Posted: 25 Mar 2018 12:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน เตรียมเดินรณรงค์เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 26 มี.ค. นี้

25 มี.ค. 2561 บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจนฝ่ายกฎหมายแรงงาน เปิดเผยว่าในวันที่ 26 มี.ค. 2561 นี้ กลุ่มสหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน จะเดินรณรงค์เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) โดยเริ่มออกเดินจากหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทเจอเนอรัล มอเตอร์ เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ อาคาร รสาทาวเวอร์ 2 ถนน พหลโยทิน แขวง จตุจักร เขต จตุจักร กรุงเทพมหานคร ในเวลา 12.00 น. ถึงหน้าสำนักงานอาคารเลขาธิการสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้จะมีการอ่านแถลงการณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมเวลา 15.30 น. โดย สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และนายจ้างงดจ่ายค่าจ้าง และปัญหายังไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข ซ้ำร้ายสภาพคนงานกลับยิ่งถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ในยุคไทยแลนด์ 4.0
นำโดย นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จังหวัดระยอง

บุญยืน ระบุว่าหลังจากเหตุการณ์การนัดหยุดงานของสหาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย และการปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่สมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์สกว่า 100 ชีวิตยังคงไม่ได้กลับเข้าทำงาน ถึงแม้สหภาพแรงงานฯ จะได้ยอมถอนข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นต่อบริษัทฯ ไปแล้ว แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลุ่มนี้ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้เนื่องจากติดปัญหาจากการปิดงานเป็นรายบุคคลของบริษัทฯ ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยที่กลไกกฎหมายของทางราชการไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ได้เลย

สมาชิกสหภาพแรงงานจึงได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พ.ย. 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน แต่จนปัจจุบันก็มีพนักงานบางคนที่บริษัทฯ ยังจ่ายไห้ไม่ครบถ้วน หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานเข้าไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน เมื่อพนักงานไปรายงานตัว บริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานทั้งหมดไปปฏิบัติงานที่ ที่คลังสินค้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไกลมากจากที่พักและครอบครัวของแรงงานโซนพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี นอกจากนี้ยังปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนจากเดิม เหลือเพียงค่าแรงขั้นต่ำสุดเพียง 9,600 บาท/เดือน และสวัสดิการอื่นที่เคยได้รับถูกตัดทั้งหมด เช่น ไม่มีรถส่ง ไม่มีเบี้ยต่างจังหวัด ไม่จ่ายปรับค่าจ้าง 3 ปี ไม่จ่ายโบนัสผันแปร 3 ปี และไม่มีอาหารกลางวันให้ ซึ่งทำให้พนักงานกว่า 60 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากการบริษัทได้วางมาตรการเงื่อนไขบีบบังคับ พนักงานจึงต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของนายทุน ตามที่บริษัทเสนอ จึงเหลือพนักงานที่สามารถเดินทางมาทำงานที่คลังสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน และลักษณะงานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงคือจากพนักงานประกอบรถยนต์ ต้องถูกปรับลดลงมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำหน้าที่ขูดสีและทาสีเส้นในคลังสินค้า
พนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมาข้างต้นของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยนชนด้านแรงงานอย่างรุนแรง จึงได้ร่วมกันเดินเพื่อที่จะไปส่งตัวแทนสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เข้าร่วมประชุมและชี้แจงต่อคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) ณ อาคารเลขาธิการสหประชาชาติ

ผู้สื่อข่าวสอบถาม ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เพิ่มเติม โดย เขาระบุว่า พรุ่งนี้จะมีคนงานที่เป็นตัวแทนร่วมเดินประมาณ 20 คน 


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.