Posted: 24 Mar 2017 01:30 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กสม. เผยที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา จนท.พาผู้ต้องขังไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล พบแพทย์ตามนัดและคลอดที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยและยังทำให้เด็กไม่ต้องระบุในใบแจ้งเกิดว่าคลอดที่ทัณฑสถานฯ พร้อมมีพี่เลี้ยงที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาช่วยดูแล
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา
24 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เชิงกัลยาณมิตร ที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ฉัตรสุดา ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ทางคณะฯ จะดูตั้งแต่สภาพทางกายภาพ เช่นโครงสร้างสถานที่ สถานที่โรงฝึกงาน สถานที่เยี่ยมของญาติ การบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงประเด็นด้านเด็กในกรณีที ซึ่งเป็นประเด็นที่มักเป็นปัญหาในหลายๆ แห่ง โดยที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมานั้น เมื่อมีผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์เข้ามาภายในทัณฑสถานฯ ทางเจ้าหน้าที่จะพาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรวมถึงพาไปพบแพทย์ตามนัดจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดคลอด ก็พาไปคลอดที่โรงพยาบาลนอกจากเพื่อความปลอดภัยของมารดาแล้ว ยังทำให้เด็กที่เกิดมาไม่ต้องระบุในใบแจ้งเกิดว่าคลอดที่ทัณฑสถานฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กในอนาคตอีกด้วย
โดยเด็กทุกคนที่คลอดจากมารดาซึ่งเป็นผู้ต้องขัง จะได้รับวัคซีนครบถ้วนตามมาตรฐานของโรงพยาบาล และเมื่อกลับมายังทัณฑสถานฯ จะมีการแยกพื้นที่ให้เด็กได้อยู่กับมารดาเป็นสัดส่วนจากผู้ต้องขังในแดนต่างๆ และมีพี่เลี้ยงที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาช่วยดูแล และเน้นการให้เด็กได้ดื่มนมแม่เนื่องจากมีคุณประโยชน์และยังมีการให้นมผงช่วยเสริมโดยได้รับงบประมาณจากกรมราชทัณโดยมารดาซึ่งเป็นผู้ต้องขังสามารถอยู่กับบุตรได้จนถึงอายุ 1 ปี จากนั้นจะมีการติดต่อญาติให้มารับไปดูแล เพื่อการเจริญเติบโตของเด็กในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป
ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ชาติชาย กล่าวว่า สำหรับเรือนจำหญิงในประเทศไทยต้องขอบคุณข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเสนอเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เนื่องจากมีความเปราะบางกว่าผู้ต้องขังชาย จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกและรวมทั้งยังถูกนำมาใช้จริงในทัณฑสถานหญิงในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ซึ่งหลักการนี้ทำให้การควบคุม การปฎิบัติ และแนวทางการดูแลผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการฝึกทั้งด้านความเป็นอยู่ ด้านจิตใจและฝึกอาชีพที่หลากหลาย ทั้งนี้ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมาถือเป็นต้นแบบที่ดีในการปฎิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ จากที่เรามาดูวันนี้จะเห็นได้ว่ามีการรักษาความสะอาดดีที่มาก มีกิจกรรมที่ค่อนข้างเป็นระบบ ก็ต้องชมเชยที่สามารถดูแลผู้ต้องขังหญิงได้เป็นอย่างดี มีเพียงบ้างเรื่องที่ยังต้องมีการพูดคุยกันในเกี่ยวกับการทำงานของผู้ต้องขังหลังจากพ้นโทษ เนื่องจากมีกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ควบคุมการประกอบอาชีพพนักงานนวด โดยต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะสามารถทำงานได้และผู้ที่มีประวัติการทำความผิดไม่สามารถเป็นผู้ประกอบกิจการสปาได้ ทำให้ถึงแม้จะผ่านการฝึกชีพมาแล้วจากในทัณฑสถานก็ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้
สุดารัตน์ ภู่พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนปกครองและทัณฑปฎิบัติ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา
สุดารัตน์ ภู่พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนปกครองและทัณฑปฎิบัติ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา กล่าวว่า ที่ทัณฑสถานฯ จะมีการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งการศึกษานอกโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงวิทยาลัยการอาชีพปากช่องที่จะเข้ามาสอนอาชีพให้กับผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังที่นี่จะได้การฝึกทั้งวิชาชีพและแรงงานรับจาก ได้แก่การนวดแผนไทย ซัดรีดเสื้อผ้า ล้างรถ การทำสิ่งประดิษฐ์ ทำน้ำหอม เสริมสวย และวิชาการโรงแรม โดยผู้ต้องขังที่เหลือโทษน้อยกว่า 3 ปีครึ่ง จะได้รับโอกาสให้ออกไปทดลองฝึกอาชีพด้านนอก โดยบริเวณด้านหน้าทัณฑสถานจะมีร้านนวด ร้านล้างรถ เสริมสวย ร้านกาแฟ และร้านค้าขายสิ่งประดิษฐ์จากผู้ต้องขังและบริการโดยผู้ต้องขังหญิงที่ผ่านการฝึกอาชีพมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กิจกรรมสวตมนต์และนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตใจของผู้ต้องขัง
แสดงความคิดเห็น