กรุงเทพโพลล์ระบุสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง คนรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติ 50%


Posted: 25 Mar 2017 03:35 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจกรณี สตง. สั่งสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 60 นักการเมืองยุค รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50 เห็นว่าสรรพากรมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการเลี่ยงภาษี ร้อยละ 40.1 เห็นว่าสรรพากรมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองจึงไม่ตรวจสอบตามที่ สตง.แจ้งตั้งแต่ต้นปี 2558



25 มี.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การตรวจสอบภาษีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง...ใครผิด ใครถูก” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,216 คน พบว่า

จากกรณี สตง. สั่งสรรพากรตรวจสอบภาษี 60 นักการเมืองยุค รัฐบาล นายกฯอภิสิทธิ์ และ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประชาชนร้อยละ 20.5 มีความเห็นว่า เป็นเกมทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม รองลงมาร้อยละ 17.8 มีความเห็นว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองเมื่อหมดวาระ และร้อยละ 14.2 มีความเห็นว่า นักการเมืองตั้งใจโกง/ตั้งใจไม่ยื่นภาษี

เมื่อถามว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมือง จะกระทบกับโรดแมปความปรองดอง สมานฉันท์หรือไม่ ประชาชน ร้อยละ 61.4 ระบุว่า ไม่กระทบความปรองดอง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 35.6 เห็นว่าการเสียภาษี เป็นหน้าที่ต้องพึงปฏิบัติอยู่แล้ว และ ร้อยละ 25.8 เห็นว่าการปรองดองไม่ควรเชื่อมโยงกับการละเว้นความผิด ในขณะที่ร้อยละ 38.6 ระบุการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมืองจะกระทบความปรองดอง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 22.0 เห็นว่า อาจเกิดกระแสการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน และร้อยละ 16.6 เห็นว่าอาจสร้างความไม่พอใจต่อนักการเมือง

ทั้งนี้สาเหตุที่กรมสรรพากรไม่มีการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองตามที่ สตง. แจ้ง ตั้งแต่ต้นปี 2558 นั้น ประชาชนร้อยละ 40.1 ระบุว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง รองลงมาร้อยละ 27.9 ระบุว่า สรรพากรมีกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบล่าช้า และร้อยละ16.6 ระบุว่า เกรงกลัวอิทธิพลของนักการเมือง

สำหรับความเห็นว่าควรมีการใช้มาตรการพิเศษเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 ระบุว่าควรมี ขณะที่ร้อยละ11.3 ไม่ควรมี ที่เหลือร้อยละ 7.2 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

ส่วนความเห็นต่อการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองในบ้านเมืองเรา ประชาชน ร้อยละ 50.0 เห็นว่า สรรพากรมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการเลี่ยงภาษี รองลงมาร้อยละ 30.2 เห็นว่า มีกระบวนการตรวจสอบที่ล่าช้า ขณะที่ร้อยละ 14.1 เห็นว่ามีกระบวนการตรวจสอบที่ดี บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ละเลยผู้กระทำผิด

ทั้งนี้หน่วยงานที่ควรทำหน้าที่ชี้ชัดว่านักการเมืองคนใดเข้าข่ายควรถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 39.1 ระบุว่าควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช. ) รองลงมาร้อยละ 31.9 ระบุว่า ควรเป็นหน้าที่ของ กรมสรรพากร และร้อยละ 29.0 ระบุว่า ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.