Posted: 14 Sep 2018 07:22 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-09-15 09:22


สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่ฟ้องสภาการพยาบาล เพราะต้องการจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ยืนยันสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ - หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561

15 ก.ย. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ขอให้มีเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับข้อร้องทุกข์และจัดทำประชาวิจารณ์ ขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2540 แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลมีมติไม่สามารถเปิดการประชุมดังกล่าวได้ ทำให้ตัวแทนของสหภาพพยาบาลฯ ได้ทำการยื่นฟ้องกรรมการสภาการพยาบาล ณ ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (คดีหมายเลขดำที่ 1198/2559) ซึ่งองค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดี มีตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีนี้เป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในศาลปกครอง การวินิจฉัยของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน โดยองค์คณะได้นัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. 2561

ทั้งนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่สหภาพพยาบาลฯ ฟ้องสภาการพยาบาล ว่ามีที่มาจากการที่สหภาพพยาบาลฯ ในนามผู้แทนพยาบาลไทยที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอให้สภาการพยาบาลจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อคำขอนั้นไม่เป็นผล สหภาพยาบาลฯ จึงหวังพึ่งศาลปกครองให้เป็นตัวกลางช่วยแก้ไขปัญหานี้

ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อภาคปฏิบัติงานให้บริการคนไข้ ต่อความรู้สึกของพยาบาลไทยที่ปฏิบัติงานให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมมาโดยตลอด ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการให้บริการเต็มศักยภาพทำภาระงานที่ล้นมือ ด้วยหัวใจที่มุ่งหมายให้ผู้ป่วยปลอดภัย

ดังตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อเดือน ก.ย. 2560 มีกรณีพยาบาลถูกจับกุมขณะเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม [1] และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่บั่นทอนความรู้สึกของพยาบาลมากคือข่าวการแห่ศพประท้วงวิสัญญีพยาบาลที่ทำหน้าที่ให้ดมยาสลบ เมื่อเดือน ม.ค. 2561 [2]

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยระบุว่านี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นปัญหาโดยเด่นชัดว่าทำไมพยาบาลไทย จึงต้องการเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้คุ้มครองพยาบาลที่ทำงานโดยแท้จริง โดยสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ
หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561

นอกจากนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยยังได้จัดการรณรงค์ออนไลน์ลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊คของสหภาพ ร่วมกับชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

โดยในวันที่ 11 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาล ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลวิสัญญี ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งในภาคการศึกษาและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานของพยาบาล โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น ดังนี้

1.มาตรา 22 (5) ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ขอเพิ่มเติมข้อความ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล

2.เห็นด้วยตาม มาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในการแยกประเภทยาเป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายยาได้

3.ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

“หลักการในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้งหมด ทางสภาการพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันจะมีอยู่ 2 ข้อ คือมาตรา 22 (5) และมาตรา 4 ให้มีการเพิ่มเติมตามที่เสนอ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล วิชาชีพพยาบาลเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านวินิจฉัย รักษา จ่ายยา เบื้องต้นแก่ประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การวางมาตรการการขายยาออนไลน์ การวางมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แต่คนพูดถึงกันน้อยและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยภาพรวมของการทำงานเจตนารมณ์ของพยาบาลกับกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.