ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา

Posted: 11 Sep 2018 05:16 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-11 19:16


ทันตแพทยสภา ภาคีวิชาชีพทางการแพทย์ จี้กระทรวงวิทย์ฯ เลิกเตะถ่วงร่างแก้ กม.พลังงานนิวเคลียร์ หลังกระบวนการแก้ กม.แล้วเสร็จ หวั่นไม่ทัน สนช.พิจารณา หากรอรัฐบาลหน้า กระทบการรักษาผู้ป่วยแน่ พร้อมระบุหากไม่คืบหน้าเชื่อบุคลากรการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงาน เตรียมเคลื่อนไหว ร่วมปกป้องผู้ป่วย

11 ก.ย.2561 ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทันตแพทยสภาและภาคีวิชาชีพทางการแพทย์ ขอเรียกร้องไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้แสดงความจริงใจเร่งแก้ปัญหาผลกระทบจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 โดยขอให้ยุติสรุปโดยเร็วหลังยืดเยื้อมากว่า 2 ปีมาแล้ว ทั้งนี้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 มีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งควบคุมวัสดุนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสีที่มีความรุนแรง และอาจเกิดอันตรายกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมหากใช้ไม่ถูกต้อง โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวดและมีโทษที่รุนแรง แต่การควบคุมได้ครอบคลุมถึงเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดปัญหาปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใช้เอกซเรย์และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ที่ผ่านมาภาคีวิชาชีพด้านการแพทย์ ทั้งแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรมสภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสัตวแพทยสภา รวมทั้งชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กระทรวงสาธารณสุข ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และเครือข่ายทันตแพทย์ ได้ออกมาร่วมคัดค้านกฎหมายฉบับนี้และเรียกร้องให้มีการแก้ไข

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทราบปัญหาและผลกระทบกับประชาชนที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ จึงได้ร่วมกับสมาชิกสนช.จำนวน 41 คน เสนอร่างแก้ไขกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้มีมติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 และส่งเรื่องไปยังรัฐบาลพิจารณา ทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.และได้มีมติอนุมัติหลักการตาม พร้อมให้ส่งร่างกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำการตรวจและพิจารณาโดยเร่งด่วน และให้นำร่างกฎหมายที่นำเสนอโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และคณะไปประกอบการพิจารณา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของเสนอ สนช.ต่อไป

ทั้งนี้ในการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวจนได้ข้อยุติ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ได้ทำประชาพิจารณ์ โดยจัดขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้มีการทำประชาพิจารณ์อีก 4 ครั้ง ซึ่งถือว่ากระบวนการได้เสร็จสิ้นแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ยังไม่ได้มีการนำเสนอเข้า สนช.เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิจารณา และเมื่อมีการสอบถามความคืบหน้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จึงมองว่าน่าจะเกิดการเตะถ่วงการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ล่าช้าออกไป เพื่อที่จะไม่ให้ทันเข้าสู่การพิจารณา สนช.ชุดนี้ ซึ่งต้องรอนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลหน้า

“การเตะถ่วงร่างแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างโยนกันไปมา หากไม่ทัน สนช.ชุดนี้ ต้องรอนำเข้าพิจารณาในรัฐบาลหน้า ซึ่งแน่นอนย่อมต้องก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้โรงพยาบาลชุมชน รพศ./ รพท. และคลินิกทันตกรรม ที่ต้องปิดให้บริการเอกซเรย์ ซึ่งมีผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังอาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานต้องออกมาเรียกร้องรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นทันตแพทยสภาและภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขกฎหมายโดยเร่งด่วน” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.