Posted: 19 Sep 2018 11:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-20 01:51



อนุรักษ์ลำน้ำเซบายกว่าร้อยคนเดินทางจากยโสธรมาทำเนียบฯ รอยื่นหนังสือให้ ‘ประยุทธ์’ 5 ชั่วโมงสุดท้ายไม่ได้พบ ส่งตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมมาเจรจาแทน ชาวบ้านของให้สั่งระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของมิตรผล เพื่อรอผลการศึกษาขอเท็จจริงเรื่องการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ จากคณะศึกษาที่จังหวัดตั้งก่อน ตัวแทนอุตสาหกรรมตอบ เรื่องนี้ต้องกลับไปดูอำนาจตามกฎหมายก่อน ยังรับปากไม่ได้ หวั่นทำไปได้ไม่มีจะถูกบริษัทฟ้องร้อง


19 ก.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า เวลา 08.00 น. ประชาชนราว 100 คน จากกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้มารวมตัวกันที่บริเวณศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(กพร.) เพื่อขอเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้สั่งการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัทมิตรผล ไบโอ-พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด และทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาลขนาดการผลิตน้ำตาล 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ซึ่งที่ตั้งโครงการทั้งสองอยู่ในพื้นที่ บ้านน้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว และถือเป็นพื้นที่การศึกษาผลกระทบของโครงการในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการให้ข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มฯ ได้มารอเพื่อพบพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่แล้วก็ไม่ได้ยื่นหนังสื่อให้กับพล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่ตั้งใจ จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.30 น. ได้มีการเชิญเข้าไปพูดคุยในห้องประชุมประชุมด้านในสำนักงาน กพร. เพื่อเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหา โดยในตอนแรกทางกลุ่มฯ ได้ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาเอง แต่ครั้งนี้ได้มีการส่งตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมมาแทน ประกอบด้วย วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, ทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม, ประสม ดำรงพงษ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม, วิศรุต คันธฐากูร วิศวกรปฏิบัติการ กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ จิรโรจน์ เลิศสุริยตระกูล เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคากลาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ชาวบ้านกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อม-แย่งชิงทรัพยากร ข้องใจชุมชนอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 กิโลเมตร แต่ไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ตัวแทนชาวบ้าน 15 คน ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต้องการก่อโครงโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ โดยมีข้อกังวลคือ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่ได้ทีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากชุมชน

ทั้งทางกลุ่มยังเห็นว่า การดำเนินกิจการดังกล่าวขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564 โดยเฉพาะ จังหวัดยโสธรที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือพืชอื่นๆ ที่เป็นพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเมืองแห่งวิถีอีสาน ซึ่งการดำเนินนโยบายของจังหวัดจะไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และมีความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ แต่ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ปัญหาการจราจร และอื่นๆ
จังหวัดตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว ชาวบ้านขออุตสาหกรรมระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ได้คำตอบต้องดูอำนาจตามกฎหมายก่อน หวั่นถูกบริษัทฟ้องร้อง

สิริศักดิ์ ให้ข้อมูลเพื่อเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสโยธร ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ พื้นที่ จ.ยโสธร กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้น และให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตการศึกษาข้อเท็จจริง ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง ติดตามสนับสนุนการดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น และปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานทั้งหมด 18 คน ดังนี้

1. รองผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงในภายจังหวัดยโสธร (ประธานคณะทํางาน)

2. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

3. ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 16 หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

4. ผู้อํานวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธรหรือผู้แทน (คณะทํางาน)

5. เกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

6. ผู้อํานวยการโครงการชลประทานยโสธร หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

7. นายอําเภอป่าติ้ว หรือผู้แทน (คณะทํางาน)

8. รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะทํางาน)

9. ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (คณะทํางาน)

10. นิรันดร คํานุ คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะทํางาน)

11. นัฐพงษ์ ราชมี สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (คณะทํางาน)

12. รศ.ดร.ประยูร วงศ์จันทรา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะทํางาน)

13. อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน (คณะทํางาน)

14. สิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน (คณะทํางาน)

15. สัญชาติ พลมีศักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชํานาญการพิเศษ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร (คณะทํางาน)

16. ผู้อํานวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

17. นวพร เนินทราย ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์ลําน้ำเซบาย ตําบลเชียงเพ็ง (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

18.ปลัดอําเภอที่ได้รับมอบหมาย (คณะทํางาน และเลขานุการร่วม)

ทางกลุ่มจึงได้เสนอให้รัฐบาล ออกมาตรการเพื่อระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไว้ก่อน เพื่อให้คณะทำงานศึกษาข้อเท็จได้ผลศึกษาออกมาเสียก่อน แต่ทางตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าว จะต้องนำกลับไปให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบดูก่อนว่าทางกระทรวงมีอำนาจสั่งให้ระงับได้หรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและจะได้ไม่ต้องถูกบริษัทฟ้องร้อง ขณะเดียวกันเห็นว่ารายชื่อคณะทำงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้นมานั้นควรจะมีตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดรวมอยู่ด้วยเพื่อให้ง่ายต่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และความเข้าใจร่วมกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากพูดคุยกับตัวแทนกระทรวงอุตสหกรรมเสร็จแล้ว ทางกลุ่มได้ปักหลักคืนค้างที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) เวลา 07.30 น. จะเริ่มเดินเท้าจากกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ระงับการพิจารณาการออกใบอนุญาตโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอเพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.