Posted: 29 Mar 2018 09:59 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์

ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” วิจักขณ์ พานิช อ้างถึงทัศนะของเชอเกียม ตรุงปะ คุรุทางจิตวิญญาณในสายธรรมแห่งวัชรยานว่า

“โลกที่ปั่นป่วนนี้จะอยู่รอดได้ไม่ใช่เพราะศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ศาสนาอาจไม่ช่วยให้โลกอยู่รอดได้ แต่สิ่งที่จะทำให้โลกอยู่รอดได้คือสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า Secular Spirituality สิ่งที่ผมจะสื่อสารกับพวกคุณอาจไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็น Secular Enlightenment ถ้าเป็นศาสนาพุทธก็จะเรียกว่า Secular Buddhism”[1]


บทความนี้ต้องการทำความเข้าใจว่าอะไรคือ “Secular Spirituality” และมันมีความหมายต่อชีวิตและสังคมของเราในบริบทโลกสมัยใหม่อย่างไร

แต่ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า “จิตวิญญาณ” คืออะไร เพื่อให้กระชับผมเห็นด้วยกับนิยามของ มิเชล ฟูโกต์ ที่ว่า


“อะไรคือจิตวิญญาณ? ผมเชื่อว่ามันคือวิถีปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง แตกหัก ...ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการ (sujet) ของตนเอง ...สำหรับผม ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะลุกฮือขึ้นมาจากตำแหน่งผู้อยู่ใต้บงการ ที่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมือง อำนาจศาสนา กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่างๆ ความเชื่อ ความเคยชิน โครงสร้างทางสังคม ฯลฯ คือเรื่องของจิตวิญญาณ ...”[2]



สำหรับฟูโกต์แล้ว จิตวิญญาณในความหมายดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับศาสนา เพราะจิตวิญญาณอาจมีได้ทั้งในและนอกศาสนา

หรือพูดอีกอย่างว่า ศาสนาอาจจะเป็นสิ่งที่ครอบงำหรือกดทับจิตวิญญาณอันเป็นวิถีปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง แตกหัก และปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการของตนเองก็ได้

ขอให้นึกถึงศาสนาแบบโมเสส เมื่อเขานำชาวยิวอพยพหนีจากความเป็นทาสแรงงานของฟาโรห์แห่งอียิปต์ภายใต้การนำทางของ God นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการของตนเอง แต่ขณะเดียวกันภายใต้ความเชื่อใน God ก็มีมิติของอำนาจที่กดทับจิตวิญญาณเช่นนั้น เพราะสำหรับคนที่ไม่ศรัทธาใน God เช่น ไปทำพิธีบูชารูปเคารพอื่นที่ขัดคำสั่งของ God ย่อมได้รับโทษคือถูกฆ่าทิ้ง

ขณะที่ศาสนาแบบไถ่บาปของเยซู มีจิตวิญญาณของการปลดปล่อยมนุษย์จากความรุนแรง เพราะปฏิเสธการตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และแทนที่ด้วยความรัก การให้อภัยแก่ศัตรู

แต่ทว่าในนามของการปกป้องความบริสุทธิ์แห่งคำสอนของพระคริสต์ภายใต้อำนาจศาสนจักรโรมันคาทอลิกยุคกลาง ก็กลับสุดโต่งด้วยการกดขี่ทางจิตวิญญาณ เพราะอำนาจศาสนจักรปฏิเสธเสรีภาพทางความคิด (freedom of conscience) เต็มไปด้วยการล่าแม่มดคนคิดต่างหรือ “พวกนอกรีต” ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม

ในมุมมองของ Martin McCabe (1867 – 1955) มีความจริงทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่บรรดานักเขียนคัมภีร์ทางศาสนาไม่ได้พูดถึง นั่นคือความจริงที่ว่า ในช่วงระยะเวลาราวสี่พันปีที่แล้วมันมีความไม่เชื่อในพระเจ้าและเทพต่างๆ ที่แพร่หลายอยู่ในที่ต่างๆ ของโลก ซึ่งความไม่เชื่อในพระเจ้าและเทพต่างๆ นั้นทำให้เกิดความงอกงามของความรู้ และการค่อยๆ พัฒนาขึ้นของเสรีภาพในการแสดงความเชื่อของบุคคล

ไมเคิล ไรท์ก็ยืนยันคล้ายกันว่า พัฒนาการทางปัญญาของโลกตะวันตกเกิดจากการปะทะขัดแย้งระหว่างศรัทธา (Religion) กับเหตุผล (Philosophy) การปะทะขัดแย้งดังกล่าวทำให้โลกทางความคิดของตะวันตกไม่หยุดนิ่ง บางครั้งก็เกิดความตึงเครียด สับสน ปั่นป่วน แต่ก็ช่วยให้เกิดการคลี่คลายก้าวหน้ามาได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการมีคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นเรื่องของการสงสัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มากกว่า[3]

Paul Cliteur พูดเจาะจงลงไปอีกว่า ความเจริญของยุโรปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ “จิตวิญญาณแห่งการวิจารณ์ศาสนา” (spirit of religious criticism) เห็นได้ใน tradition การวิจารณ์แบบ Socrates ผู้ซึ่งถูกติดสินประหารชีวิตเพราะวิจารณ์ความเชื่อทางศาสนาของชาวเอเธนส์ Lucretius, Spinoza, Voltaire, Diderot, T.H. Huxley, Nietzsche, Russell และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ[4]

การวิจารณ์ศาสนาของของบรรดานักคิดเสรี (Free thinkers) อยู่บนจุดยืนที่ว่า “ศาสนาไม่ได้มีเพียงด้านบวกเท่านั้น หากมีด้านมืดด้วย” โดยเฉพาะการวิจารณ์ศาสนาของนักปรัชญายุคสว่างทางปัญญา (Enlightenment) และยุคสมัยใหม่ได้ให้กำเนิดแนวคิด “ศีลธรรมโลกวิสัย” (Secular morality) และ “จิตวิญญาณแบบโลกวิสัย” หรือ “Secular spirituality” นั่นคือ การเกิดความคิดที่ว่าศีลธรรมไม่ได้ขึ้นกับศาสนา เพราะการกระทำภายใต้ความเชื่อทางศาสนาหลายๆ เรื่องขัดกับศีลธรรมและเสรีภาพของมนุษย์[5]

ค้านท์ (Immanuel Kant) ถึงกับปฏิเสธทฤษฎีจริยศาสตร์เทวบัญชา เขายืนยันว่า “เราเคารพกฎศีลธรรม (moral law) เพราะมันเป็นกฎซึ่งเราในฐานะสัตผู้มีเหตุผลบัญญัติขึ้นสำหรับตัวเราเอง” ดังนั้นศีลธรรมจึงไม่ขึ้นกับศาสนา ศีลธรรมเป็นเรื่องของอิสรภาพ (autonomy) ของเราแต่ละคนที่จะใช้เหตุผลตัดสินเองว่าอะไรถูกหรือผิด และกำหนดกฎศีลธรรมขึ้นมาเองบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเสมอภาคกัน

ขณะที่ซาตร์ (Jean - Paul Sartre) พูดถึงขนาดว่า “ถ้าเราพยายามจินตนาการถึงโลกที่ถูกสร้างโดยพระเจ้า มนุษย์อย่างเราๆ ย่อมไม่มีเสรีภาพ เพราะเราจะเป็นได้เพียงตัวละครผู้ที่แสดงบทบาทตามที่พระเจ้าเขียนให้เท่านั้น ความเชื่อเรื่องพระผู้สร้างจึงเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของมนุษย์โดยสิ้นเชิง”[6]

ความคิดดังกล่าวสะท้อนถึงจิตวิญญาณแบบโลกวิสัยที่ต้องการหลุดพ้นจากการครอบงำทางศาสนา ซึ่งไม่เพียงแต่การครอบงำของอำนาจศาสนจักรเท่านั้น หากแต่เป็นอำนาจครอบงำของความเชื่อทางศาสนาด้วย นักโลกวิสัย (Secularist) บางคน เช่นโรบินสัน (Richard Robinson) ได้แยก “ความดีส่วนบุคคล” (Personal goods) กับ “ความดีทางการเมือง” (Political goods) อย่างแรกเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างหลังเป็นเรื่องสาธารณะ

ความดีส่วนบุคคลคือ ความงาม, ความจริง, เหตุผล, ความรัก, มโนธรรม, และศาสนา ส่วนความดีทางการเมืองคือ รัฐ, ความเสมอภาค, เสรีภาพ, ความอดกลั้น, สันติภาพ, ความยุติธรรม และประชาธิปไตย

จิตวิญญาณแบบโลกวิสัยย่อมสนับสนุนความดีความดีสาธารณะ เพื่อสร้างหลักประกันการมีเสรีภาพทางศาสนา,เสรีภาพทางความคิดเห็น, เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออก ตลอดถึงความเสมอภาคและความยุติธรรม (fairness) ในเรื่องสิทธิ โอกาส ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนาให้อยู่ร่วมกันอย่างเคารพกันและกันและอย่างสันติ

ปัญหาของพุทธเถรวาทไทย (และพุทธเถรวาทในที่อื่นๆ ) คือการผนวกรวมพุทธศาสนาเข้ากับสถาบันชาติและอุดมการณ์ชาตินิยม จึงทำให้เกิดประเพณีการอ้างและปลูกฝังอบรมให้เชื่อว่าความดีหรือศีลธรรมแบบศาสนาเป็นความดีสาธารณะ

ดังที่นิยมอ้างกันว่า “ประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของธรรมาธิปไตย” เป็นต้น พุทธเถรวาทจึงมักเป็นอุปสรรคของจิตวิญญาณแบบโลกวิสัย หรือเป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของจิตวิญญาณแห่งการปลดปล่อยสู่เสรีภาพ เพราะพุทธเถรวาทมักเป็นเครื่องมือการสร้างอำนาจครอบงำของรัฐ หรือชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมายาวนาน

ขณะที่พุทธวัชรยานดูเหมือนจะก้าวสู่การเคารพเสรีภาพในความหมายสากลได้มากกว่า ทะไลลามะ พูดกระทั่งว่า “จิตวิญญาณแบบโลกวิสัยสำคัญกว่าจิตวิญญาณแบบศาสนา”[7] นี่อาจเป็นเพราะวัชรยานกลายเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ จึงก่อเกิดจิตวิญญาณปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ ที่ไปกันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ หรือจิตวิญาณแบบโลกวิสัยและศีลธรรมโลกวิสัย

ขณะที่พุทธเถรวาทผูกพันตัวเองเข้ากับรัฐหรืออุดมการณ์ชาตินิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยู่ข้างอำนาจที่ครอบงำกดขี่มากกว่าที่จะเป็นศาสนาที่มีพลังในการปลดปล่อย





อ้างอิง





[1] ดู พุทธศาสนาที่เป็นเครื่องมือรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, https://www.prachatai.com/journal/2018/03/75868


[2] ดู มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน, https://blogazine.pub/blogs/dinbuadaeng/post/6155


[3] ดู ไมเคิล ไรท์, ตะวันตกวิกฤตคริสต์ศาสนา, (กรุงเทพฯ: มติชน,2542)


[4] แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ tradition การวิจารณ์ศาสนาของ free thinkers ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของทัศนะแบบโลกวิสัย ศีลธรรมโลกวิสัย และจิตวิญญาณแบบโลกวิสัยใน “The Secular Outlook In Defense of Moral and Political Secularism” by Paul Cliteur


[5] ดูการอภิปรายเกี่ยวกับ Secular morality ใน สุรพศ ทวีศักดิ์, จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560)


[6] ดู Jean - Paul Sartre (1905 – 1980) in L ’ existentialisme est un humanisme [Existentialism is a Humanism] (1946).


[7] ดู Secular versus religious spirituality,

http://communicate.eckharttolle.com/news/2012/04/16/secular-versus-religious-spirituality/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.