Posted: 27 Mar 2018 09:52 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

โสภณ พรโชคชัย

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค และศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้จากโลกนี้ไปแล้ว คงยังความโศกสลดแก่ลูกหลานและผู้ให้ความเคารพศรัทธา ผมเองก็ได้แต่ร่วมเสียใจกับการจากไปของบุคคลทั้งสอง แต่ขออนุญาตเห็นต่างจากท่าน ไม่ได้จาบจ้างท่าน แต่เห็นต่างด้านความคิด เพื่อช่วยกันคิด เพื่อสังคมอุดมปัญญา

พล.ต.อ.สล้าง เกิดเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2480 เสียชีวิตเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 อายุ 61 ปี ท่านเคยเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เคยได้รับฉายาว่า "เสือใต้" คู่กับ "สิงห์เหนือ" คือ พล.ต.อ.ชลอ เกิดเทศ ท่านมีบทบาทในการปราบปรามนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งผมโชคดีรอดชีวิตมาได้ ที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างหนักก็คือการตบ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ขณะที่พูดโทรศัพท์อยู่จนโทรศัพท์ออกจากมือ แต่หลายปีต่อมา ท่านก็แก้ว่าไปช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มฝ่ายขวาขณะที่ ดร.ป๋วยกำลังจะขึ้นเครื่องบินลี้ภัยไปต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ระพี อายุมากกว่า พล.ต.อ.สล้าง 15 ปี เกิดเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ขณะอายุเกือบ 96 ปี ท่านเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ท่านได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ท่านเคยยื่นฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี พ.ศ. 2549 และรับเป็นที่ปรึกษาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พล.ต.อ.สล้าง ได้เขียนข้อความลาจากไว้ว่า "ร้านกาแฟชั้นบน เพื่อนๆ ลูกหลานที่รัก พ่ออยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ขอจากไปอย่างเกิดประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่ทราบเรื่อง ช่วยกันคัดค้านรางคู่ขนาด 1.000 ม. รถไฟฟ้ายกระดับ ผลักดันให้เกิดสร้างถนน AUTO BAHN ช่วยกันทำหนังสือนี้เเจกกันให้มากๆ พ่อนับ 1-1000 เเล้ว วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ ขอโทษคนที่รักทุกคนด้วย พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อย่าตำหนิ ขอให้ภูมิใจ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่มีใครรู้เรื่อง เพราะสื่อช่วยกันปกปิด เเล้วส่งเสริม"

อันที่จริงการฆ่าตัวตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร มีรายงานการวิจัยเรื่อง “พุทธศาสนากับการฆ่าตัวตาย” โดย นางสาวมธุรส มุ่งมิตร ระบุชัดว่าในทางพุทธศาสนาการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นบาปเป็นการผิดศีลข้อที่ 1 ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดการสร้างอกุศลกรรมให้ติดตัวไป อย่างไรก็ตามก็มีกรณีที่พระอรหันต์ฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเช่นกัน โดยมีบทความเรื่อง "ย้อนรอย 'การฆ่าตัวตายของภิกษุ' ในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้า 'ไม่ตำหนิ'" (เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว)" แต่กรณีนี้ของร่างของท่าน พล.ต.อ.สล้าง ตกลงไปในร้านกาแฟชั้นล่าง หากทำให้ผู้อื่นบาปเจ็บและเสียชีวิตด้วย ก็คงจะน่าเศร้าใจมาก

อย่างไรก็ตามข้อที่เห็นต่างจาก พล.ต.อ.สล้างก็คือ การสร้างรถไฟฟ้ายกระดับในเมือง เดิมทีสมัยที่ไทยจะสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินใต้ดิน ก็มีเสียงคัดค้าน เกรงว่าแผ่นดินไทยที่อ่อนนุ่มเพราะอยู่ในพื้นที่ทับถมใหม่ชายทะเล จะไม่สามารถให้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้ แต่นั่นเป็นข้ออ้างเพียงเพื่อพยายามทำลายรถไฟฟ้านี้ แต่เมื่อ รสช.มาไล่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็สั่งยกเลิกโครงการนี้ แล้วรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ "ลอยฟ้า" มาก็ได้สร้างแทน การมีรถไฟลอยฟ้านั้นในแง่หนึ่งดูเป็นทัศนะอุจาด (Eyesore) แต่ก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดิน ในฐานะที่ผมเป็นผู้รู้เรื่องการพัฒนาเมือง ผมเห็นว่าเราจะสร้างแบบใต้ดินหรือลอยฟ้าก็ได้ สำคัญที่ในใจกลางเมือง ต้องสร้างให้มากเพื่อประโยชน์ในการเดินทางของประชาชนนั่นเอง

ส่วนกรณีศาสตราจารย์ระพีนั้น ผมเคยเห็นต่างจากท่านโดยใน มติชน (9 มิถุนายน 2559 ) โดยท่านว่า ปชต.-ผันเงินลงชุมชน ส่งผลอุปนิสัยเกษตรชนบทเสื่อมโทรมลง ในวันที่ 11 มิถุนายน 2599 ผมจึงได้แปะลงใน Facebook วิพากษ์เพื่อสังคมอุดมปัญญา

1. (ท่าน) ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในชนบท ยังฝันเฟื่องถึงการดำนา-เกี่ยวข้าวในอดีต ในยุคสมัยปัจจุบัน ชาวนาใช้เครื่องจักรที่เหมาะสมกันหมดแล้ว แม้แต่ชาวนาในเวียดนาม คู่แข่งของเราก็ใช้เครื่องจักรทั้งดำนา เกี่ยวข้าว ฯลฯ ผลิตภาพจึงดีขึ้น ในมุมที่เลวร้ายของความฝันเฟื่องของระพีก็คือ การหวังให้ชาวนาลำบากยากเย็น "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" ไปชั่วนาตาปี ไม่ยินดีที่ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก สบายตัวจากการทำนาขึ้นมาบ้าง

2. (ท่าน) ไม่เข้าใจชีวิตชาวชนบทจริง กลับเข้าใจอย่างคับแคบว่าประชาชน "มีวัฒนธรรมที่สื่อถึงกันในท้องถิ่นด้วยการคุยกันเองอย่างใกล้ชิดในขณะที่กำลัง (ลงแขก) ดำนาและเกี่ยวข้าว" ในความเป็นจริง พวกเขาคุยกันได้ทุกวัน ชุมนุมกันในวันพระ งานวัด งานบุญ หรือแม้กระทั่งในวงเหล้าได้ออกบ่อย การลงแขกในสมัยโบราณไม่ใช้เงินก็จริง แต่ก็เสียในรูปแบบอื่น เช่น การให้ข้าว ให้แรง ให้ "เหล้ายาปลาปิ้ง" ตอบแทน (ท่าน) คงลืมไปแล้วว่า "ของฟรีไม่มีในโลก"

3. (ท่าน) หลงคิดไปว่าการ "ลงแขก" แค่นี้จะทำให้ประชาชนรู้รักสามัคคี ในสังคมที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยถูกเอาเปรียบ จะเกิดความสามัคคีได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งการแตกสามัคคีในปัจจุบันก็เกิดขึ้นเพราะยาบ้า ซึ่งรัฐบาลในสมัยหนึ่งสามารถปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด จนสร้างความรักความสามัคคีแก่คนในชาติ แต่ในปัจจุบัน กลับไม่สามารถปราบยาบ้า

4. (ท่าน) ยังเข้าใจผิดในเรื่องเงินผัน นึกว่าเป็นการโยนเงินฟรีไปสู่ชนบท ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนคนเล็กคนน้อยอันไพศาลในชนบทเสียภาษีมากกว่าคนกรุงมากมาย โดยเสียผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม จริงๆ แล้ว ภาษีควรถูกเก็บและใช้ในท้องถิ่นมากกว่านี้ แต่เรารวมศูนย์สู่ส่วนกลาง จึงทำให้ท้องถิ่นถูกส่วนกลางครอบงำ เวลาส่ง "เงินผัน" กลับสู่ชนบท กลับกลายเป็นการให้ฟรีแก่คนชนบททั้งที่เป็นสิทธิของพวกเขาในการได้เงินพัฒนาชนบทต่างหาก

5. (ท่าน) กล่าวว่า "นับตั้งแต่เมืองไทยอยากเป็นประชาธิปไตยจนถึงขั้นผันเงินไปสู่การเกษตรในชนบทนับว่ามีผลทำให้อุปนิสัยของเกษตรกรไทยในชนบทเสื่อมโทรมลงไปอย่างแก้ไขได้ยาก" (ท่าน) กล่าวร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่รัฐบาลประชาธิปไตยควรดำเนินการช่วยเหลือชาวชนบทให้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยการส่งเงินกลับคืนไปสู่พวกเขาในรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มแต่เงินผันสมัยคึกฤทธิ์ (ปี 2518) จนถึงยุคทักษิณที่ตั้งกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลที่ดีจะไม่ใช่แค่อ้างคำเดียวว่าไม่มีเงิน แล้วก็จบ กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป แต่เงินงบประมาณกลับนำไปบำรุงกรุงเทพมหานครหรือซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชาติ เป็นต้น

ผมเองไม่เคยมีบุญได้พบเห็นบุคคลทั้งสองท่านนี้ แต่ที่ "มองต่างมุม" ก็เพื่อให้เกิดการฉุกคิดบ้างเท่านั้น อย่าลืม "เกสปุตตสูตร" (กาลามสูตร) 10 ข้อ โดยมีข้อหนึ่งว่า มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา นั่นเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.