Posted: 13 Sep 2018 11:43 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-09-14 13:43


ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ บริเวณเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมามา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW รายงานผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจตัวเองว่า ในวันดังกล่าว เวลา เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ บริเวณเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง จากกรณีชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองแม่เมาะ 18 ราย ได้มอบอำนาจให้ทางสภาทนายความและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดย นายสุรชัย ตรงงาม ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 จากเหตุที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2547 กำหนดลดพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการไถทำลายซากหอยขมดึกดำบรรพ์ในบริเวณเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ที่มีความสำคัญระดับโลกไปบางส่วน ซึ่งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ตามสรุปคำพิพากษาโดยสำนักงานศาลปกครองระบุว่า เนื่องจากเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เนื้อที่ 52 ไร่ โดยเป็นพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ 18 ไร่ รวมพื้นที่อื่นอีก 34 ไร่ ซึ่งมีผลเป็นการเพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่ 43 ไร่ เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ก็ได้ตรวจสอบและทำการรังวัดกันเขตพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ./ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกจากพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การทำเหมืองของ กฟผ. จึงเป็นการกระทำนอกพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 18 ไร่ในพื้นที่อนุรักษ์ยังคงตั้งอยู่ได้ จึงยังไม่มีเหตุที่ศาลจะกำหนดคำบังคับให้ กฟผ.ดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากหอยขมดึกดำบรรพ์อันเกิดจากการทำเหมือง ซึ่งหากมีเหตุการณ์พังทลายเช่นว่านั้นเกิดขึ้นจริง ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ต่อไป



EnLAW ได้หมายเหตุเกี่ยวกับคดีนี้ ด้วยว่า ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้

เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เพิกถอนประทานบัตรในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมเนื้อที่ 43 ไร่
ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควบคุมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเพิ่มเติมเพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินและภัยธรรมชาติ
ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเป็นเขตโบราณสถาน

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ฉบับเต็ม) :http://bit.ly/2OhQqX8 คำพิพากษาศาลชั้นต้น (ฉบับเต็ม):https://goo.gl/DTwKr9 และอ่านข้อมูลคดีและสรุปผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่มเติมได้ที่: https://goo.gl/W5gdao[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.