Posted: 25 Mar 2017 03:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง 2 ราย ยื่นฟ้องต่อสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์สชดเชยค่าเสียหาย ชี้ต้นสังกัดไม่สามารถบังคับใช้นโยบายห้ามพนักงานแสดงความเห็นดูหมิ่นและคุกคามทางเพศทางโซเชียลมีเดียได้
สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส (American Airlines) ถูกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง 2 รายได้ยื่นฟ้องร้อง หลังถูกเพื่อนร่วมงานชายใช้โซเชียลมีเดียเหยียดหยามและคุกคามทางเพศ ที่มาภาพประกอบ: Flickr/Briyyz
25 มี.ค. 2560 การเหยียดหยามและคุกคามทางเพศผ่านเฟซบุ๊กจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง กำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาในยุคปัจจุบัน อย่างกรณีล่าสุดที่เว็บไซต์ travelpulse.com รายงานเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง 2 คนได้ยื่นฟ้องต่อสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ (American Airlines) ให้ชดเชยค่าเสียหาย หลังถูกพนักงานชายใช้โซเชียลมีเดียเหยียดหยามและคุกคามทางเพศพวกเธอ หลังที่พวกเธอสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและมองหาตำแหน่งในสหภาพ
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2 คนนี้ คนหนึ่งทำงานอยู่ที่ฟิลาเดเฟีย ส่วนอีกคนอยู่ที่ชาร์ลอต ซึ่งสื่อท้องถิ่นได้รายงานว่าพวกเธอได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลกลางที่เพนซิวาเนีย เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยทั้งคู่ระบุว่าสายการบินฯ ไม่สามารถบังคับใช้นโยบายห้ามไม่ให้พนักงานแสดงความเห็นดูหมิ่นและคุกคามทางเพศเพื่อนร่วมงานในโซเชียลมีเดียได้
เมลิสซา ชินเนอรี (Melissa Chinery) หนึ่งในโจทก์ยื่นฟ้องร้องระบุว่าเธอถูกกลุ่มพนักงานต้อนรับผู้ชายคุกคามและใช้คำหยาบคายเรียกชื่อ หลังเธอประกาศว่ากำลังหาตำแหน่งในสหภาพแรงงาน นอกจากนี้เธอยังถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ขณะที่โจทก์อีกคนหนึ่งระบุว่าเธอถูกคุกคามเช่นเดียวกันหลังประกาศลาออกจากตำแหน่งในสหภาพแรงงาน
ด้านทนายความระบุว่าพนักงานผู้หญิงบางส่วนรู้สึกว่าสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ไม่ได้ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการข่มขู่ที่ไม่เหมาะสมจากพนักงานด้วยกันเอง
อนึ่งประเด็นเหยียดเพศในอุตสาหกรรมสายการบินเป็นข่าวมาอยู่เนือง ๆ ทั่วโลก แม้แต่บ้านเราเอง โดยเมื่อปีที่แล้ว (2559) นักบินของสายการบินนกแอร์นัดประท้วงด้วยการหยุดบิน ทำให้ผู้โดยสารหลายพันคนตกค้างที่สนามบิน จากนั้นก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างซีอีโอและพนักงาน กระทั่งซีอีโอนกแอร์ 'พาที สารสิน' ได้โพสต์ข้อความต่อว่าซึ่งมีคำสำคัญ 'ไปใส่กระโปรงไป' ก็ถูกกระแสตีกลับจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสิทธิสตรีที่ได้ออกมาต่อว่าการกระทำของพาทีว่าคือการเหยียดเพศ
แสดงความคิดเห็น