Posted: 24 Mar 2017 03:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
นักเศรษฐศาสตร์เสนอรัฐผลักดันการเก็บภาษีผลได้จากทุนหรือภาษีกำไรจากการขายหุ้นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน เพิ่มรายได้รัฐ เพิ่มเสถียรภาพตลาดหุ้นในระยะยาว อาจกระทบการลงทุน ต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำใหญ่กว่า เชื่อผลได้มากกว่าผลเสีย
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กำไรจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กกว่า 4 หมื่นล้านโดยไม่เสียภาษี เมื่อปี 2549 คือชนวนใหญ่ที่ทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่และเรื้อรังเป็นปัญหาทางการเมืองจวบจนปัจจุบัน
ประเด็นภาษีหุ้นชินคอร์ปเงียบหายไปนาน กระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในครั้งนั้น เนื่องจากคดีกำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560 กระแสจึงกลับมาอีกครั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกกับสื่อมวลชนว่าต้องใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อเก็บภาษีก้อนนี้ ตามมาด้วยข่าวการเรียกเก็บภาษี 60 นักการเมือง นัยว่าเพื่อกลบกระแสการเลือกปฏิบัติ เลยต้องหว่านให้ถ้วนทั่ว
เป็นที่รู้กันดีว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากผู้ขายได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น กำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่การขายหุ้นชินคอร์ปในครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เห็นว่ามีการวางขั้นตอนอย่างซับซ้อนเพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่นั่นไม่ใช้ประเด็นที่จะพูดคุยกันในที่นี้
หากไม่ทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองที่มุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้ามแล้ว การหยิบยกเรื่องเก็บภาษีผลได้จากทุนหรือจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นก็ดูจะเป็นตัวเลือกเชิงนโยบายข้อหนึ่งที่พึงพิจารณา เพราะจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มเสถียรภาพตลาด
จากงานศึกษา ‘การสำรวจองค์ความรู้ภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น และข้อเสนอสำหรับประเทศไทย’ ของภาวิน ศิริประภานุกูล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การแปลงเงินเป็นหุ้นและปล่อยให้มูลค่าของหุ้นที่ถือเพิ่มขึ้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าวิธีการนี้ให้ผลประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากกว่าการนำเงินไปลงทุนในด้านอื่น ทำให้การถือครองหุ้นไม่ต่างกับการสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไรแต่อย่างใด อีกทั้งการศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่าการยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นจะช่วยให้เพิ่มการออมและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่มุมข้างต้น ทำให้คนมีเงินเก็บ มีรายได้สูง มีแต้มต่อในการสั่งสมความมั่งคั่ง การไม่เก็บภาษีจากผลได้ตรงนี้จึงเท่ากับซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ
ประเด็นความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมองเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง แต่ภาวินยังมองอีกว่า การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะยาว เนื่องจากจะมีการนำระยะเวลาการถือครองหุ้นมาคิดคำนวน อัตราภาษีที่เก็บจากนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะต่ำกว่านักลงทุนแบบเก็งกำไรที่ถือหุ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นลง ในระยะยาวราคาและผลตอบแทนจากตลาดหุ้นจะปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพขึ้น ความผันผวนลดลง และนักลงทุนระยะยาวจะเข้ามาทดแทนสภาพคล่องที่หายไปในที่สุด
ประเด็นคือแนวคิดข้างต้นกำลังพูดถึงการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซึ่งเมื่อขายได้กำไรก็ควรต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริง กลุ่มตระกูลมหาเศรษฐีหุ้นไทยมิใช่กลุ่มที่ซื้อมาขายไปเพื่อหวังกำไรส่วนต่าง หากเป็นการถือครองหุ้นโดยไม่มีการขายออกและปล่อยให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา เมื่อไม่มีการขายหุ้นออกไปเพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ แนวคิดภาษีผลได้จากทุนจึงอาจใช้ไม่ได้ผลกับกลุ่มนี้
ประเด็นนี้ ภาวิน แสดงความเห็นว่า ตัวภาษีสามารถออกแบบเพื่อเก็บจากกลุ่มนี้ได้ อย่างการจัดเก็บเมื่อมีการโอนย้ายหุ้นให้กับทายาท เป็นต้น เพียงแต่ในปัจจุบันยังอาจยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก
ยังไม่ถึงเวลาเก็บภาษีผลได้จากทุน
ด้านคนที่อยู่ในตลาดทุนมีมุมมองที่แตกต่างไปในเรื่องนี้ ข้อโต้แย้งหลักๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีผลได้จากทุนคือ
1.ตลาดทุนไทยยังไม่พัฒนาเพียงพอ การยกเว้นการเก็บภาษีจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดทุน
2.การลงทุนในหุ้นอาจขาดทุนได้ การเลือกเก็บเฉพาะภาษีจากกำไรอาจไม่เป็นธรรม แต่ประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยหากนักลงทุนขาดทุนสามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักลดหย่อนหรือคืนภาษีได้
3.จะทำให้จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นลดลง สภาพคล่องลด ซึ่งจะกระทบให้การระดมทุนในตลาดหุ้นขาดประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูงขึ้น
4.เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกำไรของบริษัทถูกหักภาษีไปแล้ว และเมื่อนำกำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุนก็ถูกหักภาษีอีกรอบหนึ่ง หากยังเก็บจากส่วนต่างราคาหุ้นอีกย่อมเท่ากับเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนถึง 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสุดท้ายมีคำอธิบายว่า แม้ว่ากำไรของบริษัทที่จ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นถือว่าเก็บซ้ำซ้อนจริง แต่ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นคือมูลค่าสะสมของทุนที่สะท้อนแนวโน้มการเติบโตของบริษัท หุ้นจึงถือเป็นสินทรัพย์ การเก็บภาษีผลได้จากทุนจึงเป็นการเก็บภาษีสินทรัพย์เช่นเดียวกับการเก็บภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก
ผลักดันให้เป็นนโยบายถาวร
ภาวิน กล่าวกับประชาไทว่า หากจะจัดเก็บโดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากคนที่อยู่ในตลาดทุนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน การจัดเก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงสมเหตุสมผล
“มองอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่ค้านก็มองในด้านประสิทธิภาพ เพราะถ้าเราจัดเก็บในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราไปไม่ได้จัดเก็บ มันจะกระทบกับเรื่องการลงทุนทันที ไม่ใช่กระทบทางตรง แต่จะกระทบในทางอ้อม คือจะเพิ่มต้นทุนการระดมทุนในภาพรวมของบริษัทในไทย ถ้าคนลงทุนในตลาดหุ้นน้อย ราคาจะตก บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นต้องอ้างอิงกับบริษัทที่อยู่ในตลาด จะทำให้ระดมทุนได้น้อย ขณะที่ต้นทุนยังใกล้เคียงของเดิม ต้นทุนต่อหน่วยของเงินที่ระดมได้จะสูงขึ้น
“บางคนก็คิดว่าต้นทุนมีความสำคัญมาก เพราะต้นทุนการเงินของเราสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ หากว่าตลาดทุนสูญเสียเรื่องนี้ไปอีกก็จะยิ่งทำให้เราเสียเปรียบประเทศรอบข้างขึ้นไปอีก”
แต่ความคิดของภาวินเห็นว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะมีประโยชน์กว่า คือทั้งลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินและเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล
“ข้อถกเถียงเรื่องต้นทุนทางการเงินก็มีเหตุผลและเราอาจจะกระทบแน่ๆ แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้น้ำหนักกับเรื่องไหนมากกว่ากัน ในมุมมองของผม ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย และอาจสำคัญกว่าการสร้างความเติบโตด้วยซ้ำ เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตส่วนใหญ่เป็นคนฐานะดี การลดการจัดเก็บภาษีจากคนฐานะดี ถึงจะสร้างการเติบโตได้ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับประโยชน์”
ส่วนกรณีการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป แม้ภาวินจะเห็นว่าควรต้องเก็บภาษี เพราะเป็นการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เพียงแค่ใช้วิธีกลวิธีที่ทำให้ดูเหมือนขายในตลาดเพื่อเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยที่จะใช้กระบวนการพิเศษเพื่อเล่นงานทางการเมืองเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่รัฐควรผลักดันการเก็บภาษีผลได้จากทุนเป็นนโยบายถาวรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินไปเลย
คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะกล้าเก็บภาษีจากคนรวยในตลาดหุ้นหรือไม่ ภาวินไม่ได้กล่าว
แสดงความคิดเห็น