Posted: 16 Sep 2018 10:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-17 00:17
ป้าย บูรพาไม่
15 กันยายน 2561
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธานคณะกรรมการ ฯ และเป็นประธานในการประชุม ดังกล่าว โดยมีการประชุมหลายเรื่อง แต่ผมมองว่ามีประเด็นสำคัญ ที่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ที่ถูกอภิปรายในที่ประชุมไม่ใช่ข้อเท็จริง ที่เป็นจริง 2 ประเด็น คือ 1.) กระบวนการแก้ไขปัญหา 5 ขั้นตอน และ 2.) การให้จ่ายค่าชดเชยให้กับสมาชิก กลุ่มคนทาม จำนวน 428 แปลง ซึ่งทั้งสองประเด็นถูกตีกลับ ให้มาพิจารณาในระดับอนุกรรมการใหม่อีกครั้ง
การอภิปรายในสองประเด็น ฝ่ายที่ผลักดันก็อ้างความชอบธรรมจากบรรทัดฐาน ที่เคยมีการจ่าย ค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 นั้นคือความเลวร้าย ที่ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เขื่อนหัวนาจะต้องไม่ผิดพลาด ซ้ำแบบที่เคยเกิดขึ้นแบบที่เขื่อนราษีไศลอีก
ต่างฝ่ายต่างถกเถียงกันและสุดท้าย เรื่องก็ถูกตีกลับ ผมนั่งฟังการถกเถียงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทุกคนที่พูดนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องจริงที่เป็นความจริงสักคน แต่ละฝ่ายหยิบยกข้ออ้างเฉพาะบางส่วน ที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เอาเฉพาะส่วนที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ มาอ้างสนับสนุนเหตุผลข้างฝ่ายตน
ค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ที่จ่ายให้กับชาวบ้านสมัชชาคนจน จำนวน 1,154 ราย เป็นเงิน 363,484,000 บาท เมื่อปี 2540 ที่ผ่านมานั้นถูกนำมาเป็นเครื่องมือของหลายฝ่าย ทั้งชาวบ้าน ชลประทาน ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ นักการเมือง สื่อมวลชน แต่ละฝ่ายล้วนอ้างเอาข้อมูลเพียงแค่บางส่วนที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ มากล่าวอ้าง จนทำให้ข้อเท็จจริง พร่ามัว กลายเป็นข้อกังขามาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ว่าใครผิด ใครถูก ใครเป็นเหยื่อ “ใครแพะ ใครแกะ” ข้อเท็จจริง ๆ คืออะไรกันแน่ และใครคือคนที่รู้ความจริง และใครจะเป็นคนพูดความจริง ในเรื่องนี้
ผมเฝ้ามองและจับตาความเคลื่อนไหวนี้ มาตลอดเวลา และบ่อยครั้งที่ต้องทนนั่งฟัง คำก่นด่าจากความไม่รู้จริงของหลายคน หลายฝ่ายที่ต่าง สาดเสีย เทเสีย หรือแม้แต่กระทั่งประนามการจ่ายค่าชดเชยครั้งดังกล่าว โดยที่ไม่ได้อ้าปากพูดสักแอะ เพราะคู่สนทนาเขาเลือกที่จะเชื่อแบบนั้นไปแล้ว ที่สำคัญคนพูดก็ไม่ได้จะถามผมสักคำว่าผมรู้เรื่องนี้ไหม อย่างไร ก็เมื่อไม่ถาม ผมก็เลยปล่อยให้เขาเหล่านั้น เชื่อเช่นนั้นต่อไป
จากเหตุการณ์การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ที่เกิดจากเขื่อนหัวนา แต่ก็ใช้เหตุการณ์การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล มาอ้างตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล กำลังเป็นตัวประกัน ที่กำลังก่อตัวเป็นกำแพงของความเชื่อที่ผิด ๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรค ขัดขวางการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา ในอนาคต ผมจึงขอไล่เรียงเหตุการณ์ (เฉพาะส่วนที่สำคัญ) การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เมื่อปี 2540 ว่าเขาทำกันอย่างไร
....เขื่อนราษีไศล เป็น 1 ใน 22 เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2535 แล้วเสร็จและเริ่มเก็นกักน้ำในปลายปี 2536 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 อธิบดีกรมพัฒนา ฯ นายประเทศ สูตะบุตร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโคงการฝายราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการ ฯ และคณะทำงาน ฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบมีการยื่นคำร้อง การสอบสวนสิทธิ์ โดยใช้แบบฟอร์มการสอบสวนสิทธิ์ ของ สปก. มาใช้โดยมีการเซ็นต์รับรองข้อมูลของที่ดินข้างเคียง หรือพยานซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชน มีการลงรูปแปลงที่ดินในแผนที่เพื่อระบุที่ตั้งที่ดิน
เมษายน 2539 ในคราวการชุมชน 99 วัน ของสมัชชาคนจน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ได้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กลุ่มเขื่อน ซึ่งกรณีการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล ซึ่งสังกัดกรมพัฒนา ฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ซึ่งกรมพัฒนา ฯ ไม่มีระเบียบในการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ที่ไม่มีเอกสาร แม้จะเป็นที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่ประชุมจึงเสนอให้นำเอาหลักเกณฑ์ การดำเนินงานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ฯ (มติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532) ที่ใช้อยู่ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล และต่อมารัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติ ครม. 22 เมษายน 2539 ให้นำเอา มติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532 ของกรมชลประทาน มาใช้แก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล
จากนั้นในพื้นที่ คณะทำงาน ฯ ก็ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเข้าสู่ขั้นที่คณะทำงาน ฯ รับรองผลการตรวจสอบ จากนั้นนำไป การประกาศให้มีการคัดค้าน 30 วัน พร้อม ๆ กับการพิจารณาเพื่อกำหนดราคา ค่าชดเชย ควบคู่กันไปด้วย และขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังกล่าว ได้ถูกนำมาเรียกว่า “กระบวนการ 5 ขั้นตอน” ในเวลาต่อมา
กุมภาพันธ์ 2540 สมัชชาคนจน จัดชุมนุม “มหกรรมทวงสัญญา” ขึ้นที่หน้าทำเนียบ ซึ่งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล ถูกนำมาขึ้นโต๊ะเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลโดยมีนายอดิศร เพียงเกษ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนสมัชชาคนจน
การเจรจาแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล ในช่วงนั้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ คณะทำงาน ฯ ขึ้นหลายชุดเพื่อตรวจสอบข้อมูล และการจัดทำรายละเอียด ต่าง ๆ จนกระทั่งวันที่ 28 เมษายน 2540 การเจรจาก็ยุติลง โดยมีข้อสรุป จำนวน 4 ข้อ โดยจะขอยกมาเพียง 1 ข้อ คือการ เห็นชอบให้มีการจ่ายค่าชดเชย ให้กับชาวบ้าน จำนวน 1,154 ราย จำนวนเงิน 363,484,000 บาท และข้อสรุปดังกล่าว ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 29 เมษายน 2540 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มี มติ ครม. เห็นชอบผลการเจรจา โดยให้ใช้ “งบกลาง” (รายการเงินฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน) และให้ดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ( หมายเหตุ : การลงมติ ผู้แทน พพ. (กรมพัฒนา ฯ) จะงดใช้สิทธิ์ ทุกครั้ง)
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอน การจ่ายเงินซึ่งหน่วยงานที่จะต้องทำเรื่องการจ่ายเงินจะต้องเป็นหน่วยงานเบิกจ่าย แต่กรมพัฒนา ฯ ไม่ยอมตั้งเรื่องเบิกจ่ายเงินค่าชดเชย ทำให้การจ่ายค่าชดเชย ดำเนินการไม่ได้ จนกระทั่งมีการเจรจาเรื่องการจ่ายเงินอีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานเบิกจ่าย เงินค่าชดเชยจากกรมพัฒนา ฯ มาเป็นสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ และโดยนำข้อสรุปดังกล่าวนี้ เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานเบิกจ่ายจาก พพ. มาเป็น สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ขึ้น
คณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้กำหนดจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2540 ณ ห้องประชุมโรงเรียนราษีไศล อำเภอราษีไศลทจังหวัดศรีสะเกษ แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าชดเชย ก็เกิดเหตุการณ์มีกลุ่มมวลชน โดยการนำของนายมานะ มหาสุวีระชัย สส.จังหวัดศรีสะเกษ มาขัดขวางการจ่ายค่าชดเชย จนเกิดความวุ่นวายไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้ และได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว นายอดิศร เพียงเกษ รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร ฯ และประธานคณะกรรมการจ่ายเงินค่าชดเชย จึงได้ตั้งคณะทำงาน ฯ ตรวจสอบการคัดค้านดังกล่าว ในแล้วเสร็จภายใน 3 วัน (ให้เสร็จภายในวันที่ 18 กันายน 2540) และกำหนดให้นัดจ่ายเงินอีกครั้ง ในวันที่ 19 กันยายน 2540 ณ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ
18 กันยายน 2540 คณะทำงานตรวจสอบการคัดค้านได้สรุปผลการตรวจสอบ โดยการคัดค้าน ดังกล่าวฟังขึ้นเพียง 1 ราย นอกจากนั้น การคัดค้านเป็นโมฆะ ซึ่งคณะทำงาน ฯ ได้หาทางออกว่า เนื่องจากพบปัญหาเพียงแค่ 1 ราย ซึ่งไม่ควรกระทบต่อการจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ชาวบ้านส่วนมาก จึงได้ทำตกลงกับผู้ถูกคัดค้านว่า จะคืนเงินส่วนที่ ครม.อนุมัติเกินมา คืนแก่ทางราชการ พร้อมกับให้เดินหน้าจ่ายเงินค่าชดเชย ในวันที่ 19 กันยายน 2540 ต่อไป
19 กันยายน 2540 ขณะที่กำลังเตรียมการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มมวลชน โดยการนำของนักการเมืองคนเดิม มาขัดขวางการจ่ายเงินค่าชดเชยอีกครั้ง จนเกิดการปะทะกัน มีการบาดเจ็บ และช๊อคไปจำนวนมาก เหตุการณ์ชุลมุน ไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยได้ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ปิดทำการในทันที ขณะที่ชาวบ้านสมัชชาคนจน (เขื่อนราษีไศล) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อรอรับค่าชดเชย ต่อไป
ปลายเดือนกันยายน 2540 ขณะที่ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ปักหลักรอรับค่าชดเชยที่ข้างทำเนียบรัฐบาล กรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับคำร้องจากนักการเมืองคนเดิม ที่ร้องให้คณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ตรวจสอบ ยับยั้งการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล โดยอ้างข้อมูลกรณีมีผู้ถูกคัดค้านจำนวน 1 ราย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ได้เรียกผู้แทนของกลุ่มสมัชชาคนจน เข้าไปชี้แจงในที่ประชุม ซึ่งผู้แทนกลุ่มสมัชาคนจน ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และให้รัฐบาลเดินหน้า จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ต่อไป
ต้นเดือนตุลาคม 2540 คณะกรรมาธิการงบประมาณ ฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบ และทำหนังสือถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ให้ระงับ ชะลอการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ออกไปก่อน
จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลกับตัวแทนสมัชชาคนจน จึงได้หารือกันและได้ให้ผู้ที่ถูกคัดค้าน ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่ สน.นางเลิ้ง ว่า “จะคืนเงินค่าชดเชยที่รับเกินมาแก่หน่วยงานราชการ” จากนั้นได้มีการนำเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. อีกครั้ง ในวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินค่าชดเชย ต่อไป ซึ่งในขณะนั้นมีการชุมนุมอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รอรับค่าชดเชย ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ข้างคลองเปรมประชากร บริเวณที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงาน ปปช. ส่วนกลุ่มที่มาคัดค้านการจ่ายเงิน ค่าชดเชยปักหลักชุมนุมอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาตร์ ฯ
ช่วงเย็นของวันที่ 7 ตุลาคม 2540 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยต่อแล้ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เข้าพบ ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการหารือ เพื่อกำหนดวัน เวลา และ สถานที่จ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล โดยมีสถานที่ ที่ถูกพิจารณาหลายแห่ง ดังนี้ กองทัพบก กระทรวงศึกษา ฯ กระทรวงเกษตร ฯ แต่เจ้าของสถานที่ทั้ง 3 แห่ง ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการจ่ายค่าชดเชย ที่ประชุมจึงกำหนดให้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชย ในที่ชุมนุม จุดก่อสร้างสำนักงาน ปปช. โดยขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาปิดล้อมสถานที่จ่ายเงินค่าชดเชย พร้อมกับกำหนดจ่ายเงินในวันถัดมา
การจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ดำเนินการขึ้นโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกัน ขณะที่รอบนอกมีกลุ่มผู้คัดค้านจำนวนมาก ที่พยายามจะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจ เพื่อเข้ามาขัดขวาง การจ่ายเงินค่าชดเชย แต่ไม่สามารถฝ่าแนวกั้นได้ ในขณะเดียวกัน ได้มีการเรียกแกนนำกลุ่มคัดค้านไปประชุมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบ ข้อมูลของกลุ่มผู้คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มที่คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งทางกลุ่มผู้คัดค้านการจ่ายค่าชดเชย พอใจ และเดินทางกลับบ้าน ขณะที่การจ่ายค่าชดเชยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ดำเนินต่อไป
วันต่อมาการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้ย้ายสถานที่จากหน้าทำเนียบรัฐบาล มาเป็นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ซึ่งเริ่มพบปัญหาใหม่คือ ชื่อคนรับค่าชดเชยไม่ตรงกับรายชื่อในเช็ค (ชื่อที่เสนอ ครม. กับชื่อในบัตรประชาชน และในทะเบียนบ้านตรงกัน แต่ชื่อในเช็คเขียนผิด) ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับเช็คเงินค่าชดเชยได้ จำนวนกว่า 200 ราย และนอกจากนี้ ชาวบ้านที่ได้รับเช็คเงินค่าชดเชย (เช็คธนาคารกรุงไทยสาขาศรีสะเกษ) แล้วนำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ไม่สามารถขึ้นเงินได้ ทราบต่อมาว่าเช็คค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ได้ถูกอายัดไว้โดยปลัดจังหวัดศรีสะเกษ (นายวรงค์ ) ซึ่งต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แจ้งไปยังธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ ให้ถอนอายัดเช็คเงินค่า ชดเชยทั้งหมด ชาวบ้านจึงสามารถขึ้นเงินได้ ส่วนกรณีการเขียนชื่อผิด ซึ่งเปิดความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ มท.1 (เสนาะ เทียนทอง) จึงสั่งการให้ปลัดอำเภอจาก 5 อำเภอ เดินทางด่วนเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อมารับรองชื่อให้แก่ชาวบ้าน ที่เขื่อนชื่อผิดในเช็คเงินค่าชดเชย การจ่ายค่าชดเชย จึงดำเนินการต่อไปได้
15 ตุลาคม 2540 การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เสร็จสิ้นชาวบ้านเดินทางกลับภูมิลำเนา
พฤศจิกายน 2540 เกิดวิกฤติการเมือง จากเหตุการณ์การ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ทำให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการเลือก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ธันวาคม 2540 มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2541 เสรี เตมียเวส ผบ.สอบสวนกลาง (น.1) ได้ระดมกำลังตำรวจไปตรวจสอบ สอบปากคำชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ที่ได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้ว โดยมีการจับชาวบ้านถ่ายรูป สารพัดรูปแบบ และในเดือนมีนาคม 2541 ชาวบ้านที่ได้รับเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ไม่ไว้ใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงพากันแห่ถอนเงิน ออกจากธนาคารกรุงไทยสาขาศรีสะเกษ
21 เมษายน 2541 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีมติ ครม.ไม่จ่ายเงินให้กับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว
2541 มีการแจ้งความดำเนินคดี กับนายอดิศร เพียงเกษ และคณะ ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล มีการตอบโต้ กล่าวหา เรื่องราวค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล กลายเป็นประเด็นขึ้นหน้าหนึ่ง ติดต่อกันนานหลายเดือน
สิงหาคม 2542 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ประกาศตั้งหมู่บ้าน “แม่มูนมั่นยืน 2” ขึ้น ที่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล เรียกร้องให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ให้หมด เพื่อพิสูจน์ความจริง
มีนาคม 2543 ขณะที่การชุมนุมกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลดำเนินต่อไป กรมพัฒนา ฯ ได้ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับเงินค่าชดเชยมา ในข้อหา “ลาภมิควรได้”
เวลา 02.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล ได้ยกพลขึ้นจากที่ชุมนุมอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล บุกเข้ายึดที่ทำการเขื่อนราษีไศล เจ้าหน้าที่เขื่อนราษีไศล หลบหนีออกจากที่พัก สำนักงานเขื่อนราษีไศลร้าง
ต้นเดือนกรกฎาคม 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เดินทางมาเจรจากับแกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล และต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มี มติ ครม. 2 เรื่อง (โดยสรุป) คือ กรณีเขื่อนราษีไศล ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน ไปจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ และ กรณีเขื่อนหัวนา ให้ชะลอการดำเนินการใด ใด เกี่ยวกับเขื่อนหัวนาไว้ก่อน และให้เร่งตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากโครงการเขื่อนหัวนา ชาวบ้านพอใจ จึงย้ายที่ชุมนุมจากสันเขื่อนราษีไศล มาตั้งหมู่บ้านชุมนุมที่ “ดอนโจด” ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านเหล่าโดน ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ประมาณ เดือนเมษายน 2544 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เดินทางไปยื่นคำให้การต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ จากกรณีที่กรมพัฒนา ฯ ฟ้องเรียกเงินคืน
ปี 2445 ศาลจังหวัดศรีสะเกษได้พิจารณาคำฟ้อง ของกรมพัฒนา ฯ ที่ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชย คืนจากชาวบ้าน และให้เหตุผลว่า (เป็นการประมวลสรุป) “กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล เป็นการดำเนินงาน ทางการปกครอง จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจการพิจารณา ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ” และส่งสำนวนคำฟ้อง ไปยังศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา
ปีเดียวกันศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ได้พิจารณาสำนวนคำฟ้อง ของกรมพัฒนา ฯ ที่ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชย คืนจากชาวบ้าน และให้เหตุผลว่า (เป็นการประมวลสรุป) “ประเด็นการพิพาทเป็นเรื่องเงินค่าชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องทรัพย์สินและการได้มาของทรัพย์สิน ไม่ใช่เรื่องทางการปกครอง จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจ การพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา” จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบไป
จากนั้นก็มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการใหม่ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลัง ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงพลังงาน ส่วนเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ก็ถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มาจนถึงปัจจุบัน.....
ดังนั้นจากที่ผมกล่าวไว้เบื้องต้นว่า 2 ประเด็นที่อยากอธิบายในที่นี้คือ
1.) กระบวนการ 5 ขั้นตอน ที่มีการพยายามอ้างถึงนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ขั้นตอนที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นการสรุปกระบวนการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งอ้างอิงรูปแบบ และวิธีการดำเนินงานของสำนักงานที่ดิน กับ สำนักงาน สปก. เพื่อที่จะให้ทราบถึงเจ้าของสิทธิ์ หรือ เจ้าของที่ดิน ในขณะที่กรมพัฒนา ฯ ไม่เคยให้ความร่วมมือ หรือ มีข้อเสนอ หรือ แนวทาง ดำเนินการ ใด ใด เลย
2.) การที่บางฝ่ายอ้างว่า กรมพัฒนา ฯ เคยจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล มาแล้ว ทำไม จ่ายได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น กรมชลประทานก็ต้องจ่ายเหมือนที่เคยจ่ายให้เขื่อนราษีไศลได้ ซึ่งตรงนี้ควรเข้าใจใหม่นะครับว่า กรมพัฒนา ฯ ไม่เคยยอมรับการจ่ายเงินค่าชดเชย เขื่อนราษีไศล มาโดยตลอด ส่วนที่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยนั้น ก็เป็นการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น (ดังรายละเอียดด้านบน) ซึ่งดำเนินการถูกต้อง ตามระเบียบของทางราชการ ทุกขั้นตอน แต่จะนำมากล่าวอ้างดังเช่นที่อ้างกันจึงไม่ถูก
ทีนี้กลับมาเรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา ที่มักจะมีภาพหลอนจากเขื่อนราษีไศล ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีข้อเท็จจริง ที่มีบริบทแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น การจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ดำเนินการในขณะที่เขื่อนเก็บกักน้ำมานานหลายปี ทำให้สภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง และยังดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ในขณะที่เขื่อนยังเก็บกักน้ำอยู่ ในขณะที่เขื่อนหัวนา ยังไม่มีการเก็บกักน้ำ สภาพพื้นที่ยังอยู่ในสภาพเดิม การตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าเขื่อนราษีไศล และนอกจากนี้ ผมอยากให้เข้าใจว่าที่ผ่านมา กรมพัฒนา ฯ เขาไม่ได้คัดค้านการจ่ายเงินค่าชดเชย แต่สิ่งที่กรมพัฒนา ฯ ทำมาตลอดคือ “การงดออกเสียง”
การงดออกเสียง ต่างจากการคัดค้าน เพราะสาเหตุที่กรมพัฒนา ฯ ไม่สามารถคัดค้านได้ เป็นเพราะกรมพัฒนา ฯ ไม่มีระเบียบ ซึ่งระเบียบที่ถูกนำใช้เป็นของกรมชลประทาน (มติ ครม.11 กรกฎาคม 2532) ส่วนที่ทางชลประทานคัดค้านข้อเสนอทีม คนทามนั้น เพราะชลประทานเขามีระเบียบของเขาอยู่แล้ว การที่จะให้ชลประทานทำตามข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของชลประทาน ชลประทานจึงทำไม่ได้ และตรงนี้ ชลประทานจึงคัดค้าน ส่วนหากมองว่าระเบียบของชลประทาน ไม่เป็นธรรม อันนี้ก็ต้องไปว่ากันเรื่องการแก้ไขระเบียบของชลประทานใหม่ ก็แค่อยากให้เข้าใจใหม่ที่ถูกเท่านั้นเอง !!!!
สำหรับเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ให้กับสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล จำนวน 1,154 ราย เป็นเงิน 363,484,000 บาท นั้น มันไม่ได้จ่ายง่าย ๆ แบบที่เข้าใจผิดๆ กันมาตลอด ว่าไปชี้ ชี้ เอา ก็ได้เงินแล้ว และยังมีการโยนบาปให้ชาวบ้านอีก ซึ่งวันนี้ (15 กันยายน 2561) เป็นวันครอบรอบ 21 ปี วันจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้ แต่ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เขาไม่ยอมจำนนท์ และเดินหน้าต่อสู้ จนกระทั่งการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นในเวลา ต่อมา
มาถึงตรงนี้ผมคงไม่สรุปว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือว่า “ใครเป็นแพะ” หรือ “ใครเป็นแกะ” เพียงแค่อยากให้ตระหนักสักหน่อยว่า การที่คนกลุ่มแรก ได้บุกเบิก ฝ่าฟัน ปัญหาอุปสรรค มาขนาดนี้ จนสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น และนำมาสู่การจ่ายค่าชดเชย อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล กลุ่มแรก เป็นผู้ถากถางแนวทางนี้ไว้เหรอ พวกคุณท่านทั้งหลายจึงได้เดินตามรอยเท้ามาถึงทุกวันนี้ แต่หากจะก๊อปปี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา เขื่อนหัวนา ผมมองว่ามันเก่าไป คงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ขณะนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัย และวิธีการที่ดี กว่าแต่ก่อนเยอะแยะ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ก็ไม่ควรจมปลักจนมองไม่เห็นความเป็นไปของ
ปัจจุบัน มี 3 คำ ที่อยากให้ใช้
“เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สรรค์สร้างอนาคต”
แล้วปัญหาเขื่อนหัวนา จะได้รับการแก้ไข อย่างยุติธรรม
เครดิตภาพ: กลุ่มเพื่อนประชาชน เป็นภาพการเข้าร่วมชุมนุมของชาวบ้านราษีไศลครั้งแรก[full-post]
แสดงความคิดเห็น