ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (ที่มา:Chula.ac.th)

Posted: 28 Mar 2018 07:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผอ.สถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แจง 4 โจทย์ขุด ‘คอคอดกระ’ ต้องตอบโจทย์ความคุ้ม ความโปร่งใส การเชื่อมต่อแผ่นดินที่แยกจากกัน จิตวิทยาคนไทยเรื่องแยกแผ่นดิน ท่าทีของอาเซียนและมหาอำนาจ แนะไทยใช้ภูมิประเทศและการทูตแบบคุยได้ทุกฝ่ายให้ดี

รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Institute of Security and International Studies (ISIS) ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวประชาไทเกี่ยวกับกระแสการพูดถึงแนวคิดการสร้าง ‘คลองไทย’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คอคอดกระ’ อีกครั้งว่าอาจไม่ใช่การใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของประเทศไทยอย่างเหมาะสม การสร้างคลองไทยยังมีข้อที่ต้องพิจารณาใหญ่ๆ 4 ประการ

หนึ่ง ต้นทุน-กำไร ปัจจัยทางเศรษฐกิจว่ามีความคุ้มค่าจริงหรือไม่เพราะการก่อสร้างมีต้นทุนสูง มีการคำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือไม่

สอง ปัจจัยภายในประเทศ ถ้าสร้างคลองกะ ใครจะเป็นคนทำ จะเสร็จสิ้นตรงเวลาหรือไม่ จะมีคอร์รัปชันหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน การจัดการเรื่องโลจิสติก การทำคลองตัดแผ่นดินออกไปจะมีการจัดการเรื่องการเชื่อมต่ออย่างไร มีสะพานข้ามทั้งหมดกี่สะพาน ประเด็นเรื่องจิตวิทยาของคนไทยจำนวนมากที่เชื่อแนวคิดการเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ จะจัดการเรื่องมายาคติเรื่องประเทศไทยแบ่งเป็นสองไม่ได้อย่างไร และจะมีผลกระทบกับประเด็นความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ การสร้างคลองจะกลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านรัฐหรือไม่

สาม ผลกระทบต่อภูมิภาคในฐานะอาเซียน สิงคโปร์อาจไม่พอใจกับการขุดคลองไทย มาเลเซียเองก็ไม่น่ายินดีเพราะทั้งสองประเทศเป็นทางผ่านของการเดินเรือในช่องแคบมะละกามาตลอด การที่ไทยขุดคอคอดกระทำให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ อาจทำให้ไทยมีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่ก็อาจมีคนไม่พอใจมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นส่งผลดีต่ออาเซียนหรือเปล่า

สี่ ผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจ การขุดคลองไทยจะทำให้ไทยเป็นที่สนใจจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียด้วยในฐานะที่คลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยตรง ไทยจะยิ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นจุดสนใจมากขึ้น แล้วการที่ไทยเนื้อหอมมากขึ้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ ไทยจะกลายเป็นสายล่อฟ้าหรือเปล่า

ฐิตินันท์มีความเห็นว่า การจะใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ไทยที่ดีกว่าคือการมุ่งหน้าใช้ประโยชน์จากทุนทางการทูตและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่เดิม ใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนแผ่นดินใหญ่ (Mainland ASEAN) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซียน เพื่อเข้าหาประเทศมหาอำนาจได้ทุกฝั่งอย่างที่สามารถทำได้เรื่อยมา แบบนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของไทยอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความสงบและการเมืองภายในประเทศที่มั่นคงด้วย
คอคอดกระ: แนวคิดและข้อเสนอที่ คสช. ยังไม่ซื้อ

คลองไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ คอคอดกระ หรือ คลองกะ คือชื่อเรียกแนวคิดโครงการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เคยมีการนำเสนอของสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีนเมื่อปี 2560 เสนอให้เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมแนว 5 A มาเป็นบริเวณแนว 9 A เริ่มต้นจากตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จนถึงฝั่งอ่าวไทย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีความยาวทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร ลึก 25 เมตร และความกว้างคลอง 400 เมตร และภายหลังรัฐบาลมีแนวคิดที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งโครงการจะขุดผ่าน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,680,000 ล้านบาท ระยะทางยาว 140 กม. กว้าง 300 – 400 เมตร ลึก 30 เมตร ลักษณะเป็นคลอง 2 คลองคู่ขนานไปและกลับ มีการสร้างสะพานแขวน สะพานโค้ง และสะพานเชื่อม 2 ฝั่งคลอง ทั้งทางบกและทางรถไฟ โดยคาดว่าจะทำรายได้ 120,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ใช้เวลา 14 ปีคืนทุน ลดเส้นทางเดินเรือ 700 กม. เพราะช่องแคบมะละกามีปัญหา มีความแออัดมากขึ้น การจราจรทางเรือหนาแน่น 80,000 ลำต่อปี จึงมีแนวคิดก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น หวังให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาค

เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อ 24 มี.ค. 2561 สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนามีการจัดเวทีสาธารณะ “คอคอดกระ@คลองไทย…ใครได้ใครเสีย” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดย พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะประธานสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา พูดถึงแนวคิดการขุดคลองว่า ต้องศึกษาต่อไปว่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศจริงหรือไม่ ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือได้หรือไม่ คนไทยและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญหรือไม่ โดยรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการแห่งชาติมาศึกษาอย่างจริงจัง

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รายได้หลักของไทยคือการท่องเที่ยว การขุดคลองจึงมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว เมื่อมีเรือน้ำมันขนาดใหญ่วิ่งผ่านจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักจะจัดการอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่าการสร้างคลองไทยไม่ใช่นโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในเวลานี้ โดยเน้นย้ำว่าโครงการขุดคลองไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลดีผลเสียทุกด้าน เช่น ความมั่นคง และงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ยังคงมีปัญหาอื่น จึงต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

“การกล่าวอ้างเหตุผลว่าการขุดคลองคอดกระ จะทำให้เรือเดินสมุทรสัญจรผ่านทะเลได้ และเศรษฐกิจภาคใต้จะดีขึ้นหากมีเส้นทางเดินเรือระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันนั้น เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงขอให้ผู้ที่ได้รับข้อความจากการส่งต่อกัน โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร ไม่สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม หรือรวมตัวกันจนเกิดเป็นเรื่องบานปลายได้” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.