Posted: 14 Nov 2018 09:39 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-15 12:39
เจษฎา บัวบาล
พุทธศาสนาเถรวาทมีขนบที่ต้องเคารพคนแก่ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีกิเลสน้อย ผ่านการอบรมชำระจิตมามาก คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่บริหารปกครองจึงมักเป็นคนแก่ หรือคนดีมีจริยธรรมซึ่งสำคัญกว่าคนเก่ง สิ่งนี้ยัง แท้จริงแล้ว แนวคิดผู้มีบารมีแบบไทยแทบไม่จำเป็นต้องอ้างการกลับชาติมาเกิด แต่ต้องเป็นผู้ละกิเลสได้ ภาพลักษณ์ของคนแก่จึงสนองความเป็นผู้มีกิเลสเบาบางได้ดีกว่าคนหนุ่ม และนี่เป็นเหตุผลที่พระแก่เหมาะสมกับตำแหน่งบริหารปกครองของไทย
ผมนำเสนอบทความนี้ที่ในชื่อ Gerontocracy in Thai Buddhism เมืองยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 6-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จัดโดย ICRS (Indonesian Consortium for Religious Studies) โดยการสนับสนุนของกระทรวงการศาสนา ภายใต้ชื่อ “งานประชุมนานาชาติว่าด้วยวิถีทางศาสนา” (International Symposium on Religious Life: ISRL 2018) ในงานมีบทความนำเสนอเกี่ยวกับศาสนาล้วนๆ ราว 70 ชิ้นและลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 300 คน ณ โรงแรม Novotel
คนแก่สำคัญไฉน?
ภาพของคนแก่ โดยเฉพาะพระสงฆ์ มักจะไม่สื่อไปในทางบ้ากาม แต่ผ่านการปฏิบัติธรรมชำระกิเลสมามาก สังฆราชของไทย โดยเฉพาะองค์ที่ 19 คือ สมเด็จพระญาณสังวรฯ (เจริญ สุวฑฺฒโน) เข้ารับตำแหน่งสังราชเมื่ออายุ 76 และอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งอายุ 100 ปี ทรงเป็นที่รู้จักในนามพระที่เคร่งครัดในวินัยสงฆ์ ก่อนสวรรคต มีเรื่องเล่าจากโรงพยาบาลมากมาย เช่น ทรงขออย่าให้พระองค์ฉันอาหารหลังเที่ยงวันและอย่าให้หมอ/พยาบาลผู้หญิงสัมผัสพระองค์ เพราะไม่ทรงรับรู้และปลงอาบัติไม่ได้อีกแล้ว เรื่องเช่นนี้ตั้งคำถามได้มาก เช่น เมื่อไม่รับทราบ ก็เท่ากับไม่มีเจตนา การไม่มีเจตนาในกามที่จะสัมผัสสตรีก็ย่อมไม่เป็นอาบัติ ดังนั้นจึงไม่ควรกลัวเป็นต้น แต่เรื่องเช่นนี้ก็ให้ภาพลักษณ์ของพระที่เคร่งครัดและควรแก่การเคารพได้ดี
พระองค์สวรรคตเมื่ออายุได้ 100 ปี แน่นอนว่าช่วงปลายทรงใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลเป็นหลัก พระองค์หายไปจากพื้นที่สาธารณะราวทศวรรษ แต่ก็มิได้มีการตั้งสังฆราชใหม่ จะมีแค่เพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน เพราะตำแหน่งสังฆราชจะดำรงอยู่จนกระทั่งสวรรคต อย่างน้อยที่สุด การสวรรคตเมื่ออายุ 100 ปีช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้มีบารมีที่หาได้ยากอีกตัวอย่างหนึ่ง
สังฆราชองค์ที่ 20 คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ฯ (อัมพร อมฺพโร) เข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุ 90 ปี และภาพลักษณ์ของพระองค์คือ ไม่จับเงิน และไม่มีรถส่วนพระองค์ แม้จะถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการเป็นพระราชาคณะและรับเงินเดือน แต่ภาพลักษณ์ความสันโดด เป็นศิษย์พระป่าของพระองค์ก็ช่วยให้ผ่านไปได้
ตำแหน่งสังฆราชที่ได้รับเมื่ออายุ 80 จะไม่เป็นปัญหา หากหน้าที่หลักคือเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คน แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนี่เป็นตำแหน่งที่ปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศและออกนโยบายในการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนพุทธศาสนา แต่คนไทยก็ไม่รู้สึกแปลกต่อความเป็นเหตุเป็นผลของอายุและตำแหน่งนี้ เพราะพุทธศาสนาเถรวาทให้ความสำคัญกับคนแก่อยู่แต่เดิมแล้ว ซึ่งผมเรียกว่า “ชราธิปไตยในสังคมพุทธไทย”
เถรวาท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เชื่อในคำสอนของคนแก่” แม้ เถระ ในที่นี้จะหมายถึง พระอรหันต์ 500 รูปที่ทำสังคายนาครั้งแรกและถ่ายทอดธรรมะกันรุ่นสู่รุ่น แต่การต้องเคารพคนแก่ที่เรียกว่า “ภันเต” ก็ถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งในพระวินัย สิ่งนี้กลายมาเป็นจารีตไทยที่การตั้งคำถามกับครูหรือเถียงผู้ใหญ่ถูกมองว่าหยาบกระด้าง ในวันออกพรรษา พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมที่ชื่อ “ปวารณา” คือเปิดโอกาสให้ตักเตือนกันและกัน แต่แน่นอนว่า ในสังคมไทย กิจกรรมนี้ไม่ได้ถูกปฏิบัติ เพราะการวิพากษ์เจ้าอาวาสหรือพระพรรษาสูงกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงมีแต่เพียงเข้าโบสถ์ไปกล่าวคำบาลีและรับฟังโอวาสจากเจ้าอาวาสตามจารีต
อาจแย้งว่า มีลัทธิใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ครูบาในภาคเหนือ ซึ่งมีอายุน้อยและเป็นเป็นที่เคารพอย่างมาก ผมจะอธิบายว่า แม้จะเป็นเช่นนั้น ภาพของคนแก่ก็มิได้หายไปไหน พระ-เณรหนุ่มเหล่านั้นยังต้องสวมบทบาทของพระแก่ (ครูบาศรีวิชัย เป็นต้น) บ้างต้องถือไม้เท้า บ้างกินหมาก บ้างแต่งกายแบบพระแก่ และต้องปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกับที่ครูบาแก่รุ่นก่อนกระทำ (โปรดดู ครูบาคติใหม่ของ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว 2016) ขณะที่พระหนุ่มบางท่านต้องใช้คำนำหน้าว่า “หลวงปู่”และนอกจากนั้น ยังต้องสะท้อนภาพลักษณ์ผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติเช่น เข้าถ้ำ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน โดยไม่พบปะผู้คนเป็นต้น โดยสรุปคือ ภาพลักษณ์ความเป็นคนแก่และความเคร่งครัดในการปฏิบัติแบบพิเศษ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพผู้มีบารมีในสังคมเถรวาท
ใครกันแน่ที่ปกครอง?
เมื่อพระแก่จำนวนมาก นับตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เป็นต้นไปไม่มีเรี่ยวแรงในการบริหารปกครอง การขับเคลื่อนงานจึงอยู่ที่ “พระเลขาฯ” พระเหล่านี้มักเป็นคนหนุ่ม แต่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก นอกจากต้องสนองคำสั่งของพระแก่และระบบเก่าอีกเช่นเดิม พระเลขาฯ มีอำนาจมากในระบอบนี้ เพราะท่านเป็นผู้นำผลงานของพระที่ควรจะเลื่อนขั้นไปเสนอพระผู้ใหญ่ จึงมีการพูดกันอย่างชินหูว่า หากหวังการเติบโตในสังคมสงฆ์ นอกจากเข้าหาพระผู้ใหญ่แล้ว ต้องเข้าถึงพระเลขาฯ ด้วย
แนวคิดของระบอบ “ชราธิปไตย” จะมีการเอาคนหนุ่มไปทำงานเช่นกัน แต่จะคัดเฉพาะผู้ที่จงรักภักดี หรือผู้ที่มีแววว่าจะรงรักภักดีในอนาคต (ไม่เน้นที่ความรู้หรือการศึกษา) ซึ่งจะมั่นใจได้ว่าเขาจะรักษาระบอบเดิมต่อไปได้ การเปิดโอกาสให้คนหนุ่มเช่นนี้ จะช่วยลดอำนาจต่อรองหรือการอยากปฏิวัติของกลุ่มคนหนุ่ม เพราะเขาได้ถูกเลือกให้เข้าไปทำงานในระบบแล้ว และแน่นอนว่า คนหนุ่มที่แข็งกร้าวก็จะไม่ถูกเลือก และบ่อยพระหนุ่มมีการศึกษาถูกเลือกให้รับตำแหน่ง แต่เพราะท่านเหล่านั้นทราบดีว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จึงปฏิเสธและลาสิกขาไป บางส่วนก็ขับเคลื่อนงานของตนอย่างอิสระ
พระสังฆราชและพระสังฆาธฺการระดับอื่น ๆ ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองจริง เรื่องเช่นนี้พบได้เมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ เช่น กรณีธรรมกาย หรือ พระคึกฤทธิ์เสนอให้สวดปาฏิโมกข์ 150 ข้อ ที่ท่านต้องเฉยหรือแค่เสนอให้ทำบางอย่างไม่ใช่เพราะทุจริตในหน้าที่ แต่เพราะไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้อื่น และต่อให้ทำเช่นนั้นจริง ก็จะยิ่งทำลายภาพลักษณ์ของมหาเถรฯ เพราะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น
ยิ่งบังคับใช้กฎหมายคณะสงฆ์ เช่น กรณีของสันติอโศก พระก็จะออกจากระบบการปกครองของมหาเถรฯ มากขึ้น สุดท้าย เมื่อเขาออกจากการปกครองและไม่มีใครอยากอยู่ใต้อำนาจ มหาเถรฯ ก็จะล่มสลายลงโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้จะนำไปสู่การเกิดรัฐโลกวิสัย ที่องค์กรศาสนากลายเป็นเอกชนไม่ขึ้นกับรัฐ ฉะนั้น การที่มหาเถรฯ นิ่งเฉยเมื่อมีพระกระทำผิด จึงถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะนั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้พุทธแบบไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้มหาเถรสมาคมเช่นนี้ได้ กล่าวได้ว่า องค์กรสงฆ์ไม่ได้มีอำนาจใดๆ เพียงแค่เลื่อนขั้นกันไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกหากไม่มีการตีความคำสอนเพื่อรับกับโลกสมัยใหม่
เมื่อเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐ พุทธไทยจึงไม่สนใจสิทธิมนุษยชน
มีการต่อต้านการคลุมผมของนักเรียนมุสลิมในโรงเรียนวัด ด้วยเหตุผลว่า ต้องเคารพต่อพื้นที่ของชาวพุทธและไม่สร้างความแตกแยก ความสามัคคีของชาวพุทธจึงหมายถึงการต้องทำสิ่งที่เหมือนกัน (ไม่แปลกเลยที่เราจะสนับสนุนให้ใส่ชุดนักเรียน เพราะมิฉะนั้น นักเรียนก็แต่งตัวอิสระและแตกสามัคคี?) มุสลิมได้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนามายัน แต่สุดท้ายก็ต้องแพ้ พ.ร.บ.สงฆ์ ที่ยืนยันว่า เขตวัดเป็นพื้นที่ปกครองของเจ้าอาวาส ฉะนั้นจึงต้องเคารพต่อคำสั่งของท่าน
ชาวพุทธไม่ได้มองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน (บังคับให้นักเรียนถอดผ้าคลุม) แต่เป็นชัยชนะที่ป้องกันการเติบโตของศาสนาอิสลาม และไม่มีพระสงฆ์กลุ่มใดออกมาแย้งการละเมิดเช่นนั้น นี่เพราะพระสงฆ์ล้วนอยู่ภายใต้มหาเถรฯ และรัฐบาลไทยซึ่งให้การสนับสนุนหลัก ความคิดที่แตกต่างไม่มีโอกาสได้แสดงออก ชาวพุทธจะออกมาเรียกร้องสิทธิเมื่อพบว่าตนเองไม่ได้สิทธิแบบคนอื่นเท่านั้น
สิ่งนี้ต่างกันมากกับกรณีที่ศาลในเมืองเมดานของอินโดนีเซียตัดสินให้ Ibu Meiliana ต้องจำคุก 18 เดือนข้อหาวิจารณ์ศาสนา (กล่าวว่าเสียงอาซานละหมาดดังรบกวนเธอ) องค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของอินโดฯ คือ NU และ Muhammadiya ออกประกาศว่าเธอไม่ได้ละเมิดศาสนาแต่ประการใด การปกป้องสิทธิของคนกลุ่มน้อยยังมีให้เห็นในอินโดฯ เพราะศาสนาเป็นองค์กรเอกชนที่ต้องอยู่รอดด้วยตนเอง และวิพากษ์รัฐได้
รัฐสวัสดิการกับแนวคิดพุทธเถรวาท
พุทธศาสนาเถรวาทแทบไม่สนใจประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การตีความให้พุทธรับใช้ประชาธิปไตย (ที่พระไทยเป็นเสื้อแดง เพราะหวังให้มีพุทธศาสนาประจำชาติ) รัฐสวัสดิการหรือความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่ฟรีเป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำให้เกิด เพราะจะลดทอนคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมในทางศาสนา
หาก A ต้องตายเพราะไม่มีเงินรักษาตัว ก็ถือเป็นเรื่องของกรรมแบบปัจเจก ซึ่ง A อาจไม่ได้บริจาคทานหรือได้ทำร้ายสัตว์ไว้เมื่อชาติที่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้คือ สอนให้คนหมั่นทำบุญรักษาศีล มิใช่มองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม สิ่งนี้โยงไปถึงการสนับสนุนให้ต้องประหารชีวิตคนชั่ว เพราะมองว่าเขาชั่วแบบปัจเจกและต้องกำจัด ต่างกับพุทธศาสนามหายานที่สนใจโครงสร้างสังคม เชื่อว่าคนไม่ได้ชั่วแต่กำเนิด แต่เพราะถูกสภาพแวดล้อมจัดสรร จึงต้องช่วยเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มหายานเช่น Tzu Chi จึงมีบทบาทอย่างมากในการทำงานเพื่อสังคม เงินบริจาคจะถูกนำมาสร้างโรงเรียน มัสยิด โรงพยาบาลและนำเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ (ดูเหมือนธรรมกายพยายามเลียนแบบกิจกรรมเหล่านี้ แต่ไปไม่ไกล เพราะจำกัดด้วยแนวคิดพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ เงินบริจาคจะได้จากการต้องมาทำบุญกับพระสงฆ์ก่อน มิได้เน้นว่าต้องช่วยเหลือสังคมโดยตรง และเงินมหาศาลก็ถูกใช้ในการหล่อพระทองคำ สร้างวัด มากกว่างานสาธารณประโยชน์แบบ Tzu Chi หากยึดตามนี้ ธรรมกายควรถูกจัดอยู่ในเถรวาทมากกว่ามหายาน)
การลดช่องว่างชนชั้นในสังคมและเปิดโอกาสให้ทุกคนรับสวัสดิการของรัฐจึงขัดกับการเปิดโอกาสให้มนุษย์รับกรรมที่เคยทำมา และปิดโอกาสที่คนรวยจะช่วยเหลือคนจนเพื่อสร้างภาพของคนมีจริยธรรม เพราะเงินที่คนรวยจ่ายภาษีให้รัฐ ไม่ได้ให้ภาพการทำบุญสุนทานแบบที่สังคมเถรวาทต้องการ หากอยากช่วยจริงๆ ก็ให้ทำในนามปัจเจกบุคคลเพื่อสะสมบารมีและเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อชาวพุทธเถรวาทจะเอาเป็นแบบอย่าง
สังคมผู้สูงอายุ ก็ไม่นิยมพูดกันในเถรวาท เพราะไม่จำเป็นต้องจัดการเรื่องรัฐสวัสดิการหรือแผนในการดูแลคนแก่ คัมภีร์ของเถรวาท (หลักทิศ 6) ระบุไว้ชัดว่า การดูแลพ่อแม่เป็นหน้าที่ของบุตรและเป็นการตอบแทนคุณ (กตัญญู กตเวทิตา) จะสังเกตได้ว่า คำสอนในเถรวาทมีทางออกให้กับหลายอย่าง แต่เป็นทางออกแบบทางเดียวและไม่รองรับความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่
จริงๆ มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมที่ปรากฏในโลกของพระศรีอริยเมตไตรด้วย แต่แนวคิดนี้ถูกทำลายไปด้วยความเป็นเถรวาทแท้ซึ่งเน้นไปที่พระสมณะโคดมเท่านั้น และศาสนาของพระองค์จะดำรงอยู่ห้าพันปี กล่าวคือ ปัจจุบันล่วงมาแล้ว 2561 ปี หากจะมีความเท่าเทียมและสุขสบายเช่นที่เชื่อกันในโลกพระศรีอาริย์ฯ ก็ต้องรออีกราว 2,500 ปี
ปัจจัยดังที่กล่าวมา เป็นตัวบั่นทอนพุทธศาสนาแบบไทยไม่ให้พัฒนาเพื่อรับกับโลกสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัด คนพุทธไทยยังอยากได้คนแก่ มีกิเลสน้อยมาบริหาร มากกว่าจะคิดว่าทำอย่างไรให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างเป็นอิสระ มีผู้นำที่ชาญฉลาดและตรวจสอบได้ เมื่อเรียกหาผู้นำที่น่ายกย่องบูชา และมอบความไว้วางใจทั้งหมดให้ ก็เป็นธรรมดาที่ตำแหน่งเช่นนั้นจะตกเป็นของคนแก่ ซึ่งเชื่อว่ามีจริยธรรม
แสดงความคิดเห็น