ภาพประกอบ จากแฟ้มภาพเว็บไซต์ shiptoshorerights.org
Posted: 19 Sep 2018 11:39 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-20 01:39
ทายาทแรงงานประมงที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง รับเงิน 2.5 แสน ภายหลังศาลแรงงานภาค 7 (กาญจนบุรี) ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีสำนักงานประกันสังคม ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ทายาท
19 ก.ย.2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี ได้กำหนดนัดสืบพยานจำเลย ในคดีที่ ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 กรณีออกคำสั่งให้ โก แรงงานข้ามชาติ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และมีมติให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของโจทก์
ในการสืบพยานศาลได้กำหนดประเด็นการพิจารณาสองประเด็นคือ 1. คมคาย มานิช นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ ตามพะราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 หรือไม่ และ 2. กรณีมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2561 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2560 หรือไม่
ระหว่างการสืบพยานจำเลย ซึ่งมีกรรมการกองทุนเงินทดแทนและเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเพชรบุรี ขึ้นเบิกความและยืนยันคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน456,768 บาทและเจ้าหน้าที่ประมงขึ้นเบิกความเพื่อให้การประเด็นการทำประมงแบบตลอดทั้งปี หลังจากสืบพยานฝ่ายจำเลย 2 เสร็จเสิ้นแล้ว ศาลได้เรียก คมคาย มานิช นายจ้าง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 และ ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) โจทก์ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยโดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากล่ามและพนักงานอัยการอยู่ในห้องพิจารณา ซึ่งศาลทำการไกล่เกลี่ยจนถึงเวลาประมาณ 14.30 น. โดยไม่มีการหยุดพัก จนสองฝ่ายตกลงกันได้ ดังนี้
1. 12 ก.ย. 2561 ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN) โจทก์ ยินยอมรับเงินทดแทนจากจำเลยที่ 3 เป็นเงินจำนวน 250,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 ขอแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โจทก์ได้รับเงินงวดแรกในวันดังกล่าว จำนวน 100,000 บาท
2. 18 ก.ย. 2561 จำเลยที่ 3 ได้จ่ายเงินทดแทนที่เหลืออีกจำนวน 150,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องจำเลยทั้งสาม
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุด้วยว่าา ในการทำประมงนั้น รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดรายงาน และการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing-IUU) เพื่อให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืน รวมทั้งการคุ้มครองแรงงานประมง ดังนั้น แผนการลงนามอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง ค.ศ.2007 จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่นอกเหนือจากการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่รวมถึงการได้รับค่าชดเชยอันเกิดจากอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งในกรณีของไทยก็คือสิทธิการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของแรงงาน กรณีที่ประสบอันตราย เสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน เนื่องจากงานประมงถือเป็นงานที่หนักและอันตราย แต่แรงงานยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม แม้จะมีการออกคำสั่งให้นายจ้างรับผิดชอบ แต่กระบวนการเยียวยาที่มีอยู่นั้น ทำให้แรงงานต้องประสบกับสถานการณ์การต่อรองโดยกลไกของกระบวนการยุติธรรม
แสดงความคิดเห็น