Posted: 29 Mar 2018 02:37 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

นักวิชาการจากสแตนฟอร์ดยืนยัน การร่วมจ่ายแบบ Co-Insurance เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยล้มละลาย ไม่ควรนำมาใช้ ติงการพูดว่างบประมาณไม่พอต้องดูภาพรวม ควรศึกษาว่ารายจ่ายส่วนใดจำเป็นหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ เชื่อว่าไทยยังสามารถเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพได้อีก


ทุกครั้งที่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นถกเถียง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักกล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระงบประมาณ ซึ่งมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต สุดท้ายแล้วจะทำให้ประเทศล้มละลาย ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งคือการร่วมจ่าย

เหตุผลข้างต้นเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้ดูภาพรวมทั้งหมดของงบประมาณ ณัฏฐ์ หงส์ดิลกกุล Post Doctoral Fellow in Asia Health Policy จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งทำการศึกษาโครงการ 30 บาทกับการร่วมจ่าย กล่าวกับประชาไทว่า ขณะนี้ต้นทุนด้านสาธารณสุขหรือโครงการ 30 บาทคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น เทียบกับสหรัฐฯ ที่สูงเกือบร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูแลเฉพาะคนจนกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ของไทยยังถือว่าต่ำมาก

“ขณะที่แคนาดาจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้เกือบทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณ แต่เขาก็ยอมจ่าย เพราะแคนาดาไม่มีรายจ่ายจุกจิกอื่น งบป้องกันประเทศก็ไม่ต้องจ่าย แคนาดาจ่ายแค่ 2 เรื่อง สุขภาพกับการศึกษา สองตัวนี้ก็เกือบหมดแล้ว แต่บ้านเรามีรายจ่ายหลายอย่าง ซึ่งต้องถามกลับว่าจำเป็นหรือเปล่า จำเป็นกว่า 30 บาทหรือไม่ คนที่พูดแบบนี้อาจเพราะไม่ได้มองภาพรวมของการคลัง”

ก่อนมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงด้านการเงิน ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จากการที่มีรายจ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น การเป็นโรคร้ายแรงหรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงช่วยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ผู้คนต้องล้มละลายจากการรักษา


"รัฐบาลบอกว่าจ่าย 6 เปอร์เซ็นต์กับโครงการ 30 บาท แต่ว่าจ่าย 9 เปอร์เซ็นต์ในงบกลาโหม ถามว่างบกลาโหม คุณค่าที่กลับมาหาคนไทยเป็นกี่สตางค์ เราก็ไม่รู้ เพราะไม่มีใครวัด รัฐบาลต้องเทียบว่าในโครงการทั้งหมดเอามาจัดลำดับตั้งแต่ 1 ถึง 100 ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการ 30 บาทต้องอยู่ในอันดับต้นๆ"

งานศึกษาของณัฏฐ์ทำการวัดคุณค่าของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า ‘คุณค่า’ วัดจากความยินดีที่จะจ่าย ถ้าประชาชนต้องจ่ายเพื่ออยู่ในโครงการ 30 บาท ประชาชนจะยินดีจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถตอบได้ตรงกับความเป็นจริง เพราะไม่รู้ว่าควรจ่ายเท่าไหร่

“เราจึงไปดูข้อมูลเชิงครัวเรือน เช่น การบริโภคเป็นยังไง เจ็บป่วยหรือไม่ เพื่อจะวัดว่าคุณค่าที่เขาได้รับจริงๆ คือเท่าไหร่ ผลออกมาคือทุกๆ 1 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปในนโยบายนี้ คุณค่าที่ผู้รับประโยชน์ได้รับคือ 75 สตางค์ คุณค่าทั้งหมดมาจากการป้องกันการล้มละลายจากการรักษาที่มาอย่างไม่คาดฝัน”

25 สตางค์หายไปไหน?

ณัฏฐ์ อธิบายว่า ความมีประสิทธิภาพกับความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน ถ้าต้องการให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ก็ต้องยอมสูญเสียประสิทธิภาพไปบ้าง หมายความว่าถ้าต้องการให้ประชาชนมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข 25 สตางค์คือราคาที่ต้องจ่าย ณ ขณะนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการคอร์รัปชั่น แต่เป็นต้นทุนในการกระจายรายได้

“แต่ผมจะดอกจันทร์อีกว่า ตัวเลขที่ผมได้ ผมอาจจะประเมินค่าต่ำไป คุณค่าจริงๆ อาจจะสูงกว่า 75 สตางค์ แต่ผมยังไม่มีหลักฐานยืนยัน เหตุผลที่น่าจะมีมากกว่า เพราะว่าหลังจากมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมค้นพบว่าคนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่คนไม่ใช้จ่าย แสดงว่าเขากำลังจะเก็บออมหรือโยกการใช้จ่ายจากปัจจุบันไปอนาคต ซึ่งผมไม่ได้เอาเข้ามาในการคำนวณด้วย

“แต่ถามว่าถ้ามันหายไป 25 สตางค์ หมายความว่ารัฐบาลไม่ควรจ่ายเลยหรือเปล่า พูดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณอยากรู้ คุณต้องไปเทียบคุณค่าของเงิน 1 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปกับโครงการรัฐอื่นๆ เช่น รัฐบาลบอกว่าจ่าย 6 เปอร์เซ็นต์กับโครงการ 30 บาท แต่ว่าจ่าย 9 เปอร์เซ็นต์ในงบกลาโหม ถามว่างบกลาโหม คุณค่าที่กลับมาหาคนไทยเป็นกี่สตางค์ เราก็ไม่รู้ เพราะไม่มีใครวัด รัฐบาลต้องเทียบว่าในโครงการทั้งหมดเอามาจัดลำดับตั้งแต่ 1 ถึง 100 ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการ 30 บาทต้องอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะมีอีกเยอะที่งบประมาณลงไปโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย”

ในประเด็นการร่วมจ่าย ณัฏฐ์ อธิบายว่า การร่วมจ่ายมีอย่างน้อย 3 วิธี

1.จ่ายก่อนป่วย เรียกว่า Premium การจ่ายภาษีนับเป็นรูปแบบหนึ่ง

2.ร่วมจ่ายแบบคงที่ หรือ Co-Payment เช่น การจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค

3.ร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์จากค่ารักษาพยาบาลจริง หรือ Co-Insurance เช่น ถ้าค่ารักษาโรคมะเร็งเท่ากับ 1 ล้านบาท ต้องร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับผู้ป่วยต้องจ่าย 3 แสนบาท

“Co-Insurance คือการเอาเพดานขั้นสูงในการจ่ายออก เพราะฉะนั้นถ้าคุณโชคร้ายเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง คุณก็หมดตัวไป เวลาชาวบ้านป่วยทั่วไป เขาสามารถจ่ายได้ แต่ที่จ่ายไม่ไหวคือโรคที่มีค่ารักษาสูงๆ และต้องล้มละลาย ผมจึงคิดว่าถ้าต้องร่วมจ่ายจริงๆ การขึ้น Co-Pay อาจเป็นไปได้ แต่ต้องระมัดระวังมากๆ เพราะที่ผมไปคุยกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เขาบอกว่า คนในชนบทมีความอ่อนไหวต่อราคามาก เช่น ถ้าขึ้นราคานิดเดียวเขาไม่มาหาหมอแล้ว ซึ่งมี 2 กรณีคือไม่จำเป็นต้องมาหาก็ได้ แบบนี้อาจจะโอเค ถือว่าประหยัดต้นทุน แต่กลุ่มที่ 2 คนที่ต้องมาหาหมอ แต่ไม่มา อาจเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม”

จากงานศึกษาชิ้นนี้ ณัฏฐ์ สรุปว่า วิธีการร่วมจ่าย Co-Insurance เป็นวิธีที่แย่ที่สุด ไม่ควรนำมาใช้ เพราะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะล้มละลายจากการรักษา ขณะที่ 2 แบบแรกมีความเป็นไปได้ แต่ต้องคิดอีกทีว่าควรทำอย่างไร

“ในความเห็นผม การร่วมจ่ายตอนนี้ยังไม่จำเป็น เพราะตอนนี้ยังจ่ายพอ คือมีคนพูดว่าโรงพยาบาลขาดทุน ก็ต้องไปดูว่าขาดทุนเพราะอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าร่วมจ่ายแล้วโรงพยาบาลจะหายขาดทุนจริงหรือเปล่า เราก็ยังไม่รู้ แต่ถ้ารัฐบาลจ่ายเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลก็หายขาดทุนได้เหมือนกัน โดยตัดค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่จำเป็นออก”

ณัฏฐ์ แสดงทัศนะว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังสามารถเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องถกเถียงกันและต่อสู้กันว่างบประมาณด้านใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น

“เรื่องนี้ก็กลับไปที่การเมือง แต่การเมืองแบบที่เป็นอยู่ทำให้ฝั่งเป็นซัพพลาย ไซด์ หรือฝั่งราชการ ฝั่งผู้ปฏิบัติการมีอำนาจมากกว่าฝั่งดีมานด์ ไซด์ หรือฝั่งผู้ป่วย”

ยังมีประเด็นอีกมากเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลคนไทยประมาณ 48 ล้านคน สิ่งที่ค่อนข้างแน่ชัด ณ เวลานี้คือ Co-Insurance ไม่ควรถูกนำมาใช้ในสังคมไทย


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.