Posted: 23 Mar 2017 06:52 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เฟซบุ๊กเริ่มทดสอบนำระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเว็บภายนอกมาใช้เพื่อต่อกรกับข่าวปลอมด้วยการออกข้อความเตือนผู้ใช้ว่าเนื้อหาหนึ่งๆ ยังเป็น "เนื้อหาที่ถูกโต้แย้ง" และแนะนำเว็บให้เข้าไปเช็คข้อเท็จจริง จากที่ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ว่าจะร่วมมือกับเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ผ่านโซเชียลมีเดียของพวกเขา
ที่มาของภาพประกอบ: Pixelkult/Pixabay
เนื้อหาแจ้งเตือนดังกล่าวมีคนพบหลังจากพยายามแชร์ลิงค์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีคนอ้างว่าเคยมีการนำชาวไอร์แลนด์เข้าสู่สหรัฐฯ หลายแสนคนในฐานะการค้าทาส โดยปรากฎข้อความข้างใต้ลิงค์ข่าวว่าเนื้อหาของข่าวนี้ถูกโต้แย้งโดยเว็บไซต์ Snopes.com และสำนักข่าวเอพี
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยพยายามแชร์ลิงค์แบบเดียวกันกลับไม่พบว่ามีข้อความดังกล่าวขึ้น โดยเดอะการ์เดียนรายงานว่าข้อความดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นเฉพาะกับผู้ใช้บางคนเท่านั้น เช่น เมื่อผู้สื่อข่าวในซานฟรานซิสโกทดลองโพสต์ลิงค์ข่าว "ทาสจากไอร์แลนด์" จะพบข้อความเตือนแต่ผู้ใช้ในซิดนีย์และลอนดอนจะไม่พบข้อความเตือนดังกล่าว โดยเฟซบุ๊กยังมีระบบแจ้งเตือน "ข่าวปลอม" ในระบบรีพอร์ตของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อกังขาเกี่ยวกับระบบรีพอร์ตของเฟซบุ๊กในกรณีเรื่องการปล่อปละละเลยรูปอนาจารเด็ก
ทางด้านเดอะวีคจากอังกฤษระบุว่าเฟซบุ๊กกำลังทดลองระบบแจ้งเตือนข่าวปลอมโดยหลังจากที่ผู้แชร์ลิงค์พบข้อความจากเฟซบุ๊กว่าเป็น "เนื้อหาที่ถูกโต้แย้ง" เรื่องข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อคลิกที่ข้อความเตือนดังกล่าวจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมระบุว่า "คนจำนวนหนึ่งแชร์ข่าวปลอมโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อมีกลุ่มผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโต้แย้งเนื้อหาเหล่านี้ คุณอาจจะเข้าดูในเว็บไซต์ของพวกเขาได้ว่าเหตุใดเนื้อหาเหล่านี้ถึงถูกโต้แย้ง"
นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังระบุอีกว่ากลุ่มเว็บตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พวกเขาแสดงผลต้องเป็นเว็บที่ปรากฎให้เห็นว่าลงทะเบียนร่วมมือกับสถาบันพอยน์เตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันการสื่อสารมวลชนไม่แสวงหาผลกำไรที่มีฐานในฟลอริดา พอยน์เตอร์ได้ก่อตั้งเครือข่ายผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการข่าว
เดอะการ์เดียนระบุว่าหลังจากที่พยายามแชร์ข่าวที่มี "เนื้อหาที่ถูกโต้แย้ง" แล้วเรายังเลือกเผยแพร่ข้อความต่อไปก็จะมีข้อความเตือนในเรื่องความแม่นตรงของเนื้อหาอีกครั้งก่อนที่จะให้เราคลิก "ยืนยันจะโพสต์ต่อไป" ถ้าหากเรายังต้องการเผยแพร่ลิงค์ที่ถูกมองว่ามีปัญหานี้ แต่โพสต์ดังกล่าวผู้ใช้รายอื่นๆ จะมองเห็นข้อความระบุว่า "เนื้อหาถูกโต้แย้งโดย Snopes.com และสำนักข่าวเอพี"
ทางเฟซบุ๊กยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการทดลองระบบ "เนื้อหาที่ถูกโต้แย้ง" ดังกล่าว เมื่อมีคำถามต่อเรื่องนี้ในศูนย์ให้ความช่วยเหลือของเฟซบุ๊กพวกเขาก็ระบุเพียงว่า "ระบบนี้ยังไม่มีการเปิดให้ใช้ได้ทุกคน"
อย่างไรก็ตามเดอะวีครายงานว่าไม่ใช้ทุกคนที่จะชื่นชอบการทดลองระบบตรวจสอบเนื้อหาเช่นนี้ โดยที่พอล โจเซฟ วัตสัน บล็อกเกอร์ฝ่ายขวาและบรรณาธิการสื่อสายทฤษฎีสมคมคิดกล่าวหาว่าเว็บ snopes เป็น "สื่อของพวกซ้ายจัด" และ "เป็น 'ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง' ที่ไม่มีความรับผิดชอบ"
ทางด้านเลียม โฮแกน บรรณารักษ์และนักประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในลิมเมอร์ริคซิตี้ ประเทศไอร์แลนด์ เป็นคนที่ติดตามมีมเรื่อง "ทาสชาวไอร์แลนด์" มาตั้งแต่ปี 2558 ระบุว่าระบบเตือนเรื่องข่าวปลอมนี้ทำให้ "กลุ่มผู้สนับสนุน (โดนัลด์) ทรัมป์เสียจริต"
เฟซบุ๊กประกาศตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ว่าจะขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเว็บไซต์ 5 เว็บคือ เอบีซีนิวส์, เอพี, FactCheck.org, Politifact และ Snopes เพื่อตรวจสอบเวลาที่มีคนรายงานแจ้งว่าเป็น "ข่าวปลอม"
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าธุรกิจของเขาต้อง "มีความรับผิดชอบมากขึ้น" ต่อผู้คนเมื่อเทียบกับ "ผู้กระจายข่าว" ทั่วไป
"พวกเราเป็นพื้นที่ประเภทใหม่สำหรับการอภิปรายถกเถียงของประชาชนทั่วไป และนั่นหมายความว่าพวกเราต้องมีความรับผิดชอบชนิดใหม่ที่จะทำให้ผู้คนมีการสนทนากันอย่างมีความหมาย และเพื่อสร้างพื้นที่ให้ผู้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้" ซัคเคอร์เบิร์กระบุ
เรียบเรียงจาก
'Disputed by multiple fact-checkers': Facebook rolls out new alert to combat fake news, The Guardian, 22-03-2017
Facebook trials 'fake news' warnings, The Week, 22-03-2017
Facebook Help Center (เข้าดูเมื่อ 23 มี.ค. 2560)
แสดงความคิดเห็น