วิบากกรรมไม่รู้จบของเกลืออีสาน

Posted: 24 Mar 2017 04:02 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นับตั้งแต่การฟ้องคดีเมื่อปี 2548 ก็เป็นเวลาล่วงเลยมา 12 ปีแล้ว แต่ถ้านับตั้งแต่การต่อสู้ของชาวบ้านก็เป็นเวลาล่วงเลยมามากกว่า 26 ปีแล้ว ที่ความยุติธรรมของชาวบ้านหลายหมู่บ้านในเขตตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ (อำเภอโนนไทยเดิม) จังหวัดนครราชสีมาได้รับจากศาลปกครองสูงสุดเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอกที่ทุกข์ระทมมานาน ก็เพราะศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.219/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1188/2559 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 โดยแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 24 ตุลาคม 2534

และพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับเดียวกัน ที่ตั้งอยู่ในและนอกเขตท้องที่บ้านโพนไพลทั้งสิ้น 10 โรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่อนุญาต

คดีนี้เริ่มต้นจากชาวบ้าน 22 คน จากหมู่บ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ 19 ต.พังเทียม อ.พระทองคำ (อ.โนนไทย เดิม) จ.นครราชสีมา ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ฟ้องคดี เพราะเห็นว่าการประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ในท้องที่หมู่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 ในเขตท้องที่ตำบลเดียวกัน ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง ชาวบ้านในหมู่บ้านทองหลางพัฒนาหลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติสุขได้ อันเนื่องจากโรงงานทำเกลือลักลอบปล่อยน้ำเสียลงไปในลำรางสาธารณะ และจากสภาพภูมิศาสตร์ หมู่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 มีระดับพื้นที่สูงกว่าหมู่บ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 และบ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ 19 จึงทำให้น้ำเสียจากการทำเกลือไหลลงสู่ลำรางสาธารณะและกระจายสู่พื้นที่บ้านทองหลางและบ้านทองหลางพัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ทำให้สภาพทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติและพืชผักที่เป็นอาหารของคนและสัตว์ได้ลดจำนวนลง ไม่สามารถใช้น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในการอุปโภค บริโภค และไม่สามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงกินได้ ในฤดูแล้งน้ำในสระที่ชาวบ้านหมู่บ้านทองหลางพัฒนากักเก็บไว้เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและให้สัตว์เลี้ยงกินก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะน้ำมีความเค็ม อีกทั้งน้ำเสียดังกล่าวยังไหลลงสู่ที่นา ทำให้ไร่นาของชาวบ้านหมู่บ้านทองหลางพัฒนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ไร่นาที่เคยให้ผลผลิตมากปัจจุบันผลผลิตตกต่ำมาก

ถ้าย้อนดูตั้งแต่คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ที่วินิจฉัยไว้ได้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว ศาลจึงไม่จำต้องมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัว ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.47/2546

โดยศาลยกเหตุที่ว่า มาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 บัญญัติให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศกำหนดจำนวนโรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) และบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้ แต่เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเห็นว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเป็นการออกประกาศเพื่อกำหนด ‘ท้องที่’ ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน มิใช่เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนด ‘จำนวน’ โรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) และบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้ จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว

และกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติในการออกประกาศว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งร่างประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยที่มติ ครม. 9 กรกฎาคม 2534 เป็นมติ ครม. ที่ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่และมาตรการในการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งหลังจากที่ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการดังกล่าวแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว โดยได้นำหลักการตามมติ ครม. 9​ กรกฎาคม 2534 มากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะอนุญาตให้ทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินว่าเป็นพื้นที่ใด อยู่ในตำบล อำเภอ จังหวัดใด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นไปตามหลักการตามมติ ครม. ดังกล่าว และกำหนดมาตรการในการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ก่อนที่จะนำประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 อีกคราหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมิได้นำประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปให้ ครม. เห็นชอบก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้กำหนดไว้แล้ว ประกาศกระทรวงฯฉบังดังกล่าวจึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กล่าวไว้แล้ว

และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินของทั้ง 10 โรงงาน ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกโดยอาศัยประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว จึงเป็นการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย

จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเท่านั้น

ส่วนการให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งสิ้น 10 โรงงาน ศาลปกครองสูงสุดยังพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเช่นเดิม

ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงส่งผลให้ยกเลิกโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเฉพาะในเขตท้องที่บ้านโพนไพลเท่านั้น แต่ไม่สามารถยกเลิกโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่อื่น ๆ ของจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่น ๆ ของภาคอีสานที่มีอยู่ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งหมดได้

ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความหวังว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทุกข์ทนมานานจากการทำเกลือของหลายโรงงานโดยรอบเขตท้องที่บ้านโพนไพลจะได้รับความสงบสุขอย่างถาวรเสียทีหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา แต่มันก็เป็นเพียงความปลาบปลื้มดีใจที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ออกมาร่วมเฉลิมฉลองไชโยโห่ร้องกับชัยชนะจากการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วัน เริ่มแรกก็นั่งเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่โรงงานเหล่านั้นที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตจะหยุดประกอบกิจการ แม้ว่าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือน จึงได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เตือนมายังโรงงานเหล่านั้นให้หยุดประกอบกิจการ มิฉะนั้นหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายโรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็เริ่มเห็นวี่แววในทางที่ดีว่ามีบางโรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กหยุดประกอบกิจการ แต่ยังมีอีกหลายโรงงานซึ่งทั้งหมดเป็นโรงงานขนาดใหญ่ไม่ยอมหยุดประกอบกิจการ อาทิเช่น บริษัท ศรีเอเซีย เคมิคอล จำกัด ทั้งโรงงาน 1 และโรงงาน 2 ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 และบ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 ตามลำดับ และบริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกันทางสายเลือดและมีที่ดินโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่บ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 ติดต่อกัน จึงทำให้มีข้อสังเกตจากชาวบ้านว่าอาจจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทศรีเอเซียฯที่อาจจะลักลอบสูบน้ำเกลือใต้ดินส่งให้แก่บริษัทสยามทรัพย์มณีฯ เพราะในขณะที่บริษัทสยามทรัพย์มณียังทำการผลิตเกลือเม็ดต่อไปโดยอ้างว่าซื้อน้ำเกลือมาจากท้องที่อื่น แต่ก็ไม่เห็นมีรถขนส่งน้ำเกลือวิ่งเข้า-ออกบริษัทแต่อย่างใด ซึ่งเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมายโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นการสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่บ้านโพนไพลตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด และการผลิตเกลือเม็ดก็อยู่นอกเหนือความหมายของการทำเกลือสินเธาว์ตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว เพราะเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบเดียวกับการผลิตเกลือเม็ดของบริษัท เกลือพิมาย จำกัด ที่ตำบลกระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา โดยนำน้ำเกลือไปพ่นผ่านความร้อนในท่อจนแห้งออกมาเป็นเกลือเม็ด ต่างจากการทำเกลือสินเธาว์ที่ต้องต้มน้ำเกลือบนกระบะขนาดใหญ่หรือตากน้ำเกลือบนแปลงนาข้าว

ส่วนบริษัทศรีเอเซียฯก็อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายโดยสูบน้ำเกลือใต้ดินในเขตท้องที่บ้านทองหลางซึ่งเป็นคนละท้องที่กับบ้านโพนไพลตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพลเป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน อย่างไรเสียก็มีปัญหาทางกฎหมายให้ต้องปฏิบัติอยู่ดี แต่กลับถูกละเลยเพิกเฉยจากหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวระบุเงื่อนไขไว้ชัดว่าไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบังดังกล่าว ซึ่งบ้านทองหลางเป็นเขตท้องที่ที่่ไม่ได้ถูกประกาศเอาไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว

ล่าสุดบริษัทสยามทรัพย์มณีได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยขอให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุให้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของตน โดยยื่นขอเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 เพิ่มเข้ามา ซึ่งศาลปกครองได้ประทับรับฟ้องเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ต่อมา แทบที่จะไม่ได้ยกภูเขาออกจากอกเลย ความตึงเครียดครั้งใหม่ของชาวบ้านก็ได้ก่อตัวขึ้น อันเนื่องมาจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่เพื่อต้องการล้างมลทินให้กับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้สามารถเปิดโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเดินเครื่องต่อไปได้ โดยจัดทำ ‘-ร่าง- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนด จํานวน ขนาด และประเภทหรือชนิดของโรงงานทําเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบหรือนําน้ําเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ที่ไม่ให้ตั้งในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ....’ นี้ขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม 2560 เพื่อจะนำมาแทนที่ประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว ปัจจุบันร่างฯดังกล่าวอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำเรื่องเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบอยู่ในขณะนี้

ปัญหาของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ต่อนิยาม ‘น้ำเกลือใต้ดิน’

สาเหตุหนึ่งที่ กพร. ต้องร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ประกาศกระทรวงฉบับเก่าที่ถึงแม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพลเป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเท่านั้นก็ตาม แต่หากไม่ยกเลิกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งฉบับก็อาจจะมีปัญหาการฟ้องร้องอีกหลายคดีจากชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ของภาคอีสานตามมาอย่างแน่นอน รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นเองที่ว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัวแล้วนั้น ยังมีสถานะนำมาอ้างอิงได้ในกรณีการฟ้องคดีอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมายของชาวบ้านในท้องที่ที่ถูกระบุเอาไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุที่กล่าวมามันจึงส่งผลเกือบจะอัตโนมัติให้ประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวมีสภาพใช้การไม่ได้ทั่วประเทศหากไม่รีบทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อปิดโอกาสการฟ้องคดีของชาวบ้านในท้องที่อื่น และไม่เปิดพื้นที่หรือโอกาสให้นำคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นมาอ้างอิงในการฟ้องคดีของชาวบ้านในท้องที่อื่นอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้สังคมหยุดหรือหันเหความสนใจในการวิพากษ์วิจารณ์ที่นำความเสียหายมาสู่หน่วยงาน กพร. เพื่อปิดบาดแผลความมักง่ายขององค์กร

อีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อเปลี่ยนรูปแบบจากการกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินโดยใช้ ‘เขตปกครอง’ ซึ่งมีข้อผิดพลาดมากมายจนปล่อยปละละเลยโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตท้องที่ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวให้ประกอบการได้โดยไม่บังคับเอาผิด มาเป็นการใช้ ‘เขตแผนที่’ เป็นเกณฑ์แทน เพราะเห็นว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้ตอบสนองหรือสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการด้านธรณีวิทยาต่อแหล่งน้ำเกลือใต้ดินที่แม่นยำมากกว่า

แต่นั่นก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะไม่ว่าจะเป็นการกำหนดท้องที่โดยใช้เขตปกครองหรือเขตแผนที่่ก็ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชนแต่อย่างใด เหตุเพราะว่าถึงแม้จะตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือใต้ดินตามเขตท้องที่ที่กำหนดโดยเขตปกครองหรือเขตแผนที่ก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากความเค็มของเกลือและน้ำเกลือก็สามารถไหลออกนอกเขตท้องที่ที่กำหนดได้อยู่เสมอ รวมถึงหลักเกณฑ์ที่่ไม่ว่าจะกำหนดท้องที่ตามเขตปกครองหรือเขตแผนที่ก็มักพบเห็นว่าแหล่งเกลือหินใต้ดินซ้อนทับกับพื้นที่เกษตรกรรมบนผิวดินของชาวบ้านตามหมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ อยู่เสมอเช่นเดียวกัน

ในส่วนของกฎหมายแร่เองถึงแม้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’ จะถูกประกาศใช้และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 แต่ก็ยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะล่วงเข้าเดือนกรกฎาคม 2560 หลังพ้นกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบันจึงยังใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับเก่า’ อยู่เช่นเดิม แต่กฎหมายแร่ทั้งสองฉบับในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘น้ำเกลือใต้ดิน’ ก็แทบไม่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ แม้กฎหมายแร่ฉบับใหม่จะตัดบทบัญญัติในหมวด 5 ทวิ การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ตั้งแต่มาตรา 91 ทวิ ถึงมาตรา 90 อัฎฐ ของกฎหมายแร่ฉบับเก่าทิ้งไปทั้งหมด โดยไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเกี่ยวกับน้ำเกลือใต้ดินหลงเหลืออยู่เลย แต่เพียงแค่นิยาม ‘น้ำเกลือใต้ดิน’ ในมาตรา 4 ของกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับเพียงมาตราเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ กพร. สามารถออกประกาศกระทรวงหรือไม่ออกประกาศกระทรวงเพื่อทำให้ ‘น้ำเกลือใต้ดิน’ มีสภาพยกเว้นไม่จัดว่าเป็นแร่ตามกฎหมายแร่ได้



ตารางเปรียบเทียบนิยาม ‘น้ำเกลือใต้ดิน’ ระหว่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
มาตรา 4 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
“แร่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรีย์วัตถุ มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำเกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดินหรือทราย “แร่” หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หินตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม แต่ไม่รวมถึงน้ำ หรือเกลือสินเธาว์
“น้ำเกลือใต้ดิน” หมายความว่า น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติและมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง “น้ำเกลือใต้ดิน” หมายความว่า น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติ และมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด


เดิมตามกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับกำหนดให้ ‘น้ำเกลือใต้ดิน’ ถูกจัดเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่ต้องดำเนินการขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่มีเทคนิคทางกฎหมายเพียงนิดเดียวเท่านั้นที่จะทำให้น้ำเกลืิอใต้ดินพ้นสภาพการเป็นแร่ได้ นั่นคือ หนึ่ง-ออกประกาศกระทรวงกำหนดให้ความเข้มข้นของน้ำเกลือใต้ดินมีค่าสูงกว่าความเข้มข้นของน้ำเกลือที่มีอยู่ในใต้ดินตามธรรมชาติ เมื่อน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติมีค่าความเข้มข้นต่ำกว่าที่ประกาศกำหนดก็จัดได้ว่าน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติไม่เป็นแร่อีกต่อไป สอง-ในด้านตรงข้ามก็ทำได้เช่นเดียวกันคือไม่ออกประกาศกระทรวงกำหนดค่าความเข้มข้นของน้ำเกลือใต้ดิน ปล่อยว่างไว้เช่นนั้น เพียงเท่านี้ก็สามารถสูบน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติขึ้นมาโดยไม่จัดว่าเป็นแร่ได้ เพียงเท่านี้ในทั้งสองกรณีก็ทำให้การตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติขึ้นมาไม่ถูกจัดว่าเป็นแร่ที่ต้องดำเนินการขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ และไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่อย่างใด โดยเลี่ยงเอากฎหมายโรงงานมาใช้บังคับแทน

ต้นทุนราคาถูก ชีวิตราคาถูก

เกลืออีสานเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีปริมาณมหาศาลฝังอยู่ใต้ดินไม่ต่ำกว่า 18 ล้านล้านตัน นั่นคือตัวเลขปริมาณสำรองที่พิสูจน์เกือบจะแน่ชัดแล้วโดยนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณีและ กพร. โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญรองลงมาจากวัตถุดิบอื่นในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณลดน้อยลงเรื่อย ๆ ต่างจากปริมาณสำรองเกลือในภาคอีสานที่มีปริมาณมหาศาลสามารถใช้งานได้อีกนานหลายร้อยปี จึงถูกทำให้เป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยละเลยความสำคัญอีกด้านหนึ่งของเกลือลงไป นั่นคือ การเป็นวัตถุดิบที่มีความเป็นอันตรายสูงจากการนำขึ้นมาใช้ บทเรียนที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเสียวในเขตหนองบ่อ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วทำให้เห็นศักยภาพของวัตถุดิบชนิดนี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความล่มสลายทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่นั่น

ทั้ง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่มีอันตรายสูงต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน แต่รัฐและผู้ประกอบการกลับไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น กลับวางมาตรการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ในการดูแลเอาใจใส่ต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนอย่างไม่เข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะมาตรการทางด้านราคาซื้อขายที่ถูกกดให้ต่ำมาก สภาวะเช่นนี้เองได้ทำให้ผู้ประกอบการผลิตเกลือในภาคอีสานไม่รับผิดชอบต่อปัญหาผลกระทบและความเสื่อมโทรมเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากไม่ยอมลงทุนป้องกันผลกระทบใด ๆ เพราะเกรงจะได้รับกำไรน้อยลง มุ่งแต่จะกอบโกยหาผลประโยชน์ด้วยการกดราคาการจ้างงานและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในการต้มและทำนาเกลือให้ต่ำลงมาเป็นทอด ๆ

เมื่อเกลืออีสานมีต้นทุนราคาถูก จึงทำให้ชีวิตคนที่อยู่ในแหล่งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินมีราคาถูกตามไปด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.