Posted: 20 Sep 2018 09:36 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-20 23:36


ใบตองแห้ง

12 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จาก “รัฐประหารเสียของ” 19 กันยา 2549 ผ่านการเลือกตั้ง 2 ครั้ง 3 รัฐบาล สู่รัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 “เราจะทำตามสัญญา” สี่ปีกว่าเกือบห้าปี กำลังจะมีเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางความดีอกดีใจของนักลงทุน หุ้นพุ่งทั้งกระดาน

ก็ยังงงๆ ว่าดีใจอะไรกัน แค่คำว่า “เลือกตั้ง” ทั้งที่เมื่อก่อน คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมีด่าขรม “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง” ประชาชนใช้อำนาจ 2-3 วินาที มาวันนี้ กลับดีใจที่มีเลือกตั้ง ทั้งที่เห็นกันว่าไม่ค่อยจะเหลือประชาธิปไตย

จะว่าอยากเลือกตั้งก็ไม่ใช่ เพราะตอนม็อบอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหว ทวงสัญญา พ.ย.61 ภาคธุรกิจก็โวยวาย บ่อนทำลายเศรษฐกิจ แต่ไม่กี่เดือนผ่านไป กลืนน้ำลายกันหน้าตาเฉย มีเลือกตั้งทำให้เศรษฐกิจดี

21 ปีที่แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนได้เลือกทั้ง ส.ว. ส.ส. ทั้งเขตเดียวเบอร์เดียว และบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการเลือกพรรค ที่หาเสียงด้วยนโยบาย ได้รัฐบาลเข้มแข็ง ที่ทำให้นโยบายเป็นจริง “ประชาธิปไตยกินได้” รวมทั้งมีการกระจายอำนาจ เลือกตั้งท้องถิ่น

แน่ละทักษิณถูกต่อต้าน อำนาจนิยม ประโยชน์ทับซ้อน แต่รัฐประหาร 2549 ไม่ได้ทำลายเพียงทักษิณ หากยังทำลายอำนาจเลือกตั้งของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยน ส.ว.กึ่งหนึ่งมาจากสรรหา เปลี่ยนองค์กรอิสระเป็นกลไกล้มอำนาจเลือกตั้ง ใช้ “ตุลาการภิวัตน์” ตัดสินการเมือง ยุบพรรค 2 ครั้ง โดยไม่คำนึงว่านั่นคือพรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาล จนเกิดเหตุนองเลือดปี 53 ความแตกแยกที่ทำให้สังคมไทยไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม และซ้ำเติมอีกครั้งในปี 56-57 แม้มีเหตุจาก “นิรโทษสุดซอย” ที่สังคมประณาม แต่ก็บานปลายด้วยม็อบปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี “เห็นคนไม่เท่ากัน”

4 ปีรัฐประหาร 2557 ไม่ได้แก้ไขความแตกแยก ไม่ได้ปฏิรูปประชาธิปไตย ไม่ได้คืนความยุติธรรม เพียงใช้อำนาจบังคับให้สยบจำยอม แล้วก็สร้างรัฐเข้มแข็ง รัฐที่มีอำนาจมาก ถูกใจสังคมดรามา ท่ามกลางความพังพินาศของระบบการเมือง กลไกประชาธิปไตย และสถาบันทางสังคม เช่น สื่อ นักวิชาการ NGO ภาคประชาชน

รัฐธรรมนูญ 2560 สถาปนาระบอบรัฐรวมศูนย์ ซึ่งแทบไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง แต่ให้อำนาจจากเลือกตั้งเป็นเพียงตัวประกอบ ภายใต้รัฐที่ควบคุมโดยชนชั้นนำฝ่ายความมั่นคง ไม่ใช่เพียง 5 ปีแรก ที่มี ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ หลังจากนั้นก็ยังอยู่ใต้องค์กรอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีอำนาจปืนอำนาจกฎหมายเป็นเสาค้ำชั่วกัลปาวสาน

ระบอบนี้วางจุดขาย ว่ามีแต่รัฐรวมศูนย์ใต้อำนาจชนชั้นนำเท่านั้น ที่จะผนึกภาคธุรกิจ นำประเทศก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจได้ ด้วยไทยแลนด์ 4.0 ด้วย EEC ด้วยการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆ แบ่งเค้กให้กลุ่มทุนจับจองสัมปทาน 40-50 ปี พร้อมกับออกบัตรคนจน ประชารัฐ ไทยนิยม หวังให้คนชั้นล่างลืมประชาธิปไตย ไม่ทวงอำนาจ ไม่ทวงความยุติธรรม แล้วขายฝันแก้ปากท้องลดเหลื่อมล้ำ

นั่นคือเฟสแรก 5 ปี ที่จะต้องทำทุกวิถีทาง ผ่านเลือกตั้งไปสู่เฟสสอง 5 ปี

แต่แม้เลือกตั้งถูกกำหนดให้เป็นพิธีกรรม พรรคการเมืองชนะยังไงก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ การเลือกตั้งก็ยังมีความหมาย เป็นโอกาสแสดงออกของประชาชนที่ไม่พอใจ ซึ่งประมาทไม่ได้ จึงต้องเลื่อนเลือกตั้งมาเรื่อยๆ

ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ล็อกอำนาจไว้แน่นหนาเพียงไร ก็มีความเปราะบาง เพราะฝืนธรรมชาติสังคม ตราบใดที่ล็อกไว้ได้ ก็เหมือนจะดี แต่เมื่อไหร่มีอะไรผิดพลาด ไม่เป็นไปตามที่ล็อกไว้ ผิดล็อก ล็อกถล่ม ก็จะล้มระนาวไปตามกัน

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/252771

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.