Peace News

ยกฟ้อง “ธาริต” ชี้หลักฐานอ่อน
สั่งไม่ผิด ม.157 เชื่อปฏิบัติชอบ


ศาลอาญา ยกฟ้อง “ธาริต” ปม “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ฟ้องเจตนากลั่นแกล้ง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ศาลชี้โจทก์ไม่มีสิทธิ์สั่งใช้กระสุนจริง แม้ผู้ชุมนุมจะกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ระบุผิดคดีอาญาบุคคล เข้าข่ายฆาตกรรม

เมื่อ 25 ก.ย. 2561 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดฟังคำพิพากษา คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ทั้งนี้โจทก์สรุปฟ้องว่า จากกรณีเดือนกรกฎาคม 2554 ถึง 13 ธันวาคม 2555 จำเลยทั้ง 4 คน ในฐานะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ร่วมกันสอบสวนสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ตั้งข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่า การแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

“คดีนี้ศาลอาญา พิเคราะห์จากพยานหลักฐาน และการนำสืบแล้ว พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในฐานะโจทก์ ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้ง พยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง”

นอกจากนี้ พยานหลักฐานบางส่วนที่โจทก์นำมากล่าวอ้าง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งฟ้องของจำเลย เช่น การชุมนุมของ นปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อกล่าวหา และโจทก์เองไม่มีสิทธิ์สั่งการ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ เช่นการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม

ขณะที่การแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยมิได้ใช้ดุลพินิจเพียงลำพังแต่ทำในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งมีมติตั้งคณะกรรมการคดีพิเศษ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการร่วมประชุม จึงมีมติสั่งคดีเพื่อส่งอัยการให้พิจารณาตามกระบวนการ

“ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นเพียงมุมมองทางกฎหมายเพราะฝ่ายจำเลยก็อ้างเช่นกันว่า คดีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่แต่เป็นความผิดทางอาญาของบุคคล เข้าข่ายคดีฆาตกรรม”

ส่วนกรณีที่อ้างว่าจำเลยดำเนินการสั่งฟ้องโดยสนองตอบต่อนโยบายของฝ่ายการเมือง จนนำมาสู่การได้นั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษต่ออีก 1 ปี ก็เป็นเพียงความเห็นของโจทก์เท่านั้น เพราะการต่ออายุนั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเป็นมติคณะรัฐมนตรี และมีบุคคลในหน่วยงานราชการจำนวนมากที่ได้ดำรงตำแหน่งเพิ่มเติม ไม่ใช่เฉพาะเพียงจำเลยเท่านั้น

PEACE NEWS

ติดตามPEACE NEWS ผ่านช่องทาง SOCIAL MEDIA ได้ที่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.