบาลอินเดียกำลังร่างกฎหมายความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลข่าวสารอยู่ในอินเดีย
กูเกิลหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เฟซบุ๊คเคยทำไว้ในอินเดียคือการให้อินเทอร์เน็ตฟรีแต่จะสามารถเข้าได้แต่เฉพาะเฟซบุ๊คหรือเว็บอื่นๆ ที่เฟซบุ๊คกำหนดไว้เท่านั้น เรื่องนี้ทำให้เฟซบุ๊คถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตและเป็นการ "ล่าอาณานิคมทางดิจิทัล"
เรียบเรียงจาก
'The next billion users': Google targets India's lucrative mobile market, The Guardian, Sep. 11, 2018[full-post]
แสดงความคิดเห็น