สตง.ยันไม่เลือกปฏิบัติสอบภาษีนักการเมือง ด้าน 'เรืองไกร' ยื่นสรรพากรสอบภาษี 'ประวิตร' แล้ว

Posted: 20 Mar 2017 06:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ผู้ว่าฯ สตง.ยืนยันไม่เลือกปฏิบัติสอบภาษีนักการเมือง ด้าน 'เรืองไกร' ยื่นสรรพากรตรวจสอบภาษี 'ประวิตร' แล้ว ย้ำหากใช้อภินิหารทางกฎหมายสอบการเสียภาษี ทักษิณ ก็ต้องสอบการเสียภาษีของนักการเมืองคนอื่นด้วย ขณะที่ประวิตร ยันพร้อมให้สอบ ระบุปฏิบัติตามกฎหมาย เหมือนกับทุกคน


พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (แฟ้มภาพประชาไท)

20 มี.ค. 2560 ความคืบหน้ากรณีการเรียกเก็บภาษีเงินได้ย้อนหลังนักการเมือง 60 ราย ในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ส่งรายชื่อนักการเมือง 60 ราย ไปให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีแล้ว แต่ทางกรมสรรพากรก็ยังไม่ดำเนินการอะไร

“ถ้ายังไม่ดำเนินการใดๆ คงส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดกรมสรรพากรมีพฤติกรรมใช้กฎหมายประมวลรัษฎากรเป็นคุณแก่ผู้จงใจหลีกเลี่ยงภาษี รวมทั้งกรณีหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ก็พยายามยกข้อกฎหมายที่ทำอะไรไม่ได้และหมดอายุความ พูดอยู่แค่นี้เพื่อไม่ต้องทำอะไร นั่งกินเงินเดือนประชาชนไปวันๆ” พิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับกรณี ป.ป.ช. ระบุอดีตนักการเมือง 60 คนในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ และยิ่งลักษณ์ ไม่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกตินั้น ผู้ว่า สตช. กล่าวด้วยว่า แม้ป.ป.ช.จะยืนยันว่านักการเมืองเหล่านั้นจะไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ แต่การที่มีรายได้เพิ่มขึ้น กรมสรรพากรต้องตรวจสอบว่าอดีตนักการเมืองเหล่านั้นเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ทั้งหลังพ้นตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง 1 ปีแล้วมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลง

“ไม่ใช่การตรวจสอบเฉพาะเจาะจงหรือเป็นนโยบายจากรัฐบาล แต่เป็นนโยบายของคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการจัดเก็บภาษี ยืนยันว่า สตง. ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดเก็บภาษีด้านอื่น ๆ ทั้งผู้มีรายได้สูง มีรถหรู หรือมีเงินสินสอดมหาศาล ขอให้บุคคลที่รู้ตัวว่าเลี่ยงภาษีหรือยื่นประเมินไม่ถูกต้องเร่งรัดจ่ายภาษีคืนรัฐ เพื่อไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินในภายหลัง และขอเร่งรัดไปยังกรมสรรพากรให้รีบประเมินภาษีอดีต 60 นักการเมืองโดยเร็ว ภายใน 1ปีนับจากนี้ ยืนยันว่ารายชื่อที่สตง.ส่งให้ป.ป.ช.มี 60 คนเท่านั้น ไม่ได้เป็น 100 คนตามที่เป็นข่าว” ผู้ว่าฯ สตง. กล่าว

ส่วนกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้กรมสรรพาตรวจสอบการเสียภาษีจากเช็ค 1 ล้านบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรและสตง.จะเป็นผู้ติดตามการตรวจสอบ โดยจะพุ่งเป้าไปยังนักการเมืองที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหลังจากพ้นตำแหน่งเกินกว่า 5-6 ล้านบาท

พิศิษฐ์ กล่าวว่า หากภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ กรมสรรพากร ยังไม่สามารถประเมินการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ และไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม จะถือว่ากรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสตง.จะส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรมสรรพากรต่อไป


เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
'เรืองไกร' ยื่นสรรพากรตรวจสอบภาษี 'ประวิตร' แล้ว

วันนี้ (20 มี.ค.60) เรืองไกร เดินทางไปที่กรมสรรพากร เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ จากกรณีที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม เมื่อปี 2551 ว่ามีเช็คเงินสด จำนวน 1 ล้านบาท อยู่ในบัญชีรายการทรัพย์สินอื่น เพราะหากมีการนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน ก็จะถือว่าเป็น "เงินได้พึงประเมิน" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ควรจะนำไปยื่นเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2552 ซึ่งหากไม่มีการเสียภาษี กรมสรรพากรก็ควรเรียกเก็บภาษีพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ภายในอายุความ 10 ปี

"หากรัฐบาลต้องการใช้อภินิหารทางกฎหมายในการตรวจสอบการเสียภาษี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต้องมีการตรวจสอบการเสียภาษีของนักการเมืองคนอื่น รวมถึง พล.อ.ประวิตรได้ด้วย ผมไม่ได้บอกว่า พล.อ.ประวิตรมีความผิด เพียงแต่ต้องการให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงออกมาเท่านั้น" เรืองไกร กล่าว


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (แฟ้มภาพ)
ประวิตรพร้อมให้ สตง.สอบ

ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่ เรืองไกร เรียกร้องให้ สตง. ตรวจสอบภาษี พล.อ.ประวิตร ว่า ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าตนทำผิด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ต้องเป็นห่วง ตนก็ปฏิบัติตามกฎหมาย เหมือนกับทุกคน ส่วนการเปิดเผยว่ามีเช็คโอนเงินมาให้ 1 ล้านบาทนั้น เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้น ขอย้ำว่าตนก็ไม่เคยรับเงินใคร และขอยืนยันว่าไม่เคยคิดจะฟ้องร้องใคร เพราะทุกอย่างต้องการให้มีการตรวจสอบ อีกทั้งตนทำอะไรไม่เคยผิดกฎหมาย เหมือนประชาชนทั่วไปที่ยึดถือและใช้กฎหมายร่วมกันเป็นหลัก



เรียกเรียงจาก สำนักข่าวไทย โพสต์ทูเดย์ มติชนออนไลน์และบีบีซีไทย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.