Posted: 28 Mar 2018 02:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลยกฟ้อง บ.แจ๊คสันฯ ฐานร่วมกันฉ้อโกง ขาย 'GT200' กองทัพไทย ชี้พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอและเป็นเพียงนำเข้าเครื่องและเอกสารจาก บ.คอมแพคมาจำหน่ายเท่านั้น โดยอาจไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ
28 มี.ค.2561 สื่อหลายสำนักเช่น มติชนออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และโพสต์ทูเดย์ ฯลฯ รายงานตรงกันว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงดอนเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 คดีหมายเลขดำ อ.1768/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย ) จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทขายส่งเครื่องจักร อุปกรณ์ภัณฑ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงผู้อื่นโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ซึ่งการหลอกลวงนั้นได้ทรัพย์สินไปฯ ตามประมวลกฎหมายหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และ 91


รายงานข่าวระบุว่า ตามฟ้องโจทก์อัยการ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.60 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันเดือนใดไม่ปรากฏชัด ช่วงต้นปี 2550 -14 ก.ย.50 เวลากลางวัน จำเลยได้ฉ้อโกงโดยทุจริตด้วยการหลอกลวง จำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอัลฟ่า 6 รุ่นคอมแพค โดย บ.คอมแพค ผู้จัดจำหน่ายในประเทศอังกฤษ ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย ที่เป็นหน่วยราชการในสังกัด กองบัญชาการกองทัพไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 14 ก.ย.50 จำนวน 6 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1.3 ล้านบาท มูลค่ารวม 7.8 ล้านบาท และครั้งที่ 2 วันที่ 13 ม.ค.52 อีก 2 เครื่องมูลค่ารวม 2.6 ล้านบาท โดยการทำสัญญาจัดซื้อ 2 ครั้ง 8 เครื่อง รวมมูลค่า 10,400,000 บาท โดยการจัดซื้อ จำเลยได้สาธิตวิธีการใช้ พร้อมแจกเอกสาร(แคตตาล็อก) ที่ระบุคุณสมบัติ เครื่องตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าวจะมีเสาอากาศที่พับอยู่ยืดออกมาได้สามารถตรวจสารเสพติดได้ 7 ชนิด และวัตถุระเบิด 10 ชนิดโดยมีอุปกรณ์ที่สามารถจับสสาร ระยะไกลโดยไม่ต้องใช้ประจุไฟฟ้า ไม่ต้องมีการชาร์ตไฟ

โดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากร่างกายของผู้ใช้อุปกรณ์ขณะที่รัศมีการทำงานสารมารถจับสัญญาณได้ในระยะ 6300 เมตรในทุกสภาพอากาศ แสดงผลในเวลาประมาณ 1นาที ทั้งที่ความจริงแล้วเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นเพียงพลาสติกแข็ง 2 ชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน ส่วนภายในไม่ได้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รับสัญญาณได้อย่างที่ระบุไว้ในแคตตาล็อก ส่วนเมมโมรี่การ์ดนั้นภายนอกเป็นพลาสติกแข็งแต่ภายในเป็นกระดาษสีดำ 4 แผ่น เหตุเกิดที่แขวงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตบางเขน กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ โดยในวันนี้มี นายหยาง เซี๊ยะ เซียง ชาวจีนไต้หวัน ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทแจ๊คสันฯ จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมนายคมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความ

ทั้งนี้ ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการอุปกรณ์ไฟฟ้า ยุทธภัณฑ์ เครื่องตรวจจับโลหะ และเป็นตัวแทนผู้นำเข้าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ย่านบางนา มีการทำสัญญาจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน่วยราชการสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยโดยจำเลยเป็นผู้เข้าประมูลได้โฆษณาคุณสมบัติของเครื่องวัตถุระเบิดที่ได้รับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดังกล่าว จากบริษัท คอมแพคฯ ในประเทศอังกฤษ

ขณะที่ อัยการโจทก์ มีคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อ รวม 6 คน เบิกความว่าในการจัดซื้อ มีบริษัทจำเลยเป็นผู้นำเสนอเครื่อง พร้อมนำแคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติมาให้ดู และสาธิตให้คณะกรรมการฯ ได้เห็น ซึ่งขณะนั้นเครื่องมือได้ทดสอบการหาสารเสพติดและระเบิดได้ตรงตามเข็มทิศของเครื่องจึงทำให้ขณะนั้นเชื่อว่าเครื่องสามารถใช้งานได้ แต่เนื่องจากไม่เคยจัดซื้อเครื่องมือลักษณะดังกล่าวมาก่อน คณะกรรมการฯจึงได้เสนอการจัดซื้อด้วยวิธีที่บ่งบอกลักษณะและคุณสมบัติตามแคตตาล็อก กระทั่งบริษัทจำเลยได้เข้าประมูลและชนะการประกวดราคาโดยมีการทำสัญญา 2 ครั้ง รวมมูลค่า 10,400,000 บาทจนมีการส่งมอบเครื่องให้ผู้เสียหายและชำระเงินตามสัญญาแล้ว

แต่ภายหลังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจนได้มีการตรวจสอบเครื่องโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วพบว่า แท่งตัวเครื่องเป็นเพียงพลาสติกแข็ง 2 อันประกอบกัน ไม่ได้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจับสัญญาณวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดได้ และไม่มีตัวส่งสัญญาณสนามแม่เหล็กกับเข็มทิศที่ใช้ได้จริงกับตัวเครื่อง ส่วนเมมโมรี่การ์ดภายในก็เป็นกระดาษอัด ต่อมาจึงมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ก่อนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)จะรับคดีไว้ และแจ้งให้ นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้แทนศูนย์อำนวยความปลอดภัยของกองทัพฯ เข้าเป็นผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี การจะรับฟังว่า บริษัทจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล กระทำผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ทรัพย์สินไปนั้น ก็จะต้องพิจารณาว่าได้กระทำการโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นเท็จมาก่อน หรือร่วมกันทำข้อมูลเท็จ ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าบริษัทจำเลยเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายที่นำเข้าเครื่องดังกล่าวจาก บริษัทคอมแพคฯ ที่อยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบและยืนยันให้เห็นว่าบริษัทจำเลยได้ร่วมจัดทำเอกสารแคตตาล๊อกกับบุคคลอื่นใด ที่เสนอคุณสมบัติซึ่งจะฟังได้ว่ากระทำการอันเป็นเท็จโดยลำพังการที่บริษัทจำเลย นำแคตตาล็อกที่ได้มาจากกการนำเข้าเครื่องนั้นมาแสดงพร้อมเครื่อง ก็ไม่ได้แสดงว่า บริษัทจำเลยร่วมดำเนินการหรือผลิตเอกสารที่น่าจะเป็นเท็จ

แม้ว่าโจทก์จะมีเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่า ในการตรวจสอบ เรื่องการจัดซื้อ นาย หยาง เซี๊ยะ เซียง ระบุว่าในการจัดจำหน่ายเครื่องมีคนรู้จักซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทของผู้ผลิต แต่ในการดำเนินคดีก็ไม่ได้กระทำต่อ นายหยาง ฯ ด้วย มีเพียงบริษัทที่เป็นนิติบุคคลซึ่งการกระทำนั้นระหว่างบริษัทและบุคคลจะต้องพิจารณาแยกจากกัน อย่างไรก็ดีหากผู้เสียหายเห็นว่ามีการกระทำที่เกิดและได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อไปหรือหากพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดก็ชอบที่จะดำเนินคดีอาญาตามขั้นตอน

พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำแคตตาล๊อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จ แต่บริษัทจำเลยเพียงนำเข้าเครื่องและเอกสารจาก บ.คอมแพคมาจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่มีพยานอื่นยืนยันได้ว่าจำเลยกระทำผิด โดยจำเลยอาจไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิตกระทำการอันเป็นเท็จ ดังนั้นจำเลยจึงยังไม่มีความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง

ด้าน คมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความบริษัทแจ๊คสันฯ กล่าวว่า คดีนี้ที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากรับฟังว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนการขายที่ซื้อมาจากตัวแทนจำหน่ายอีกทีหนึ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิตโดย เกี่ยวกับคดีนี้ ยังไม่มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย อย่างไรก็ดีบริษัทคอมแพคผู้จำหน่ายในอังกฤษนั้นก็ถูกดำเนินคดีแต่ศาลในอังกฤษก็ยกฟ้องเช่นกัน แต่ในส่วนบริษัทผู้ผลิตเครื่องก็เป็นอีกส่วนหนึ่งแยกกัน ทั้งนี้จะมีการอุทธรณ์คดีต่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของพนักงานอัยการ ขณะที่ทนายปฏิเสธว่าไม่ทราบข้อมูลว่าบริษัทแจ๊คสัน ฯจะเคยประสานกับบริษัทคอมเเพคหรือไม่


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเกี่ยวกับเครื่อง GT200 นั้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ย้อนรอย GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ยศขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์เรื่อง GT200 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อปี 2553 ว่า "ผมอยากขยายความหลักการทำงานนิดหนึ่ง สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์ จะมีสนามแม่เหล็กของมัน ซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 ก็คือ เราจะตรวจหาอะไร เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานก็จะไปตรงกับยาไอซ์ ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณจะเบนไปหา แต่ลักษณะการใช้เครื่อง GT200 จะเหมือนการใช้แผนที่เข็มทิศ ก็คือต้องเดินสอบ เขาเรียกสอบแนวเส้นเล็ง เดินตามแกน X แกน Y เพื่อให้แนวเส้นเล็กตัดกัน จะกำหนดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ได้ อาจจะรัศมี 3 เมตร จริงๆ แล้วในการปฏิบัติเพื่อกำหนดพื้นที่ให้แคบลง ว่าตรงไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีวัตถุระเบิดหรือวัสดุที่เราจะหาอยู่"

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 53 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ช่วงทันข่าวเด่น โดยยืนยันว่าทางหน่วยงานจะยังใช้เครื่อง GT200 ต่อไปเป็นส่วนเสริม เพื่อตีวงการตรวจสอบวัตถุระเบิดให้แคบลง และว่าเครื่องจีที 200 นั้นหน่วยงานยังใช้ได้ผล และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังใช้ต่อไป ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ โดยระบุว่าปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ยังไม่มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดได้ยาก

"ถามว่าใช้แล้วได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์นะครับ แต่ว่าก็มีการพบครับว่า มันมีจุดอ่อน คือเครื่องนี้นี่เท่าที่ผมได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือว่ามีจุดอ่อนตรงที่ว่ายังต้องอาศัยเรื่องของกระแสไฟฟ้าในตัวคนที่ใช้ เพราะฉะนั้นบางที่สภาพของตัวบุคคลที่ไปตรวจ ถ้าอาจจะพักผ่อนน้อยไป ไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้เครื่องนี้ขาดประสิทธิภาพ" อภิสิทธิ์ เคยกล่าวไว้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน มีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ด้วย โดยถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)

โดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เครื่อง GT 200 ชี้ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า จากนั้นผู้ที่ถูกเครื่อง GT200 ชี้ จะถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ขณะที่ไม่มีการกล่าวอ้างในชั้นศาล ว่าได้ตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีด้วยการใช้ GT 200 แต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ ระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชองครักษ์

โดยผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้เลิกใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.