Posted: 11 Sep 2018 11:19 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-12 13:19


ชำนาญ จันทร์เรือง

ข่าวการจับกุมสองแม่ลูกโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยอ้างเหตุว่าสวมใส่และขายเสื้อของสหพันธรัฐฯ จึงมีคำถามต่อนักรัฐศาสตร์ให้ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยว่าสหพันธรัฐที่ว่านั้นคืออะไรหรือ ไหนๆก็จะตอบคำถามนั้นเรามาเข้าใจคำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ รัฐเดี่ยว รัฐรวม สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐไปในคราวเดียวกันไปเสียเลยดีกว่า

คำว่า รัฐ ชาติ และประเทศ (state, nation and country) เรามักจะใช้สลับสับเปลี่ยนปะปนกันไปมาอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่คำว่ารัฐ ชาติ และประเทศ มีความหมายทางรัฐศาสตร์ที่แตกต่างกัน

1.รัฐ (state) ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 ประการ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย ในทางวิชาการความหมายของรัฐนั้นจะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง หมายความว่า ประชาชนอยู่ภายใต้ระบบการเมืองและอธิปไตยเดียวกัน รวมทั้งการมีเอกราชเต็มที่ รัฐจะมีสถานะของตนเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการที่จะเป็นรัฐๆ หนึ่งขึ้นมาได้จะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆ ด้วย ฉะนั้น รัฐจึงสูญสลายหรือเกิดใหม่ได้ไม่ยากนัก เช่น สิงคโปร์ หรืออิสราเอล แม้กระทั่งติมอร์ตะวันออกก็เพิ่งก่อตั้งเป็นรัฐมาเมื่อไปไม่นานมานี้เอง

การที่จะพิจารณาว่าเป็นรัฐหรือไม่ จำนวนประชากรหรือขนาดพื้นที่มิใช่สิ่งสำคัญ นครรัฐวาติกัน มีเนื้อที่เพียง 0.4 ตารางกิโลเมตร ประชากรพันกว่าคนก็มีสภาพเป็นรัฐ สหภาพโซเวียตเคยเป็นรัฐใหญ่ที่สุดมีดินแดน 22 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ประมาณ 9.5 ล้านตารางกิโลเมตร ก็เป็นรัฐเช่นเดียวกันกับนครรัฐวาติกัน หรือ รัฐติมอร์ตะวันออก หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว

เราสามารถแบ่งลักษณะของรูปแบบของรัฐได้เป็น 2 อย่างคือ รัฐเดี่ยวกับรัฐรวม

1.1 รัฐเดี่ยว (unitary state) มีรัฐบาลเพียงระดับเดียวในการใช้อำนาจอธิปไตย เช่น ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ

1.2 รัฐรวม (compound หรือ composite state) มีรัฐบาล 2 ระดับ คือรัฐบาลท้องถิ่นหรืออาจเรียกว่ารัฐบาลมลรัฐกับรัฐบาลกลาง ซึ่งรัฐบาลในทั้ง 2 ระดับมีอำนาจโดยเฉพาะตน โดยรัฐธรรมนูญในประเทศนั้นๆจะกำหนดไว้ว่ารัฐบาลในทั้ง 2 ระดับมีอำนาจในการใช้อธิปไตยครอบคลุมกิจการอะไรบ้าง โดยรัฐรวมแบ่งเป็นสมาพันธรัฐ (Confederation) และสหพันธรัฐ (Federation)

1.2.1 สมาพันธรัฐ (Confederation)
สมาพันธรัฐเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐต่างๆ ตามสนธิสัญญา โดยรัฐสมาชิกต้องมีความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงจะเกิดการดำเนินกิจกรรมของสมาพันธ์ได้ และมีสภาผู้แทนรัฐบาลของรัฐสมาชิกเป็นองค์กรทำหน้าที่ต่างๆ ในนามของรัฐสมาชิก โดยที่รัฐสมาชิกยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ สภาผู้แทนของรัฐสมาชิกไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมการกระทำภายในรัฐสมาชิก นอกจากนี้ แต่ละรัฐมักจะมีความร่วมมือกันในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ด้านความมั่นคง หรือนโยบายเศรษฐกิจ เป็นต้น

สมาพันธรัฐ ได้แก่ สมาพันธรัฐอเมริกาในช่วงแรกของการประกาศอิสรภาพปี 1776 แต่พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จปี 1787 ก็กลายมาเป็นสหพันธรัฐ ,สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนปี 1846(ปัจจุบันยังใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าสมาพันธรัฐสวิสอยู่แม้ว่ารูปแบบจะเป็นสหพันธรัฐก็ตาม) หรือ สมาพันธรัฐเยอรมันช่วงปี 1815 – 1866 ส่วนในปัจจุบันสหภาพยุโรปก็มีลักษณะของสมาพันธรัฐ

1.2.2 สหพันธรัฐ (Federation)
สหพันธรัฐเป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ โดยรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างรัฐขึ้นมาใหม่ให้มีอำนาจอธิปไตยอยู่เหนือรัฐเดิมที่มารวมตัวกันนั้น โดยที่รัฐต่างๆ ที่รวมตัวกันจะสละอำนาจอธิปไตยของตนให้แก่รัฐที่สร้างขึ้นใหม่นี้ เพื่อทำหน้าที่แทนตน ตัวอย่างของระบบรัฐแบบนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกานับจากปี 1787 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน

ระบบสหพันธรัฐทำให้เกิดมีรัฐ 2 ระดับขึ้นภายในโครงสร้างภายในของรัฐรวมนั้นเสมอ ได้แก่ รัฐระดับบน คือ รัฐที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งมักจะเรียกกันว่ารัฐบาลกลางหรือรัฐสหพันธ์ และรัฐระดับล่างได้แก่รัฐสมาชิกต่างๆ นั่นเอง ซึ่งมักจะเรียกกันว่ามลรัฐหรือรัฐ

องค์กรต่างๆ ภายใต้ระบบสหพันธรัฐจะมีโครงสร้างที่ซับซ้อน รวมทั้งการมีองค์กรที่มีชื่อเรียกเดียวกัน และมีการหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 ระดับเสมอ เช่น รัฐสภา จะมีทั้งรัฐสภาในระดับสหพันธ์ และรัฐสภาในระดับรัฐ เช่นเดียวกับรัฐบาล และศาล เป็นต้น ซึ่งจะมีศาลสูงทั้งของรัฐ และศาลสูงของสหพันธรัฐดำรงอยู่คู่ขนานกัน

นอกจากนั้นเรายังสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐตามลักษณะประมุขของรัฐได้เป็นรูปแบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเราเรียกว่า “ราชอาณาจักร (Kingdom)” เช่น ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา ฯลฯ กับรูปแบบ “สาธารณรัฐ (Republic)” ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ

หลายคนเข้าใจผิดว่ารัฐรวมจะมีกษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะมาเลเซียในระยะเริ่มแรกก็ใช้ชื่อว่าสหพันธรัฐมาเลเซียโดยมีพระราชาธิบดีหรือกษัตริย์ซึ่งหมุนเวียนกันเป็นประมุขมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับออสเตรเลียกับแคนาดาก็ยังมีกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรเป็นประมุขอยู่ แม้ว่าจะไม่มีบทบาทใดๆแล้วก็ตาม

2.ชาติ (nation) นั้นจะเน้นไปที่ความผูกพันกันในทางเชื้อชาติ (race) หรือสายเลือด เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดหลักประเพณีร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ชาติจึงไม่สูญสลายไปง่ายๆ ดังเช่นความเป็นรัฐ ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือแม้ว่าจะไม่มีรัฐมอญปรากฏบนแผนที่โลก แต่ในความเป็นจริง "ชาติมอญ" ยังคงอยู่ทั้งในพม่า หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย คำว่าชาตินี้เองมักจะเป็นต้นเหตุของปัญหา เพราะแต่ละชาติก็อยากเป็นใหญ่ แต่ละชาติก็อยากสร้างรัฐ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยม และในหลายๆ ครั้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง

3.ประเทศ (country) ส่วนคำว่าประเทศนั้น มีความหมายเน้นหนักไปในด้านดินแดน ดังนั้นประเทศจึงเป็นแหล่งรวมของชาติ และก่อให้เกิดรัฐขึ้น ตัวอย่างความแตกต่างระหว่างรัฐกับประเทศที่เห็นชัดก็คือไต้หวัน ซึ่งเมื่อดูองค์ประกอบต่างๆ แล้วไต้หวันมีประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตยภายใน แต่ขาดอำนาจอธิปไตยภายนอกซึ่งก็คือ การรับรองจากรัฐอื่นและสหประชาชาติ ฉะนั้น ในทางรัฐศาสตร์แล้วไต้หวันจึงอยู่สถานะที่มิใช่เป็นรัฐแต่มีสภาพเป็นประเทศ แม้ว่าจีนจะถือว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้นก็ตาม

การที่ประเทศใดจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวมขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศนั้นๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือเจตนารมณ์หรือฉันทามติของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้ประเทศของตนเป็นรัฐแบบไหน แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญก็คือกฎหมาย และกฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อมนุษย์สร้างขึ้นมนุษย์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอน่ะครับ[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.