Posted: 25 Mar 2018 02:15 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
หนึ่งในภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ อาจอ้างได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าเป็นประเทศของคนชั้นกลาง ไม่ต่างจากอังกฤษหรือสหรัฐ มาเลเซียกำลังเดินตามไป
แม้กระนั้น การเมืองของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน “ระบอบ” ปกครองของเกือบทุกประเทศมีอายุเกินครึ่งศตวรรษทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่ไม่กี่ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชาและพม่า แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ต้องขยายความ นอกจาก 4 ประเทศนี้แล้ว “ระบอบ” ปกครองในปัจจุบัน ล้วนสืบเนื่องมาจาก “ระบอบ” เมื่อประเทศเหล่านี้เพิ่งได้รับเอกราช ในสมัยที่เกือบทั้งหมดของประชากรคือเกษตรกรเลี้ยงตนเองที่ยากจนข้นแค้น … เกินสองชั่วอายุคนแล้วที่ประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ภายใต้ “ระบอบ” เดิม
หากจะขยายความประเทศยกเว้น 4 ประเทศ ก็คือแม้ว่าลาวและกัมพูชาได้ผ่านการ “ปฏิวัติ” มา แต่ “ระบอบ” ปกครองของทั้งสองประเทศก็ตั้งมั่นมาเกินหนึ่งชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งไม่มีฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ถึงผู้นำอาจเปลี่ยนไปตามวาระหรือตามอายุขัย “ระบอบ” ก็ยังอยู่อย่างเก่า พม่าเปลี่ยนมาสู่ “ระบอบ” ที่มีการเลือกตั้งก็จริง แต่อำนาจเด็ดขาดก็ยังสถิตอยู่ที่สถาบันเดิม คือกองทัพ ส่วนอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะเผชิญกับระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแข็งแรงที่สุด แต่หากระยะเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางทีก็อาจเกิดการเรียกร้อง “กฎหมายและระเบียบ” อย่างกว้างขวาง จนยอมให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำกองทัพเผด็จอำนาจไว้อีกก็ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดว่า “ระบอบ” ไม่เปลี่ยน ก็อาจจะเป็นการมองข้ามความเปลี่ยนแปลงภายในระบอบไปหมดเลยก็ได้ การดำรงอยู่ของ “ระบอบ” เก่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงภายใน “ระบอบ” เสียเลย เราอาจมองบทบาทของคนชั้นกลางจากประสบการณ์ในอดีตของยุโรปตะวันตกมากเกินไป
ภายใต้กรอบโครงอันเดิม เนื้อหาภายในได้เปลี่ยนไปมากขึ้นทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบโครงหรือ “ระบอบ” ปกครองของประเทศเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก aristocrat หรือชนชั้นสูงตามประเพณีของสังคมเหล่านี้ไม่แข็งตัวด้วยชาติกำเนิดเพียงอย่างเดียว ช่องทางที่คนชั้นกลางจะขยับขึ้นไปอยู่ในแวดวงของ “ผู้ดีเก่า” มีอยู่หลากหลายช่องทาง ไม่เพียงเท่านั้น ช่องทางสู่อำนาจทางการเมืองก็มีหลากหลาย ทั้งการเลือกตั้ง (ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ) การลงทุนแก่พรรคการเมืองหรือพรรครัฐประหาร การติดสินบน ฯลฯ ตราบจนถึงวันนี้ โอกาสเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ อย่างน้อยก็ทำได้จริงในคนบางกลุ่ม และฝันได้จริงแก่คนทั่วไป (และทำให้คอร์รัปชั่นระบาดไปในทุกวงการ … มองในแง่นี้คอร์รัปชั่นนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยง “ระบอบ” เก่าเอาไว้ด้วย)
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่เปลี่ยนกรอบโครงเดิม ไม่ได้พบเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบในจีนและอินเดียเช่นเดียวกัน เป็นอีกสองภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว
คนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน?
งานวิจัยที่ศึกษาคนชั้นกลางชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำในภูมิภาคนี้ยกเว้นประเทศอินโดจีนและพม่า พบว่าเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่คนชั้นกลางเกินครึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากชนชั้นแรงงานหรือชาวนา แต่ในประเทศอื่นล้วนเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางเดิมนั่นเอง (ฐานะทางเศรษฐกิจของคุณทักษิณ ชินวัตรนั้น ไม่ใช่ลูกคนขายโอเลี้ยงอย่างที่เขาใช้ในการโฆษณาหาเสียง แต่เป็นลูกหลานของตระกูลที่ออกจะมั่งคั่งทีเดียวในเชียงใหม่) สถิติของคนชั้นกลางในประเทศเหล่านั้นซึ่งไต่เต้ามาจากคนระดับล่างมีไม่เกิน 25% (อันเป็นตัวเลขของประเทศไทย)
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ (หากถือเป็นข้อเท็จจริง เพราะงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อบกพร่องที่เก็บข้อมูลจากเมืองหลวงเท่านั้น ซึ่งเป็นแหล่งที่ลูกหลานคนชั้นกลางเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ก่อน ข้อสรุปจึงบิดเบี้ยวในระดับใดระดับหนึ่ง) มีความหมายว่าอะไร? เมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง คนชั้นกลางของเขาส่วนใหญ่ล้วนเติบโตมาจากคนชั้นแรงงานทั้งสิ้น หากไม่นับจีน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านั้นมีผลกระทบต่อ “ระบอบ” ปกครองอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ประชาธิปไตยซึ่งตอบสนองต่อความหลากหลายของคนชั้นกลางล้วนมีความมั่นคง แต่ตราบเท่าที่รัฐบาลจีนและสิงคโปร์สามารถรักษาความสำเร็จทางเศรษฐกิจไว้ได้ “ระบอบ” ที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้
การที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้งอกขึ้นมาจากคนชั้นกลางหยิบมือเดียวที่มีมาแต่เดิม คงจะช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใด “ระบอบ” ปกครองจึงไม่ถูกกดดันจากคนชั้นกลางให้ปรับเปลี่ยนไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและคนชั้นกลาง
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การขยายตัวอย่างกว้างขวางของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเติบโตมาจากเกษตรกรรายย่อยในชนบท กำลังทำให้องค์ประกอบของคนชั้นกลางไทยเปลี่ยนไป พวกเขามีความฝันทางการเมืองที่แตกต่าง แม้ยังไม่ได้จัดองค์กรทางการเมืองที่เป็นอิสระของตนเองในเวลานี้ แต่ก็ได้เรียนรู้การจัดองค์กรทางการเมืองแล้ว ดังนั้น “ระบอบ” ปกครองของไทยที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมานาน คงต้องเผชิญกับการกดดันหนักขึ้นจนอาจไม่สามารถธำรงอยู่ต่อไปได้
เช่นเดียวกับในมาเลเซีย แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลางยังไม่อาจบ่อนเซาะความมั่นคงของพรรค UMNO ในชนบทได้ แต่จะดำรงอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร เมื่อสูญเสียการสนับสนุนของคนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้
แต่การปรับเปลี่ยน “ระบอบ” ของไทยและมาเลเซียในอนาคตคงต่างกัน ถ้าดูจากสภาวะทางการเมืองที่เป็นไปในปัจจุบัน เป็นไปได้สูงว่ามาเลเซียน่าจะ “เปลี่ยนผ่าน” โดยสงบกว่า อย่างน้อยก็เพราะไม่มีชนชั้นนำกลุ่มใดจะสามารถดึงเอากองทัพมาหนุนอำนาจของตนได้ แต่น่าหวั่นว่าการ “เปลี่ยนผ่าน” ในประเทศไทยจะไม่สงบอย่างนั้น
นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้มีการแบ่งย่อย (fractionalized) สูงมาก ไม่ใช่เพียงมีบทบาทหน้าที่ซึ่งต่างกันในเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต่างกันในวิถีชีวิต รายได้ที่ห่างกันไกล การศึกษา การพักผ่อนและการท่องเที่ยว ฯลฯ จนกระทั่งความใฝ่ฝันทางการเมืองและสังคมเป็นคนละเรื่องกันเลย<
เป็นนักชาตินิยมเหมือนกัน แต่แสดงความรักชาติต่างกันไกล เป็นศาสนิกเดียวกัน แต่ยึดถือศีลธรรมและการปฏิบัติคนละชุด เป็นนักประชาธิปไตยคนละแบบ ต่อต้านคอร์รัปชันกันคนละมุม อนุรักษ์ป่ากันคนละวิธี ฯลฯ ทั้งไม่ใช่ต่างกันระหว่างสองฝ่าย แต่มีฝ่ายที่ต่างกันอีกเป็นสิบเป็นร้อย
การเมืองของคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ใช่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ศัตรูร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวเพื่อต่อสู้กันเอง ระหว่างมุสลิมที่เชียร์อาฮกให้เป็นนายกเทศมนตรีของนครจาการ์ตาต่ออีกสมัย กับมุสลิมที่ร่วมกันปกป้องอิสลามจากอาฮก ระหว่างคนชั้นกลางที่ชื่นชมการฟื้น “กฎหมายและระเบียบ” ด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดของประธานาธิบดีดูแตร์เต และคนชั้นกลางที่ห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพมากกว่า
แน่นอนคนเป่านกหวีดเรียกให้ทหารยึดอำนาจคือคนชั้นกลาง แต่คนชูสามนิ้วก็คนชั้นกลางเช่นกัน
นักวิชาการหลายคนมีความเห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแต่คนชั้นกลาง แต่ไม่มีชนชั้นกลาง (อย่างที่ยุโรปตะวันตกเคยมี) เพราะคนชั้นกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีจิตสำนึกทางชนชั้น ความต่างที่เกิดจากการแยกย่อยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ยากที่จะเกิดจิตสำนึกทางชนชั้นได้
ด้วยเหตุดังนั้น พลังทางการเมืองของคนชั้นกลางซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นี้ ถึงมีสูงมาก แต่ก็ไม่ใช่พลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของ “ระบอบ” ปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ยิ่งกว่านี้ คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นมาด้วยการฟูมฟักของรัฐโดยแท้ นอกจากการศึกษาซึ่งรัฐจัดให้อย่างไม่เสมอภาคนัก เพราะยากที่ผู้มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเมืองจะเข้าถึง ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม ทุกประเทศก็มักมุ่งสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ซึ่งต้องการการอุปถัมภ์ของรัฐสูง (ทั้งโดยสุจริตและทุจริต) เช่น กำแพงภาษี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แหล่งสินเชื่อ มาตรฐานอุตสาหกรรม (ทั้งคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิต) ที่ไม่เคร่งครัดนัก (สิงคโปร์โชคดีที่ถูกขับออกจากมาเลเซียใน 1965 ทำให้ไม่มีตลาดภายในจะรองรับอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ต้องมุ่งสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทันที)
อย่าว่าแต่กระฎุมพี (เจ้าของทุน) และคนชั้นกลางระดับบนเลย แม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างก็ไต่เต้าขึ้นมาจากชาวนาเจ้าที่ดิน หรือพ่อค้าในหมู่บ้าน ด้วยโครงการของรัฐต่างๆ เช่นกัน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง
จนในภายหลังเมื่อตลาดภายในซึ่งมีกำลังซื้อต่ำอิ่มตัว ต่างต้องหันเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก กระฎุมพีของทุกประเทศยังเรียกร้องและได้มาซึ่งการอุปถัมภ์จากรัฐอย่างสูง กลไกรัฐและความประจวบเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของโลก ทำให้เงินทุนไหลเข้าและมีตลาดสินค้ารองรับในต่างประเทศ ดูเหมือนเป็นความสำเร็จจากฝีมือรัฐมากกว่าจากฝีมือการแข่งขัน
เปรียบเทียบกับยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18-19 กระฎุมพีและคนชั้นกลางในทุนนิยมอุตสาหกรรม มองรัฐเป็นคู่ขัดแย้งของตนมากกว่าผู้อุปถัมภ์ และทำให้ต้องการเข้าไปควบคุมรัฐโดยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายแรงงาน ในขณะที่นายทุนอุตสาหกรรมและการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองรัฐเป็นมิตรแท้ หรือบางครั้งเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทของตนเท่านั้น
การอุปถัมภ์ของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรี นายพลในกองทัพ, ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งเทคโนแครตของกระทรวงทบวงกรม, และนักการเมือง เข้ามามีส่วนแบ่งกำไรด้วย ยิ่งกว่าส่วนแบ่งกำไรก็คือ เข้ามาร่วมลงทุนกับกิจการ ซึ่งเป็นหลักประกันในอันที่จะได้ “สิทธิพิเศษ” ในรูปต่างๆ ที่มั่นคงกว่าค่าต๋งด้วยซ้ำ คนของรัฐและธุรกิจระดับใหญ่พัวพันกันทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย พม่า อย่างหนัก และอย่างเบาลงมาหน่อยในมาเลเซีย
ด้วยเหตุดังนั้น คนชั้นกลางซึ่งทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ใช่พลังที่จะนำ “ระบอบ” สู่การเปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยก็ไม่อาจนำโดยตรงได้ แต่คนชั้นกลางคือพลวัตที่ทำให้ภายในของ “ระบอบ” ไม่หยุดนิ่ง ภายในกรอบโครงเดิม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพราะคนชั้นกลางอยู่ตลอดเวลา และมากขึ้นทุกที จนน่าสงสัยว่าตัวกรอบโครงหรือ “ระบอบ” นั้นจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เพราะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสังคมที่แทบไม่มีคนชั้นกลางอยู่เลย
สุดทางแห่งความยืดหยุ่นของ “ระบอบ” เมื่อไร “ระบอบ” ก็ต้องเปลี่ยน แต่คนชั้นกลางซึ่งไม่เคยเป็นพลังเด็ดขาดทางการเมืองเลยจะมีส่วนในการสร้าง “ระบอบ” ใหม่แค่ไหน และอย่างไร ยังน่าสงสัยอยู่
ที่มา: matichon.co.th
แสดงความคิดเห็น