'แอมเนสตี้-กก.นิติศาสตร์สากล' ยินดีไทยถอนฟ้อง 3 นักสิทธิฯ ปมแฉซ้อมทรมานชายแดนใต้

Posted: 07 Mar 2017 10:11 PM PS  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

แอมเนสตี้-คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ชมการถอนฟ้อง 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมหวังทางการไทยจะดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องด้วยการถอนคำร้องทุกข์และยกเลิกข้อกล่าวหาต่าง ๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ด้วย


8 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าการที่กองทัพไทยได้ประกาศจะถอนคำร้องทุกข์คดีหมิ่นประมาทที่มีต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกสองคน ซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการจัดทำรายงานกรณีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ นับเป็นความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้น จากกรณีที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพไทยระบุว่าจะถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อ พรเพ็ญ, สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งร่วมกันจัดพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าเราขอชื่นชมการตัดสินใจของหน่วยงานทหารในการถอนคำร้องทุกข์ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กล้าหาญเหล่านี้ เราหวังว่าทางการจะดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องด้วยการถอนคำร้องทุกข์และยกเลิกข้อกล่าวหาต่าง ๆ ต่อนักนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่อย่างสงบโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยเช่นกัน

“คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิอื่นๆ โจมตีผู้ที่ใช้สิทธิของตนอย่างสงบในประเทศไทย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรมเช่นนี้ขึ้นมาอีก ทางการไทยควรพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเหล่านี้ และปรับปรุงให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว
'นักนิติศาสตร์สากล' ชี้เป็นข่าวดี แต่ยังมีคดีนักปกป้องสิทธิอื่นอีก

ขณะที่วานนี้ (7 มี.ค.60) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) ยินดีกับคำสั่งขอถอนเเจ้งความดำเนินคดีทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชื่อดังสามรายที่หยิบยกข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายเเดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ

“ถือว่าเป็นข่าวดีที่กองทัพไทยขอถอนเเจ้งความดำเนินคดีที่ไม่มีมูลเหล่านี้ เเม้ว่าไม่ควรจะมีการกล่าวหามาตั้งเเต่ต้นก็ตาม ทั้งนี้ ประเทศไทยควรจะต้องประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการประติบัติที่ทารุณโดยอิสระและมีประสิทธิภาพ” แซม ซาริฟี (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียประจำไอซีเจกล่าว

“ประเทศไทยควรจะชดเชยความเสียหายร้ายเเรงซึ่งเกิดขึ้นเเก่ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นเหยื่อจากการทรมาน รวมถึงภาคประชาสังคมที่เคยถูกขู่ว่าจะถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ เพื่อทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเงียบลง” แซม ซาริฟี กล่าว

โดยทางไอซีจีมีข้อห่วงกังวลมาตลอดกับการใช้กฎหมายอาญาโดยมิชอบ รวมถึงปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่เป็นปัญหาอยู่แล้วเพื่อทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหยุดความเคลื่อนไหว

“ประเทศไทยควรยกเลิกการดำเนินคดีทางอาญาที่ยังคงค้างอยู่ต่อบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการดำเนินคดีต่อทนายความ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ในข้อหายุยงปลุกปั่น อีกทั้งต้องรับรองว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกโต้กลับ” แซม กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ทางไอซีเจรอคอยที่จะเห็นกอ.รมน.ทำงานกับภาคประชาสังคมเพื่อยุติการทรมานเเละนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามที่ได้สัญญาไว้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559 องค์กรของประเทศไทยสามแห่ง ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีได้ออกรายงานซึ่งรวบรวม 54 คดีที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการประติบัติอย่างทารุณ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547

ต่อมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 (กอ.รมน.) ได้ตอบกลับการออกรายงานฉบับดังกล่าวด้วยการแจ้งความหมิ่นประมาททางอาญาต่อบรรณาธิการร่วม 3 ราย ได้แก่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) สมชาย หอมลออ (ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสประจำมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ) และอัญชนา หีมมินะ (ผู้ก่อตั้งเเละผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ)

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาทางอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามราย ได้แก่ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 326 เเละ มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงการนำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

จนกระทั่ง 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามราย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.