Posted: 26 Mar 2018 02:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปิยบุตร แสงกนกกุล

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื้องทั้งหมด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นใด การใช้อำนาจรัฐอื่นใด หรือการกระทำอื่นใด จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

หากบุคคลผู้เกี่ยวข้องใดสงสัยว่ากฎหมายและการใช้อำนาจของรัฐต่างๆขัดรัฐธรรมนูญ บุคคลนั้นก็มีสิทธิโต้แย้งไปยังศาลเพื่อให้ชี้ขาดว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? หากศาลเห็นว่าการกระทำใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะวินิจฉัยให้สิ้นผลบังคับไป

แต่เมื่อมาตรา 279 กำหนดไว้เช่นนี้ นั่นหมายความว่า ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง จะไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย

ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เพียงใด

ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้ จะมีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรมเพียงใด

ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้ จะมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญเพียงใด

ต่อให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ กำหนดให้พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก ตกทางตะวันออก กำหนดให้ชายเป็นหญิง ให้หญิงเป็นชาย

ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ก็จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ เพียงเพราะว่า มาตรา 279 “เสก” ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หากบุคคลใดโต้แย้งไปที่ศาล ศาลก็จะอ้างมาตรา 279 มาเพื่อบอกว่า มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

หากมาตรา 279 ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เท่ากับว่าระบบกฎหมายไทยยอมรับให้การใช้อำนาจของ คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่การใช้อำนาจอื่นๆ ยังถูกตรวจสอบโต้แย้งได้เสมอ

เรากำลังจะยอมให้การใช้อำนาจของ คสช. “ใหญ่” กว่ารัฐธรรมนูญ ?

ตกลงแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หรือการใช้อำนาจของ คสช. อยู่สูงสุดกันแน่?

มาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ กลับทำให้ 278 มาตราที่มาก่อนหน้าสิ้นผลบังคับกลายเป็นเศษกระดาษทันทีเมื่อเจอกับการใช้อำนาจของ คสช.

หากยอมรับกันว่า การเข้ามาของ คสช. การครองอำนาจของ คสช. คือ ความจำเป็นของสถานการณ์ ดังนั้นจึงต้อง “ยอม” ให้ คสช. มีอำนาจพิเศษเพื่อจัดการปัญหา ต่อให้เชื่อเช่นนั้นก็ตาม อำนาจพิเศษเช่นว่าก็ต้องดำรงอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เมื่อกลับสู่ระบบปกติ มีรัฐธรรมนูญถาวรประกาศใช้ มีรัฐสภาและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. ทั้งหลาย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้

การยกเลิกมาตรา 279 ไม่ใช่การล้างประกาศ คำสั่ง คสช. ทั้งหมด แต่เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้โต้แย้งว่า ประกาศ คำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. ยังคงมีผลในระบบกฎหมายต่อไป แต่ศาลทั้งหลายก็มีโอกาสตรวจสอบว่า ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมันมีเนื้อหาที่ดี ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริง มันก็สามารถอยู่ต่อไปอย่างทรงเกียรติมากขึ้น หากไม่ ศาลก็จะวินิจฉัยให้สิ้นผลไป

รัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คสช. อยู่ในอำนาจยาวนาน ใช้อำนาจหลายเรื่อง ตลอดเกือบ 4 ปี คสช. ออกประกาศ คำสั่ง จำนวนมากมายหลายร้อยฉบับ ครอบคลุมสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ปราบเด้กแว้น ประมง ผังเมือง ย้ายข้าราชการ ถอดยศ ไปจนถึงล่าสุด ปลด กกต ออกจากตำแหน่ง

ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องเกี่ยวเนื่องมากมาย มีบุคคลที่ถูกกระทบจำนวนมาก ไม่ใช่มีแต่พวกนักการเมืองเท่านั้น คนทั่วไป หาเช้ากินค่ำ ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ เกษตรกร ชาวประมง เอ็นจีโอ ต่างก็ถูกกระทบไปหมด

หากเราปล่อยให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญต่อไป จะมีคนที่เดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก เราจะไม่สามารถพูดได้เลยว่า ประเทศไทยกลับมาสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้ง เพราะ สุดท้าย มันจะมีสองระบบคู่ขนาน คือ ระบบรัฐธรรมนูญ 2560 และระบบ คสช. ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

การยกเลิกมาตรา 279 ไม่นำมาซึ่งความสับสนอลหม่าน ไม่นำมาซึ่งความวุ่นวาย ไม่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องของฝักฝ่ายทางการเมืองหรือสีเสื้อ

ตรงกันข้าม การยกเลิกมาตรา 279 นำมาซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ เปิดทางให้ศาลได้เข้ามาตรวจสอบ และทำให้รัฐธรรมนูญมีผลได้จริง

การยกเลิกมาตรา 279 ประโยชน์จะตกแก่ประชาชน หากจะมีใครที่ต้องกังวล ก็คงเป็น คสช. และเนติบริกรของ คสช. เท่านั้น แต่ก็นั่นแหละ ถ้าพวกท่านสุจริต ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ท่านก็ไม่จำเป็นต้องกังวล นี่ไม่ใช่การล้างแค้น กวาดล้าง แต่เป็นการฟื้นคืนหลักนิติรัฐ หลักรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกลับมา

รัฐประหารโดยใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ ออกประกาศ คำสั่ง ให้มีผลเป็น "กฎหมาย" และเขียนรัฐธรรมนูญรับรองให้ประกาศ คำสั่ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หากเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ แล้วทำไมสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 279 ไม่ได้บ้างเล่า?



เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Piyabutr Saengkanokkul

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.