Posted: 30 Mar 2018 03:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 หลังเพื่อไทย-ปชป.ร้องเป็นผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ทีมกฎหมาย ปชป. จ่อยื่นประเด็นให้ศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งเพิ่ม
30 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้อง เนื่องจากหลังจากที่ผู้ตรวจฯ ได้รับคำร้องและมี 2 หน่วยงานคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำชี้แจงมา แต่หัวหน้า คสช. ไม่ได้ส่งคำชี้แจงมา
“เมื่อพิจารณาคำชี้แจงประเด็นที่มีการร้องแล้ว เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ขณะที่ คสช. มีอำนาจออกคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื้อหาของคำสั่งที่ 53/2560 ที่มีการแก้ไขแนวปฏิบัติของพรรคการเมืองตามมาตรา 140 และมาตรา 141 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมาตรา 140 เกี่ยวกับการให้สมาชิกพรรคที่ประสงค์จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ยืนยันตนเองพร้อมแสดงหลักฐานมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 หากพ้นกำหนดแล้วไม่ยืนยัน ให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ถือเป็นการรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก รวมทั้งยังมีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด” รักษเกชา กล่าว

รักษเกชา กล่าวว่า กรณีที่แก้ไขมาตรา 141(4) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค (5) เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบถ้วนตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดภายใน 90 วัน และกกต.สามารถขยายเวลาได้ครั้งหนึ่ง แต่หากครบเวลาแล้วพรรคไม่สามารถดำเนินการได้ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป โดยการดำเนินการดังกล่าวดำเนินการได้เมื่อมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 แล้ว จึงเป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควร และเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ,26,27 ประกอบมาตรา 45 ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องและหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ (30 มี.ค.)

“แม้ผู้ตรวจฯจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ถ้ายังไม่คำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 1 เมษายนนี้ พรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่ 53/ 2560 ไปก่อนได้ เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวมีกฎหมายรองรับถูกต้องและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงต้องปฏิบัติตาม” รักษเกชา กล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจฯ มีมติเช่นนี้จะทำให้มีปัญหากับคสช.หรือไม่ นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจฯปฏิบัติตามหน้าที่และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราเห็นว่าคำสั่ง คสช.ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่มีปัญหาในเนื้อหาที่ขัดรัฐธรรมนูญกระทบต่อการปฏิบัติเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้หากคสช.แก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย

ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ขยายกรอบเวลาในการดำเนินการทางธุรการของพรรคการเมือง
ทีมกฎหมาย ปชป. จ่อยื่นประเด็นให้ศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งคสช.เพิ่ม
นอกจากนี้ วิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว โดยเชื่อว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ อำนาจคสช.ตามมาตรา 44 มีศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ

“การออกพระราชบัญญัติไปแก้ ให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยผมจะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 26 และมาตรา 27 ด้วย” วิรัตน์ กล่าว

วิรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นกับพรรคการเมือง ก็ต้องขอบคุณ กกต. ที่พยายามประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดภาระให้กับพรรคการเมืองในการดำเนินการ แม้คำสั่งคสช.จะยังคงอยู่ เช่น การยืนยันคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคต้องให้ 19 หน่วยงานตรวจสอบ ถ้าไม่ลดลงก็ไม่สามารถดำเนินการได้ การอนุญาตไม่ต้องใช้สำเนาบัตรบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน การโอนเงิน การส่งข้อความทางอิเลคทรอนิกส์ได้ การรณรงค์ให้สมาชิกพรรคเดิมมายืนยันตัวเอง แต่ห้ามหาเสียง ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์

ที่มา : สำนักข่าวไทย

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.