Posted: 19 Sep 2018 08:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-19 22:47


สุรพศ ทวีศักดิ์

รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ภาพวาดโดย นายวุฒิชัย พรมมะลา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วาทกรรม “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ของทหารมันมี “ความเป็นการเมือง” อย่างเข้มข้น เพราะความเป็นจริงทหารมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงนอกระบบรัฐสภา โดยถืออภิสิทธิ์ทำรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาการเมืองในระบบรัฐสภา ด้วยสารพัดข้ออ้าง เช่นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ศีลธรรมอันดี ปราบปรามการทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ

เมื่อทำรัฐประหารแล้ว ก็วางระบบกลไกทางกฎหมายให้ทหารเข้ามามีอำนาจต่อรองในระบบรัฐสภา เช่นกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยตำแหน่ง แก้กฎหมายให้มีนายกฯ “คนนอก” เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ ด้วยเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือพรรคการเมืองเก่าแก่ที่เติบโตมากับการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กับอำมาตยาธิปไตยมายาวนาน มิพักต้องเอ่ยถึงอำนาจต่อรองทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา เช่น อำนาจต่อรองเรื่องการจัดสรรงบประมาณและอื่นๆ ที่ทหารมีเหนือกว่าข้าราชการกลุ่มอื่นๆ เสมอมา

ยิ่งกว่านั้น การสร้าง “ชาติไทย” และ “ประชาธิปไตยแบบไทย” ก็สร้างผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ ตั้งแต่กำหนดทรงผมเกรียนบนศีรษะนักเรียน ไปจนถึงปลูกฝังอุดมการณ์รัฐ ความหมายของประชาธิปไตยแบบไทย ค่านิยม ความเป็นพลเมืองดี หน้าที่ของพลเมือง ระเบียบวินัย ผ่านระบบการศึกษาของรัฐและอื่นๆ

ดังนั้น ที่ว่าทหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง การทำรัฐประหารไม่เกี่ยวกับการเมืองจึงไม่จริง แท้จริงแล้วมันคือ “อภิมหาการเมือง” ที่ผูกขาดอำนาจในการยกเลิกและจัดระเบียบการปกครองประเทศและอุดมการณ์รัฐไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการสร้างประชาธิปไตย ที่เริ่มโดยการปฏิวัติสยาม 2475

ทำนองเดียวกัน เวลาที่สังคมนี้บอกว่า พระสงฆ์และพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” โดยแสดงออกในรูปคำสั่งของผู้ปกครองและองค์กรปกครองสงฆ์ เช่น คำสั่งห้ามพระสงฆ์แสดงความคิดเห็น จัดปาฐกถา เสวนา อภิปราย หรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองภายในวัดและนอกวัด ดูเผินๆ เหมือนเป็นคำสั่งที่บอกกับสังคมว่า “พระสงฆ์และพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” นะอะไรทำนองนั้น

แต่แท้จริงแล้ว คำสั่งในลักษณะดังกล่าวมี “ความเป็นการเมือง” ที่เข้มข้น เพราะเป็นคำสั่งที่แสดงถึงอำนาจในการกำหนดว่า การเมืองแบบไหนที่พระสงฆ์ยุ่งไม่ได้ หรือไม่ควรยุ่ง ซึ่งก็ได้แก่ การเมืองที่เกี่ยวกับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านอำนาจเผด็จการ หรือการเมืองในแบบที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ถ้าเป็นการเมืองในแบบสนับสนุนเผด็จการ ก็ไม่ถือว่าเป็นการยุ่งการเมือง เช่น กิตติวุฑโฒภิกขุให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือ ว.วชิรเมธี ออกรายการเดินหน้าประเทศไทยสนับสนุน คสช.ว่า “ค่านิยม 12 ประการ คล้ายธรรมะในพระพุทธศาสนา” มหาเถรสมาคมก็ไม่เคยห้ามหรือตำหนิใดๆ ว่าไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ เพราะเป็นการยุ่งการเมือง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการ “ไม่แยกศาสนาจากรัฐ” ทำให้รัฐมีอำนาจกำหนดสถานะ อำนาจ และบทบาทของพระสงฆ์และพุทธศาสนาให้เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์และอำนาจรัฐ ผ่านกฎหมายปกครองสงฆ์ รัฐธรรมนูญ และการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน เป็นต้น

พูดให้ชัดคือ ภายใต้อุดมการณ์และอำนาจรัฐตามเป็นจริง (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) พระสงฆ์และพุทธศาสนาย่อมถูกกำหนดให้ “ทำหน้าที่ทางการเมือง” ในการสนับสนุนอุดมการณ์และอำนาอนุรักษ์นิยม เมื่อเป็นเช่นนี้พระสงฆ์ย่อมถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่นไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งมีคำสั่งห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังในความหมายกล่าว

คำสั่งห้ามทำนองนี้มักจะออกมาเป็นพักๆ ห้ามได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ ถ้าช่วงไหนบ้านเมืองมีเสรีภาพมากหน่อย คำสั่งห้ามเหล่านั้นก็เป็นหมัน ช่วงไหนบ้านเมืองตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการคำสั่งพวกนั้นก็เอาอยู่

อีกประเด็นหนึ่ง ชาวพุทธบ้านเรายึดถือความเชื่อตามๆ กันมาว่า ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชนชั้นปกครองยุคเก่าทำหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนพุทธศาสนา ผ่านการให้สังคายนาพระไตรปิฎก อรรถกถา ชำระคัมภีร์สำคัญอื่นๆ และรักษาวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้น่าเคารพกราบไหว้ด้วยการออกกฎหมายและคำสั่งต่างๆ ควบคุมและลงโทษพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อกันแบบนั้น ดังมีการเรียกร้องให้ออกฎหมายควบคุมการสอนและการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก หรือเรียกร้องให้รัฐปฏิรูปชำระล้างศาสนาให้สะอาดกันบ่อยๆ เป็นต้น

ตัวอย่างที่ยืนยันความเชื่อดังกล่าว ก็เช่น ความคิดที่ว่าถ้าปล่อยให้คณะสงฆ์เสนอชื่อพระสงฆ์ที่สมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช หรือตำแหน่งปกครองระดับสูงกันเอง ก็จะเกิดความขัดแย้ง หรือถ้าให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีส่วนร่วมเสนอก็จะเกิดปัญหาดึงพระสงฆ์และพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นต้น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเหล่านั้นจึงควรถวายเป็นพระราชอำนาจให้ทรงแต่งตั้งตามที่ทรงเห็นสมควร

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า แม้แต่ในยุค “รัฐพุทธศาสนา” ที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชาให้ความอุปถัมภ์พุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุด มองไปทางไหนเห็นแต่ความรุ่งเรืองของวัด วังอลังการ ในยุคสมัยเช่นนั้น พระสงฆ์ทั้งเกี่ยวข้องกับการเมืองของชนชั้นปกครอง เช่นสนับสนุนชนชั้นปกครองฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ชิงบัลลังก์ เมื่อผู้ปกครองฝ่ายไหนชนะ ก็กำจัดฝ่ายที่แพ้ทั้งขุนนางฝ่ายตรงข้ามและบรรดาพระสงฆ์ที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม

อีกอย่าง ในช่วงเวลาที่รัฐพุทธศาสนารุ่งเรืองร่วมพันปีนั้น ไม่มีเลยสักครั้งที่พุทธศาสนาที่รัฐอุปถัมภ์เสนอความคิดและการเคลื่อนไหวให้เลิกระบบไพร่ ทาส อาจมีบ้างที่พุทธศาสนาในหัวเมืองเป็นแรงผลักดันให้ก่อการกบฏต่ออำนาจกดขี่ของส่วนกลาง เช่นกบฏผู้มีบุญ หรือ “กบฏผีบุญ” ในสมัย ร.5 แต่ก็ถูกอำนาจรัฐล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยม และเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกฝ่ายอำนาจรัฐตีตราว่าพวกพวกเชื่อวิปริตผิดเพี้ยนจากหลักคำสอนอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

บางคนว่า รัฐพุทธศาสนานั้น คือ “รัฐพ่อปกครองลูก” ที่ถือว่าผู้ปกครองไม่เพียงเป็นพ่อที่ดูแลเรื่องปากท้องของผู้ใต้ปกครองให้อยู่ดีกินดีเท่านั้น ยังเป็น “แบบอย่างทางศีลธรรม” แก่ผู้ใต้ปกครองด้วย แล้ววิจารณ์ว่า รัฐโลกวิสัย (secular state) ถือว่าผู้ปกครองเป็นเพียงผู้ดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรมแต่อย่างใด โดยยกตัวอย่างความประพฤติส่วนตัวในเรื่องผู้หญิงของผู้นำบางประเทศของตะวันตกในยุคปัจจุบัน

แท้จริงแล้ว เขาคงลืมไปว่า ในยุครัฐพุทธศาสนารุ่งเรืองนั้น บรรดาชนชั้นปกครอง เช่นเหล่าขุนนางล้วนมากเมีย แต่ถ้าเมียนอกใจไปมีชู้ ก็มีอำนาจลงโทษด้วยการเฆี่ยน ขายไปเป็นทาส ขายให้โรงรับชำเรา (ซ่องโสเภณี) เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ในรัฐพุทธศาสนายุคอโศกและอยุธยา ยังมีการนำเอาคำบรรยายวิธีการลงโทษคนบาปในนรกขุมต่างๆ มาออกแบบคุกและวิธีการลงโทษผู้ทำผิดกฎหมาย เช่นบทลงโทษ 21 สถานในรัฐพุทธศาสนาสมัยอยุธยาที่โหดเหี้ยม (ดู www.matichon.co.th/local/crime/news_1005255)

แปลว่า ในยุครัฐพุทธศาสนา ที่ศาสนากับรัฐหรือการเมืองเป็นเนื้อเดียวกันนั้น ก็คือยุคศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส นั่นแหละคือระบบพ่อปกครองลูก เป็นระบบที่ดีหรือไม่ ก็คงอาจจะดีสำหรับยุคโบราณและยุคกลาง แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ อิทธิพลความคิดตะวันตกก็กดดันให้สยามต้องเลิกระบบไพร่ ทาส ในสมัย ร.5 และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสมัย ร.7

อีกประเด็นคือ มักสรุปกันง่ายๆ ว่า “พุทธศาสนาอยู่กับระบบสังคมเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ได้ เพราะแก่นของพุทธศาสนาคือสอนให้เข้าใจทุกข์และเสนอทางพ้นทุกข์” เมื่อสรุปแบบนี้แล้ว ก็พูดถึงข้อดีของการมีระบบสมณศักดิ์ โดยไม่ตั้งคำถามว่าระบบเช่นนี้ทำหน้าที่ทางการเมืองแบบใด ซึ่งก็แปลกดีว่า ถ้าชาวพุทธเห็นว่า ทุกข์ของชีวิตเป็นปัญหาที่ต้องแก้ แล้วทุกข์ของชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคมที่ถูกกดขี่ด้วยเผด็จการรูปแบบใดๆ ไม่ใช่ปัญหาที่ควรแก้ดอกหรือ พุทธศาสนาควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่นั้น หรือเป็นพลังทางปัญญาหาทางหลุดพ้นจากการกดขี่กันแน่

ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังไหมว่า ทำไมจนปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาไทยยังไม่อาจปรับตัวอย่างเคารพหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือพัฒนาไปในทางสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และสันติภาพ พุทธศาสนาไทยยังอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองเสมอมา นับแต่ยุคราชาธิปไตยที่สนับสนุนชนชั้นปกครองแต่ละฝ่ายทำรัฐประหารชิงราชสมบัติกัน จนปัจจุบันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างมองไม่เห็นอนาคตว่าจะหลุดจากวงจรเช่นนี้ได้อย่างไร

จริงหรือไม่ว่า เพราะสถาบันสงฆ์และพุทธศาสนาถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทางการเมืองสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม จึงทำให้พระสงฆ์ถูกจำกัดสิทธิในแสดงความคิดเห็น การแสดงออก หรือการเคลื่อนไหวอื่นใดในทางต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.