Posted: 24 Mar 2018 01:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มผู้หญิงขบวนการซาปาติสตาที่มีชื่อในระดับโลก จัดการประชุมใหญ่โดยเชื้อเชิญผู้หญิงจากทั่วโลกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทั้งในประเด็นสตรีนิยมและประเด็นอื่นแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง มีผู้เข้าร่วมจากหลายสิบประเทศด้วยกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมแนวระนาบ พวกเธอประกาศย้ำว่าจะไม่หยุดต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

24 มี.ค. 2561 ในวาระเดือนสตรีสากล กลุ่มผู้หญิงแห่งขบวนการซาปาติสตานับหมื่นคนรวมตัวกันที่เขตปกครองในรัฐเชียปาส พร้อมป้ายผ้า "ยินดีต้อนรับผู้หญิงของโลก" ตั้งตระหง่าน มีผู้หญิงจากหลายสิบประเทศมารวมตัวกันในพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงแห่งนี้เป็นเวลาตลอด 3 วันเต็ม

นี่เป็นครั้งแรกที่กลุ่มซาปาติสตาจัดการรวมกลุ่มหญิงจากทั่วโลกในชื่อว่า การรวมกลุ่มของผู้หญิงผู้ต่อสู้ทั้งทางการเมือง, ศิลปะ, การกีฬา และวัฒนธรรมระดับนานาชาติ โดยมีการเชื้อเชิญ "สหายหญิง" ทั้งหลายเข้าร่วมเฉลิมฉลองและจัดตั้งกันเพื่อต่อสู้กับทุนนิยมและระบอบชายเป็นใหญ่

เอริกา หนึ่งในผู้ขบถต่อต้านกล่าวว่าพวกเธอไม่ได้ขอร้องให้มาช่วยกันสู้ แค่ขอให้ทุกคนอย่าหยุดต่อสู้ดิ้นรน อย่ายอมแพ้ อย่าขายวิญญาณตัวเอง และอย่าไปขัดขวางผู้หญิงที่ต่อสู้

ชนพื้นเมืองมายาแห่งซาปาติสตากำลังพยายามสร้างแนวทางเลือกใหม่นอกเหนือไปจากทุนนิยมโดยอาศัยฐานรากจากชนชั้นล่าง แนวทางของพวกเขาส่งแรงบันดาลใจให้กับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงสร้างรากฐานดั้งเดิมทั่วโลกมาเป็นเวลากว่ามากกว่า 20 ปี แล้ว พวกเขาเริ่มต้นจากการเป็นกลุ่มขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านข้อตกลงการค้าที่จะส่งผลกระทบกับชีวิตทำให้ชีวิตชนพื้นเมืองอย่างพวกเขาแย่ลงและทำให้ความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต่อมาได้เรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจของตัวเองในด้านการเมือง วัฒนธรรม และที่ดิน รวมถึงมีกระบวนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แบบเน้นการมีส่วนร่วมจากคนในท้องถิ่น

สำหรับกลุ่มผู้หญิงซาปาติสตานั้น พวกเธอรวมตัวกันเพื่อโต้ตอบทั้งทุนนิยมและระบอบชายเป็นใหญ่ที่ไม่เพียงแค่กดขี่รังแกและลดทอนคุณค่าของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นระบอบที่มีส่วนในการสังหารผู้หญิงด้วย พวกเธอจึงเชื้อชวนผู้หญิงจากทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกความเชื่อ เพื่อ "พูดคุยและรับฟังกันแบบผู้หญิง" โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างกลุ่มผู้หญิงจากหลายแห่งในโลก

เช่นกรณีของหญิงสูงวัยรายหนึ่งที่พูดถึงประสบการณ์ตัวเองที่ถูก "รังแกซ้ำสอง" ทั้งจากเจ้านายและจากสามีเธอเอง ขณะที่เจ้านายอ้างใช้ระบบและทาสติดหนี้สินมาข่มเหงรังแกเธออย่างโหดร้าย สามีเธอก็อ้างใช้อำนาจแบบอาณานิคมในการทุบตีและดูหมิ่นเหยียดหยามเธอ เรื่องราวแบบนี้เองที่ทำให้การต่อสู้ของซาปาติสตาเป็นการต่อสู้ในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่งด้วย

แม้แต่กลุ่มผู้หญิงในกระบวนการซาปาติสตาเองก็ต้องใช้เวลาต่อสู้ท้าทายกับการเหยียดเพศและการไม่รู้หนังสือของพวกเธอจนสามารถมีที่ทางของตัวเองในขบวนการได้ สหายหญิงมารีนาบอกว่าไม่ใช่ผู้ชายหรอกที่ให้พวกเธอมีสิทธิในการมีส่วนร่วม แต่เป็นสหายหญิงคนแรกที่ลุกขึ้นมาท้าทายและเปิดตาพวกเธอ

สหายหญิงเหล่านี้ยังรวมตัวกันเฉลิมฉลองความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านสุขภาวะ, การศึกษา และสิทธิสตรี ที่ได้มาจากวิธีการจัดตั้งกันเอง โครงการชุมชน และการสร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง โดยที่แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ถูกแฝงฝังอยู่ในการปฏิสัมพันธ์ของชีวิตประจำวัน แต่พื้นที่ของซาปาติสตาก็มีคนพยายามเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ หรือกลุ่มผู้หญิงบางกลุ่มก็ได้รับแรงันดาลใจจากการต่อสู้ของซาปาติสตาไม่ว่าจะเป็นวินัย ความอดทน ความเป็นผู้นำ และความทรงจำร่วมกัน

ผู้ที่เข้าร่วมบางคนบอกว่าตนเองมาจากพื้นเพเป็น "หญิงคนขาวในเมืองที่มีอภิสิทธิ" แต่พอได้มาเรียนรู้จากผู้หญิงซาปาติสตาแล้วก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หญิงอีกรายเป็นศิลปินชาวสเปนบอกว่าลักษณะการต่อสู้ของซาปาติสตาอาจจะนำไปใช้กับปาเลสไตน์ได้ แต่สำหรับตัวเธอเองแล้วต้องหันกลับไปดูการต่อสู้ของตัวเองในที่ของเธอ

ผู้เข้าร่วมอีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากโคลอมเบียชื่อ แอสตริค คูโร มอนเตเนโกร กล่าวว่าการจัดประชุมสตรีนิยมของซาปาติสตามีความเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมอย่างเน้นการรับฟังกันแทนการยัดเยียดความติดของตัวเอง อีกทั้งยังบอกว่าเป็น "สตรีนิยมที่มาจากประสบการณ์" แบบเดียวกับกลุ่มคนทำงานในบ้านที่ซานคริสโตบัล

ทั้งนี้ในการประชุมยังมีลักษณะเกื้อหนุนให้รับฟังอย่างเคารพกันโดยที่เอริกาพูดเน้นว่าพวกเธอไม่ได้ถูกเชิญมาเพื่อให้แข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน แต่อยากให้มาร่วมกันในแบบที่ "แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน" โดยไม่ลบความแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคล ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลายประเด็น ตั้งแต่ความหลากหลายทางเพศ การเหยียดเพศ การเหยียดเชื้อชาติ การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมือง สิทธิชนพื้นเมือง สิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัย

ในงานนอกจากการประชุมแล้วยังมีการจัดแสดงดนตรี หนังสือ การอ่านบทกวี การแสดงละคร การจัดแสดงศิลปะ สินค้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเล่นกีฬาหลายชนิด รวมถึงการเต้นรำและศิลปะป้องกันตัวต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมาเองจากความสนใจร่วมกันของพวกเธอโดยที่ไม่ได้มีการจัดตารางที่ตายตัว ทำให้เกิดทั้งการริเริ่มและการเพิ่มความเข็มแข็งในสิ่งที่มีอยู่แล้ว

หนึ่งในผู้ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้คือ เบอร์นาร์ดา เปซัวร์ ทอร์เรส สมาชิกขององค์กรโคนามูรี องค์กรเกษตรกรชนพื้นเมืองปารากวัยพูดถึงวัฒนธรรมและการเคลื่อนไหวของพวกเขา เธอบอกว่าการได้แลกเปลี่ยนกับผู้หญิงทุกคนในงานประชุมของซาปาติสตาทำให้ได้รับรู้ถึงการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันของคนอื่นๆ เป็นการเสริมพลังให้กับตัวเธอเองและพัฒนาการเป็นผู้นำในตัวเธอเองไปด้วย

ผู้หญิงซาปาติสตาเองก็รู้สึกประหลาดใจที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจากหลายชาติ สหายหญิงดาเลียกล่าวว่าพวกเธอชอบฟังประสบการณ์ของผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มาที่นี่มาก และบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเธอจะต้อง "จัดตั้งในฐานะผู้หญิงเพื่อต่อต้านระบบทุนนิยมแบบแย่ๆ" ซึ่งเป็นระบบที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในแง่ที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสินค้า เป็นการโฆษณาหรือเป็นแค่เครื่องประดับ ตามข้อความที่ระบุไว้บนภาพฝาผนังภายในงานประชุม

อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในงานนี้เช่นกัน จูเลียนนา คาบัล ซอค นักมานุษยวิทยาผู้มีเชื้อสายชาวมายากล่าวว่ามีอยู่บางคนโดยเฉพาะหญิงคนขาวควรจะทำการบ้านมามากกว่านี้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของซาปาติสตาและขวนการปลดปล่อยจากอาณานิคมก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเธอที่อยากเข้าร่วมพื้นที่ปลดปล่อยจากอาณานิคมแต่กลับต้องมาคอยสอนนั่นสอนนี่ให้พวกคนขาวและเจอการถือดีในแบบคนขาว (white entitlement)

อย่างไรก็ตามซอคบอกว่างานประชุมในครั้งนี้ก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ "งดงาม" และทำให้ได้เห็นผู้หญิงซาปาติสตาผู้มีสายเลือดส่วนหนึ่งของ "นักรบหญิง (ชาวมายา) 2,000 ปี" กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมจากล่างขึ้นบน

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของซาปาติสตา ไม่เพียงแค่เรื่องของการต่อกรกับการรุกล้ำของทุนนิยมระดับโลกเท่านั้น แต่ยังมีการต่อสู้ของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการเหยียดเพศและการกีดกันที่ฝังรากลึกในสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและศักดิ์ศรีของตัวเอง รวมถึงการเป็นผู้นำชุมชน เช่นในช่วงราว 2533-2543 ผู้หญิงซาปาติสตาต่อสู้เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองทั้งในแง่การมีส่วนร่วมทางการเมือง สุขภาวะ และการคุ้มครองจากความรุนแรง รวมถึทให้หญิงชนพื้นเมืองรับรู้คุณค่าในตัวเองเพื่อต่อต้านอำนาจตกค้างมาจากยุคอาณานิคม ส่วนเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็กำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง


เรียบเรียงจาก

“Don’t Surrender, Don’t Sell Out:” The Zapatistas’ First International Gathering of Women Who Struggle, Toward Freedom, 19-03-2018
https://towardfreedom.com/archives/women/dont-surrender-dont-sell-out-the-zapatistas-first-international-gathering-of-women-who-struggle/


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.