Posted: 27 Mar 2018 12:54 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักข่าวพลเมือง

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จัดเวทีเสวนา “ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย” เชื่อมสัมพันธ์ของชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ยโสธรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและชาวบ้านลุ่มน้ำลำเซบาย

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2561 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร จัดเวทีเสวนา“ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย” โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลำเซบายได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบายร่วมกัน อีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรระหว่างชาวบ้านบริเวณลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ที่มีผลผลิตหลักคือข้าวอินทรีย์ และปลาร้าซึ่งเป็นผลผลิตหลักจากลำน้ำชี


หลังจากนั้นได้เปิดเวทีวัฒนธรรม นั่งโสเหล่ “ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย” สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.เชียงเพ็ง กล่าวว่า เวทีเสวนาในครั้งนี้เป็นการเชิญพี่น้อง 2 พื้นที่ มาพูดคุยกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องลุ่มน้ำชี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร – พนมไพร ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามฤดูกาล เพราะมีน้ำท่วมขังนาข้าวเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อยังชีพโดยการหาปลา และนำปลาที่ได้มาถนอมอาหารเป็นปลาร้า ขณะที่พี่น้องจากลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เป็นพื้นที่ที่กำลังจะเกิดโครงการพัฒนาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกกะวัตต์ และโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่กำลังจะมีแผนก่อสร้างที่ อ.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ หากมีการก่อสร้างจริงจะเกิดผลกระทบต่อการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบายซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทำการเกษตรของชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์

ด้านอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร กล่าวว่า สาเหตุที่พี่น้องน้ำชีนำปลาแดกมาแลกข้าววันนี้ก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องน้ำชีและพี่น้องลำเซบาย เนื่องจากพี่น้องทางน้ำลุ่มน้ำชีไม่มีข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐที่เข้ามาเมื่อประมาณปี 2532 ซึ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี(ภายใต้โครงการโขง ชี มูล) หลังจากโครงการเข้ามาทำให้น้ำเข้าท่วมนาข้าวของชาวบ้านเสียหาย และเข้าท่วมติดต่อกันนานหลายปี ส่งผลให้ระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป การมาร่วมงานในวันนี้จึงอยากมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่น้องเชียงเพ็งและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติด้วยกัน

อมรรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันชาวบ้านลุ่มน้ำชีไม่มีข้าวจึงนำปลาแดกมาแลกข้าวไว้รับประทานในปีหน้า หากปีหน้าน้ำท่วมพื้นที่ปลูกข้าวไม่มีผลผลิตก็จะนำปลาร้ามาแลกต่อไป อยากให้พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลเพื่อป้องทรัพยากรของชุมชนต่อไป หากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วอาจจะสายเกินแก้

ด้านนิมิต หาระพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร กล่าวว่า เรื่องการปรับตัวต่อผลกระทบจากการสร้างเขื่อนว่า หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในชุมชนเป็นอย่างมาก ทุกคนจึงต้องหาทางออกจากน้ำท่วมโดยการหาปลา ทำวังปลา เพื่อเป็นการตุ้มโฮมพี่น้องที่ได้รับผลกระทบร่วมกันและเพื่อความอยู่รอดของชุมชนต่อไป

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า พื้นที่ต.เชียงเพ็งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรอย่างมาก ซึ่งความอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้ชาวบ้านได้พึ่งพาทรัพยากรในการดำรงชีวิตมาหลายชั่วอายุคน หากในอนาคตจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วันเกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวบ้านต่างมีข้อกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อฐานทรัพยากรของชุมชน โดยเฉพาะผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ซึ่งคนในชุมชนต้องใช้น้ำจากลำเซบายในการอุปโภคและบริโภค เวทีเสวนาในครั้งนี้คาดหวังว่าพี่น้องทุกคนจะมีความตระหนักในการปกป้องทรัพยากรของชุมชน และรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ เราทุกคนที่ร่วมกันปกป้องชุมชนก็เพื่อที่จะไม่อยากให้โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น เพราะจะนำมาซึ่งการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.