คสช.แจงเองปมรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ชี้วิถีปัจจุบันของชุมชนก็ต่างจากในอดีต

Posted: 23 Mar 2017 12:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รองโฆษก คสช. ยันรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ คำนึงถึงกฎหมาย อัตลักษณ์ ความร่วมมือของชุมชน ประโยชน์ในการใช้พื้นที่ ชี้สภาพของชุมชนในปัจจุบันแตกต่างอย่างชัดเจนกับวิถีของชุมชนนี้ในอดีต รัฐหวังพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ โดยยังดำรงความเป็นโบราณสถานไว้



เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีที่มีข้าราชการบำนาญกรมศิลปากรได้วิจารณ์ผ่านสื่อมวลชนถึงการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ศึกษาประวิติศาสตร์และมุ่งเพียงการจัดระเบียบสังคมเท่านั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Army PR Center' ของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง ​รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า ​การพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นการดำเนินการร่วมกันของหลายหน่วยงาน อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมศิลปากร เป็นต้นดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาร่วมให้คำแนะนำ โดยมี กทม. เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการโดยพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ ทั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย

​รองโฆษก คสช. ระบุว่า วิถีชุมชน เอกลักษณ์ความเป็นโบราณสถาน มีกรอบการทำงานที่ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด มีการเยียวยากับประชาชนในชุมชน ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อมมา โดยตลอด ขอเรียนว่าการที่คสช. เข้าให้การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬนั้น มิได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ให้เกิดความเรียบร้อยเท่านั้น หากแต่ได้คำนึงถึงกฎหมาย อัตลักษณ์และความร่วมมือของชุมชน รวมถึงประโยชน์ในการใช้พื้นที่ร่วมกันของประชาชนเป็นส่วนรวม อีกทั้งเป็นไปตามกระบวนการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ ทั้งนี้หากพิจารณาสภาพของชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนกับวิถีของชุมชนนี้ในอดีต และคงจะทำให้ได้เข้าใจถึงความจำเป็นของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ โดยยังดำรงความเป็นโบราณสถานไว้

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า การจัดระเบียบสังคมที่ คสช. เข้าดำเนินการในแต่ละพื้นที่ มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิ จัดระเบียบเพื่อบังคับใช้กฎหมาย จัดระเบียบเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย จัดระเบียบเพื่อเกิดความร่วมมือและข้อตกลงร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยก่อนที่จะเข้าดำเนินการหรือให้การสนับสนุน ได้มีการศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานอย่างรอบคอบ กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ได้มีการศึกษาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาพิจารณาแนวทางที่ชุมชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมในอนาคต และเป็นพื้นที่ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

​รายงานของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ระบุอีกว่า ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2492 และตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมารัฐบาลทุกสมัย มีการปรับปรุงป้อมมหากาฬ ให้มีความสะอาดเรียบร้อย และเป็นการอนุรักษ์โบราณและสถาปัตยกรรมของไทยมาโดยตลอด รวมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พร้อมทั้งได้ออก “พ.ร.ก. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. ปี 2535” เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและโบราณสถาน โดยมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือจากชุมชนป้อมมหากาฬให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นการบุกรุก จนกระทั่งในปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดมี คำวินิจฉัยชี้ขาดให้ กทม. มีสิทธิรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬได้ เนื่องจากมีการตกลงซื้อขายและจ่ายเงินค่าทดแทนแล้ว ปัจจุบัน กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ โดยยังคงอนุรักษ์ความเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.