Posted: 13 Sep 2018 02:59 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-09-13 16:59


สุรพศ ทวีศักดิ์

กระแสดราม่าวิจารณ์เฌอปราง อารีย์กุล BNK48 และเหล่าดาราที่อาสาช่วยประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของรัฐบาล คสช.ในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ภายใต้อุดมการณ์ “สร้างประเทศไทยไปด้วยกัน” ยังลากยาวในโลกโซเชียล

ล่าสุด คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาปกป้องเฌอปรางจากการวิจารณ์ของรังสิมันต์ โรม และยังมีบทความวิจารณ์ ตั้งคำถามต่อการวิจารณ์และด่าเฌอปราง ทำนองว่าฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่เคารพเสรีภาพและความเห็นต่าง

ผมเห็นว่ามีประเด็นปัญหาพื้นฐานทางความคิดและหลักการทางปฏิบัติบางประการ ที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน จึงขอแลกเปลี่ยนผ่านบทความนี้

ปัญหาแรก คำให้สัมภาษณ์ของคุณประยุทธ์ข้างบน คือการ “เบี่ยงเบนประเด็น” ที่ถกเถียงในโลกโซเชียล ให้กลายเป็นปัญหาเรื่อง “การทำดี คนดี คนไม่ดี” กลายเป็นว่าเฌอปรางและดาราที่มาช่วยงานรัฐบาล คสช.คือคนดี ที่กำลังทำความดีเพื่อชาติ ขณะที่ฝ่ายที่วิจารณ์กลายเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณธรรม ศีลธรรม

แต่ที่จริงแล้ว ปัญหานี้เป็น “ปัญหาเชิงหลักการ” คือปัญหาว่าการที่คนมีชื่อเสียง เป็นเซเลบ ไอดอล ของคนรุ่นใหม่ อาสาประชาสัมพันธ์นโยบาย ผลงาน และอุดมการณ์ของรัฐบาลจากรัฐประหารที่ล้มอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนนั้น มี “ความชอบธรรม” หรือไม่ ซึ่งคำตอบย่อมชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า ไม่ว่านักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ ดารา นักร้อง หรือใครก็ตามที่สนับสนุนอำนาจดังกล่าว ย่อมไม่ชอบธรรม เพราะขัดกับความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องมีจิตสำนึกเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ปัญหาที่สอง ยิ่งตลกร้ายมากขึ้น เมื่อคุณประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า “นายรังสิมันต์ โรมจะไปจำกัดสิทธิ์ น.ส.เฌอปรางได้อย่างไร เพราะเขาจะทำอะไรก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล” (ดู http://www.komchadluek.net/news/breaking-news/342951#.W5ZO5BZRoEs.facebook)

ประเด็นคือ การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล คสช.ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องสาธารณะ และไม่ใช่เรื่องของ “สิทธิ” เพราะตามหลักสิทธินั้นถือว่า “การใช้สิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิคนอื่นด้วยเสมอ” แต่การประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล คสช. คือการสนับสนุนอำนาจที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชน

พูดให้ชัดคือ การที่เฌอปราง (หรือใครก็ตาม) ร่วมงานกับรัฐบาลจากรัฐประหาร ย่อมมีความหมายเป็นการสนับสนุนอำนาจที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชน มันจึงไม่มีหลักสิทธิของสำนักปรัชญาเสรีนิยม หรือหลักสิทธิมนุษยชนข้อไหน หลักประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่กำหนดไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิสนับสนุนอำนาจล้มล้างและ/หรือละเมิดสิทธิของประชาชน”

แท้จริงแล้ว หลักปรัชญาเสรีนิยมและคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ (เป็นต้น) กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคได้” ดังนั้นคำวิจารณ์ของรังสิมันต์ โรม จึงไม่ใช่เป็นการ “จำกัดสิทธิ์” ดังที่ประวิตรพูด แต่เป็นการปกป้องหลักการสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยจากการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดและ/หรือสนับสนุนอำนาจที่ละเมิดหลักการดังกล่าว

ปัญหาที่สาม คือปัญหาความอ่อนด้อยทางปัญญาของบรรดาคนมีการศึกษาที่แสดงออกว่าตนเองมีความรู้ ความเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องการเมือง เสรีภาพ และประชาธิปไตย แต่ในการแสดงโวหารรอบรู้ถูก ผิด ควร ไม่ควรแทบทุกเรื่องนั้น กลับเป็นการแสดงออกบนพื้นฐานของความเข้าใจผิดเพี้ยนในหลักการพื้นฐานสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นในบทความชื่อ “Internet Bully!! เมื่อเฌอปราง BNK48 ถูกคุกคามทางอินเตอร์เน็ต” ผู้เขียนตั้งคำถาม วิจารณ์ฝ่ายเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่วิจารณ์ ด่าเฌอปรางไว้หลายเรื่อง ซึ่งการวิจารณ์ “คำด่า” บางคำก็มีเหตุผลที่ควรรับฟัง

แต่ที่เขียนว่า “สุดท้ายนี้ เสรีภาพ การแสดงออกทางประชาธิปไตยที่เรียกหากัน​ ควรต้องเคารพในเสรีภาพคนอื่นด้วยไม่ใช่หรือ?...” (ดู http://genonline.co/2018/09/06/internet-bully-bnk48/) ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้เขียนบทความนั้นกำลังจะบอกว่า “บุคคลมีเสรีภาพที่จะสนับสนุนอำนาจที่ล้มล้างและ/หรือละเมิดหลักเสรีภาพ” เช่นนั้นหรือ

ขณะที่เหล่าดารา นักร้องออกมาแสดงความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติ รู้สึกดีใจตื่นต้นที่ได้ร่วมงานกับรัฐบาลจากรัฐประหารที่ล้มล้างหลักเสรีภาพ แต่คุณกลับมาเรียกร้องให้ฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีไม่รู้กี่คดี ติดคุกก็มาก หนีไปต่างประเทศก็มาก ครอบครัวพัง งานพังเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างสันติ คุณเรียกร้องให้คนที่ถูกกระทำจากอำนาจเผด็จการเคารพเสรีภาพของคนที่สนับสนุนเผด็จการที่ละเมิดหลักเสรีภาพเช่นนั้นหรือ เสรีภาพของคุณช่างไม่อยู่บนหลักการ “เสรีและเป็นธรรม” (free and fair) เอาเสียเลย

มันมีหลักเสรีภาพตามแนวคิดใดในโลกที่เสนอว่า “บุคคลมีเสรีภาพสนับสนุนอำนาจละเมิดเสรีภาพของตนเองและคนอื่น” (เพราะอำนาจรัฐบาล คสช.ละเมิดสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองทั้งของเฌอปรางและประชาชนทุกคน) ในสังคมที่เจริญแล้วมีแต่เขาสอนเรื่อง “สิทธิพลเมือง” ว่า พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่อยุติธรรม (กฎหมายเผด็จการที่ขัดหลัก Rule of Law) และมีสิทธิเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือล้มรัฐบาลที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยได้

พูดอีกอย่างว่า การใช้อิสรภาพหรือเสรีภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพและ/หรือส่งเสริมเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วยเสมอ ดังโควทข้างล่างนี้


https://www.facebook.com/PoliticsKalaland/photos/a.435723619966170/876829902522204/?type=3&theater

อะไรคือเงื่อนไขของความขัดแย้งแบ่งฝ่ายของประชาชน? คำตอบก็คือ “ระบบที่ไม่เสรีและเป็นธรรม” ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มอำนาจนอกระบบ กลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย และอีกฝ่ายยอมรับและสนับสนุนระบบที่ไม่เสรีและเป็นธรรมนั้นทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ด้วยการอ้างสิทธิ เสรีภาพอย่างผิดเพี้ยน

ใช่ครับ ตามหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก คุณมีสิทธิแสดงความเห็น ความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ที่ขัดกับประชาธิปไตยได้ ตราบที่ไม่ก่ออันตรายแก่ทรัพย์สิน ชีวิต อิสรภาพของบุคคลอื่น แต่คุณไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพสนับสนุนอำนาจที่ใช้กำลังล้มล้างสิทธิ เสรีภาพได้ เช่นคุณจะชุมนุมขวางการเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขหรือสบคบคิดให้เกิดรัฐประหาร เมื่อเกิดรัฐประหารแล้วก็เลี้ยงฉลองกันใหญ่ จากนั้นก็เชียร์ สนับสนุน เข้าร่วมงานกับรัฐบาลจากรัฐประหาร โดยอ้างว่านี่เป็น “การใช้สิทธิ เสรีภาพ”ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักสิทธิ เสรีภาพที่ไหนกำหนดไว้ว่า การสนับสนุนอำนาจล้มล้างและ/หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนเองและคนอื่นถือเป็นเรื่องของการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ

สุดท้ายแล้ว การสร้างประชาธิปไตย ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ที่ต้องล้มลุกมาตลอด ก็ไม่ใช่เพียงเพราะเกิดรัฐประหารซ้ำซากเท่านั้น แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือปัญหาเชิงความรู้ ความเข้าใจ หรือปัญหาเชิงความคิด จิตสำนึก และอุดมการณ์ ซึ่งไม่ใช่มาจากประชาชนที่ด้อยการศึกษาที่ถูกกล่าวหาหรือดูถูกมาตลอดว่าพวกเขาเป็นปัญหาของประชาธิปไตย เพราะเลือกนักการเมืองผิด หากแต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากบรรดาผู้มีการศึกษาดีและเสียงดังในสังคม ที่เข้าใจผิดเพี้ยนเกี่ยวกับหลักการเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย

หรือไม่ก็เป็นความจงใจบิดเบือนหรือคอรํรัปหลักการดังกล่าว ด้วยการสร้างตรรกะวิบัติหรือตรรกะป่วย เพื่อปกป้องความมั่นคงของสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในสังคม ดังที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งกว่าทศวรรษแห่งความขัดแย้ง ที่สังคมเราเผชิญกันมาและกำลังเผชิญอยู่ และยังไม่สามารถกำหนดวิถีทางประชาธิปไตยให้เป็นทางออกจากความขัดแย้งได้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.