Posted: 25 Mar 2018 08:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

มิใช่ ประสิทธิ์ แสงอ่อน หรือ “เอลวิส ลาสเวกัส” คนเดียวที่อาวรณ์และสำเหนียกถึงมิตรภาพและความสวยงามทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง อ.ลอง จ.แพร่ ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการของท่านหัวหน้าอุทยานฯ พินิจ คงประพันธ์ ผมก็เป็นหนึ่งคนหนึ่งที่ประทับใจและอยากให้คนไทยในประเทศไทยและคนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสไปสัมผัส “ดอยแห่งความประทับใจคุ้มฟ้าเหนือ” แห่งนี้ครับ

เอลวิส ลาสเวกัส ผู้มาปลีกวิเวก ณ ดินแดน จ.แพร่ ณ อุทยานแห่งนี้เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยกิจกรรมการกุศลทางการศึกษา ที่เทศบาล ต.เวียงต้า เมื่อปลายปีที่แล้วบอกผมว่า เขาสามารถเห็นอนาคตของตัวเองแจ่มชัดขึ้นว่า ในช่วงบั้นปลายเกษียณของเขา จะเซ็ตชีวิตและชะตากรรมของตัวเองไว้ที่ไหนและอย่างไร

ผมภาวนาขอให้เอลวิสสมหวังตามที่เขาปรารถนา

หากมิใช่เพราะผมกับเอลวิส เคยเดินทางตะรอนๆ ไปอุทยานแห่งชาติในในสหรัฐฯ ทั้งทะเลทรายและในป่าเขากันมานับครั้งแทบไม่ถ้วนแล้ว ผมคงไม่สามารถชี้ชัดหยั่งลึกถึงใจเอลวิสได้เลยว่าเขาเกิดไปสัมผัสกับสิ่งมหัศจรรย์ที่อุทยานแห่งชาติดอยผากลองอย่างไร? ซึ่งก็แน่นอนว่าทุกๆ ที่ ทุกๆ อุทยานฯ ที่เอลวิสไปเยือนมันแทบไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน

แล้วทำไมทีอุทยานแห่งชาติดอยผากลองจึงแตกต่างในทัศนะของ “เอลวิส ลาสเวกัส”ล่ะ?

เขาบอกว่า อุทยานฯแห่งนี้ได้ดึงเอาความรู้สึก (sense) เก่าๆ ในอดีต ของเขาขึ้นมา อย่างน้อยเขาก็เคยไปเมืองในม่านฟ้าหุบเขาแห่งอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่นับครั้งไม่ถ้วน แต่นี่เป็นเมืองแป้ มิใช่เจียงใหม่ หากเขากลับมีความรู้สึกที่แปลกประหลาดต่อดินแดนแห่งนี้ จนเขาจนใจที่จะเอื้อนเอ่ยอธิบายให้ผมฟัง

แน่นอนว่า การจากเมืองไทยไปนานหลายปี ทำเขาเกิดสัมผัสแปลกใหม่จากสภาพของความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐอเมริกากับเมืองลอง จ.แพร่ ความอารีอารอบของผู้คนที่นั่น ในหน้าหนาวเงามืดโรยตัวลงอย่างรวดเร็วจนเราต้องรีบจากตลาดเล็กๆ ใกล้วัดแถวบ้านปิน เพื่อซื้อหาของกินในช่วงเย็นวันหนึ่งแทบมิใคร่จะทัน อย่างว่าเมืองในหุบเขามักมืดเร็ว จนเราต้องบึ่งรถกลับอุทยานดอยผากลอง ถึงที่นั่นเอาเมื่อราตรีคืบคลานมาถึงได้พักใหญ่แล้ว พร้อมของกินท้ายรถ

ด้วยความเอื้อเฟื้อของพี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่าไม้สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้การนำของท่านหัวหน้าพินิจ ทำให้เราได้รับสะดวกมากมายทั้งที่พัก แสงไฟ และสัญญาณการสื่อสารในม่านราตรีป่าเขาแห่งนั้น

ว่าไปแล้วอุทยานฯดอยผากลองมิใช่สถานที่อัตคัดกันดารเลย เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางเมืองแพร่ - อ.ลอง สิ่งที่พวกเราเห็น คือความเอื้ออารีของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต่อผู้เดินทางใช้รถใช้ถนนในวันที่อากาศปิดสายฝนโปรายปราย ความเอื้ออารีของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มิเพียงแค่การทำตามหน้าที่ของพวกเท่านั้น หากยังเผื่อแผ่ออกไปถึงชุมชนใกล้เคียงของที่นั่นด้วย ในความเห็นของผม ผมว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งและคณะของพวกเราได้ประสบเข้าแล้ว ณ ดอยผากลอง ผมไม่ทราบพวกเขาเรียกชื่อมันว่ากิจกรรมอะไร แต่จะขอตั้งชื่อเพื่อเรียกเองว่า “กิจกรรมชุมชนสัมพันธ์” ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นความคิดของหัวหน้าพินิจ คงประพันธ์ นั่นเอง

จากการคุยทางไกลกับท่านหัวหน้าฯ ทำให้ผมทราบว่า กิจกรรมในลักษณะของการเอื้อเฟื้อต่อชุมชนเขตอุทยานฯ ทางเจ้าหน้าที่ยังคงทำมาอย่างต่อเนื่องครับ เช่น ในตอนนี้ท่านหัวหน้าฯและผู้ใต้บังคับบัญชา กำลังทำกิจกรรมป้องกันไฟป่าซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างมลพิษหมอกควันให้กับจังหวัดภาคเหนือหลายๆ จังหวัดอยู่ทุกปี ตั้งแต่การเพิ่มความถี่ของการลาดตระเวน การตั้งจุดแจ้งเหตุเฝ้าระวังไฟป่า เป็นต้น

งานนี้จึงมิใช่ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะเล่นเป็นพระเอกอยู่ฝ่ายเดียว หากหัวหน้าพินิจได้ระดมสรรพกำลังจากชาวบ้านในพื้นที่ หรือชุมชนบริเวณใกล้เคียงมาเป็นแนวร่วมอีกด้วย อันนี้น่าควรเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ ทุกหน่วยงาน กล่าวคือ นอกจากข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชนแล้ว การสร้างแนวร่วมโดยอาศัยภาคประชาชนเป็นตัวช่วย กลับเป็นฐานการทำงานที่สำคัญยิ่ง ผมจึงเชื่อว่าท่านหัวหน้าพินิจมาถูกทางแล้ว

ในทางเทคนิค ผมไม่ทราบว่าการทำแนวป้องกันไฟป่าต้องทำอย่างไร แต่ผมเชื่ออยู่อย่างครับว่า ศรัทธาชาวบ้านนั่นแหละคือแนวป้องกันไฟป่าที่ยอดเยี่ยมมากกว่าแนวป้องกันไฟป่าใดๆ ทั้งสิ้น ผมตระหนักได้ว่า ความคิดของหัวหน้าพินิจนั้นก้าวหน้าเพียงใด

มิใช่แต่เท่านั้นครับ ท่านหัวหน้าบอกกับผมว่า ในช่วงไฟป่าระบาดหนักช่วงหน้าร้อนนี้ ทางกรมอุทยานฯ ได้ส่งกำลังพลจากนอกพื้นที่เข้ามาเสริมในเขตภาคเหนือ ซึ่งก็ทำมาหลายปีแล้วครับ เช่น ในปีนี้ 2561 เริ่มทยอยส่งกำลังพลเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา จากสถานีไฟป่า สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี มาประจำการที่อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง จำนวน 10 นาย และส่งไปที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จำนวน 10 นาย เช่นกัน นับเป็นการย้ายกำลังพล ในช่วงซีซั่นสำคัญของกรมอุทยานฯที่น่าสนใจ เรียกว่าปรับใช้พลิกแพลงตามสถานการณ์

เห็นชัดว่า นอกจาก “กรณีเสือดำ” แล้ว กรมอุทยานฯ มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความภูมิใจอีกมากมายดังกิจกรรมของท่านหัวหน้าพินิจและคณะแห่งอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง อ. ลอง จ.แพร่ เป็นเครื่องหมายว่า เนื้องานที่ทำมีอยู่จริงและได้ลงมือทำไปแล้วอย่างเต็มที่และอย่างน่าภาคภูมิใจ จนเกิดศรัทธาชาวบ้านขึ้นโดยรอบๆ พื้นที่ นี่น่าจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและดีที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชสำหรับประเทศไทย ซึ่งก็คงไม่ต่างจากวิธีการในต่างประเทศ ทั้งที่อเมริกาและแอฟริกาครับ ลองไปศึกษาดูได้

ลองชาวบ้านหรือชุมชนไม่สนใจหรือไม่ร่วมมือด้วยสิ ปราบปรามอย่างเดียวก็เท่านั้น ไปไม่รอดครับ แนวคิดนี้จึงน่าจะถูกขยายโดยรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง นั่นคือ ให้การศึกษาหรือให้ความรู้จนชาวบ้าน เด็กเยาวชนตระหนัก จนเกิดเป็นจิตสำนึกรักป่า รักธรรมชาติโดยเนื้อแท้หรือโดยใจของพวกเขาเอง เมื่อนั้นก็จะลดภาระด้านกำลังคนและกำลังงบประมาณของรัฐลง เกิดแนวร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว เพราะมีตาวิเศษอยู่ทั่วไป

ที่สำคัญคือ ในช่วงวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติที่มีการยื้อแย่งทัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐฝ่ายอนุรักษ์จนเกิดเป็นความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่นี้ การดึงชุมชนมาเป็นแนวร่วมจะช่วยให้ชาวบ้านตระหนักว่า พวกเขาควรจะมีที่ยืนอยู่ตรงไหน
ลำพังการบุกตะลุยปราบปรามชาวบ้านอย่างเดียวที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แผนหรือนโยบายดังกล่าวสำเร็จหรือล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างไรบ้าง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.