Posted: 17 Sep 2018 09:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-09-17 23:07


โลเท เชอร์ริงนำพรรคดีเอ็นทีคะแนนเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งภูฏานรอบแรก ด้านเชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันของภูฏานแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ หลังได้คะแนนเสียงเป็นลำดับ 3 ไม่สามารถเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองได้ โดยสื่ออินเดียวิเคราะห์ว่าผลการเลือกตั้งที่ผิดคาดเช่นนี้จะส่งผลต่อข้อพิพาทชายแดนจีน-อินเดีย

โลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) ผู้นำพรรคดีเอ็นที ชนะการเลือกตั้งภูฏานรอบแรก คว่ำพรรครัฐบาลชุดเดิมได้สำเร็จ โดยจะมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันที่ 18 ตุลาคมนี้ (ที่มา: Facebook/Dr Lotay Tshering)

หลังการเลือกตั้งรอบแรกในภูฏานเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เชอริง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลพีดีพีก็ออกมายอมรับความพ่ายแพ้จากการที่พรรคของเขาได้คะแนนมาเป็นที่ 3 ทำให้สูญเสียที่นั่งในสภา 32 ที่นั่ง และไม่สามารถไปต่อในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ได้

จากผลการเลือกตั้งพรรครัฐบาลเดิมพีดีพีได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 27 ขณะที่อีกสองพรรคคือดีเอ็นทีนำโดยโลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) ได้คะแนนร้อยละ 31.8 และพรรคดีพีที นำโดยดรุก พุนซัม ซอกปา (Druk Phuensum Tshogpa) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 30.9 ตามลำดับ

ตามระบบการเลือกตั้งในภูฏานพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด 2 พรรคจะได้เข้าไปชิงชัยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นภายในวันที่ 18 ต.ค. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตามความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลเดิมก็สร้างความประหลาดใจให้ต๊อบเกย์ จากที่พรรคพีดีพีเคยชนะคะแนนเสียงการเลือกตั้งในปี 2556 ด้วยการกวาดที่นั่งในสภาไป 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 47 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามต๊อบเกย์บอกว่าชาวภูฏาน "ได้พูดออกมาแล้ว" อีกทั้งยังยอมรับการตัดสินใจของประชาชนและบอกว่า "เจตจำนงของประชาชนต้องมีชัยในระบอบประชาธิปไตย"

ต๊อบเกย์เป็นคนที่เคยเรียนจบมาสาขาวิศวกรรมยานยนต์จากมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์กและรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเป็นผู้ร่วมก่อนตั้งพรรคพีดีพีซึ่งนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ

หลังจากชนะการเลือกตั้งในปี 2556 ต๊อบเกย์ก็พยายามเปลี่ยนประเทศภูฏานด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการส่งเสริมการสร้างงานและแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศแทนการเน้นเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติแบบผู้บริหารประเทศก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็อบเกก็เป็นคนที่ออกตัวว่ามีอุดมการณ์คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในช่วงปี 2558-2559 ต๊อบเกย์ ขึ้นพูดในงาน TED talk โดยเน้นพูดเกี่ยวกับเรื่อง "ความสุข" และชูเรื่องการเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาก่อนเศรษฐกิจ

การพ่ายแพ้ของต๊อบเกย์ในครั้งนี้ยังทำให้สื่ออินเดียนำเสนอในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทดอกลัมที่เป็นความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ภูฏาน กับจีน โดยระบุว่าในสมัยของรัฐบาลต๊อบเกย์นั้นเขาเน้นอยู่ข้างเดียวกับอินเดีย แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบไม่คาดคิดเช่นนี้อินเดียจะต้องทำงานหนักขึ้นสองเท่าในการรักษาความร่วมมือกับภูฏาน

สื่อไทม์ออฟอินเดียวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ต่างจากครั้งปี 2556 ที่มีการใช้ความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นจุดขาย แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดถึงแม้ว่าสองพรรคที่เข้ารอบจะพูดถึงอินเดียในทางที่ดี แต่อินเดียก็เคยมีความสัมพันธ์แย่ๆ กับภูฏานสมัยรัฐบาลพรรคดีพีทีช่วงปี 2551-2556 สาเหตุใหญ่ๆ เพราะนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นต้องการสานสัมพันธ์กับจีน นอกจากนี้อินเดียยังเคยทำพลาดที่จัดการให้เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซหุงต้มในภูฏานซึ่งจะทำลายผลประโยชน์ของอินเดียในระยะยาว

จีนกับอินเดียมีข้อพิพาทด้านเขตแดนในพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) ซึ่งประเทศภูฎานที่มีความสนิทสนมกับจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนเขตนี้ โดยที่ทางการอินเดียไม่ได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนแต่เข้าไปช่วยสนับสนุนภูฏานในการมีสิทธิเหนือพื้นที่นี้ ขณะที่จีนพยายามจะสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าวไปจนถึงชายแดนอินเดียทำให้เคยเกิดการเผชิญหน้ากันในช่วงกลางปี 2560


จีนสั่งให้อินเดียถอนทัพจากเขตพิพาทพรมแดนภูฎาน หลังอินเดียส่งทัพช่วย, 27 ก.ค. 2560

เรียบเรียงจาก
Bhutan PM’s party ousted in election, The Hindu, 15-09-2018
India needs to boost efforts as Bhutan polls spring a surprise, Times of India, 17-09-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Bhutanese National Assembly election, 2018, Wikipedia
Tshering Tobggay, Wikipedia[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.