Posted: 28 Mar 2018 04:05 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นิตยสาร Yes! จากสหรัฐฯ นำเสนอบทความเรื่องที่สารานุกรมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างวิกิพีเดียยังคงมีอคติทางเพศในแง่ที่นำเสนอเรื่องของผู้หญิงน้อยและมีสัดส่วนผู้หญิงร่วมเขียนสารานุกรมที่เพียงร้อยละ 16 ซึ่งทางวิกิพีเดียเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้และหาทางแก้ไขปัญหานี้

28 มี.ค. 2561 หลังจากที่การเคลื่อนไหวอย่าง #MeToo ทำให้คนสนใจเรื่องปัญหาของระบบที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงมากขึ้นในหลายภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน ในวงการการเมือง หรือในวงการบันเทิง บทความของ ทามาร์ แคร์รอล ศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และลารา นิโคเซีย บรรณารักษ์จากสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์ ก็พูดถึงกรณีความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเว็บสารานุกรมอย่างวิกิพีเดีย

เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอันดับที่ 5 ของโลกอย่างวิกิพีเดียเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เน้นให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ร่วมเขียน ร่วมถกเถียง และแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา และมีการคลิกเข้าชมมากถึง 7,300 ล้านวิวจากการสำรวจในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้วิกิพีเดียกลายเป็นแหล่งที่คนมักจะเข้าไปค้นข้อมูลเป็นอันดับแรกๆ

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยพบว่าวิกิพีเดียยังทำได้ไม่ดีนักในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ในฐานะทีแคร์รอลและนิโคเซียมาจากสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์ที่มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมผู้หญิงพวกเธอจึงนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอคติทางเพศที่เกิดขึ้นกับวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียมีการเขียนและแก้ไขข้อมูลต่างๆ โดยอาสาสมัครมากกว่า 33 ล้านคน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเมื่อปี 2556 พบว่ามีคนเข้าร่วมปรับปรุงแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ร้อยละ 16.1 เท่านั้นเทียบกับทั้งหมด ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดียอย่างจิมมี เวลส์ บอกว่าเขาเชื่อว่าจำนวนผู้เข้าไปแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักถึงแม้จะมีความพยายามปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ก็ตาม

การที่ผู้หญิงเข้าไปเขียนหรือแก้ไขบทความน้อยจะส่งผลให้หัวข้อที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้หญิงน้อยลงไปด้วย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าวิกิพีเดียนำเสนอเรื่องของผู้หญิงได้ละเอียดกว่าสารานุกรมชื่อดังอีกแหล่งหนึ่งคือเอ็นไซโคลพีเดียบริแทนนิกาออนไลน์แต่จำนวนเนื้อหาวิกิพีเดียเกี่ยวกับชีวประวัติยังมีผู้หญิงอยู่น้อยกว่าร้อยละ 30 และในเนื้อหาประวัติของผู้หญิงมักจะมีการลิงค์เชื่อมโยงไปยังบทความของผู้ชายมากกว่าที่เนื้อหาประวัติผู้ชายจะลิงค์โยงมาหาผู้หญิง อีกทั้งเนื้อหาประวัติผู้หญิงในวิกิพีเดียก็มักจะเน้นแต่เรื่องความสัมพันธ์กับบทบาทในครอบครัวเท่านั้น

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องที่ผู้เขียนวิกิพีเดียต้องการอ้างอิง "แหล่งที่น่าเชื่อถือ" แต่ในประวัติศาสตร์ของโลกคนมีการศึกษาที่มักจะได้ตีพิมพ์ผลงานอ้างอิงได้มักจะเป็นผู้ชายมากกว่า ทำให้การค้นแหล่งอ้างอิงจากผลงานตีพิมพ์ของผู้หญิงหาได้ยากกว่า

บทความเกี่ยวกับมรณกรรมเองก็มักจะ "ถูกครอบงำจากชายคนขาว" เป็นส่วนใหญ่จากการสำรวจพบโดยนิวยอร์กไทม์ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2556 ว่ามีผู้แก้ไขบทความบางคนที่ปรับประเภทบุคคลจากเดิมที่เป็นกลางทางเพศให้มีการเน้นระบุแยกย่อยว่าเป็นเพศหญิง เช่น จาก "นักแต่งนิยายอเมริกัน" เป็น "นักแต่งนิยายหญิงอเมริกัน"

แคร์รอลและนิโคเซียระบุว่านอกจากวิกิพีเดียแล้วอคติทางเพศยังสามารถพบได้ในบริการออนไลน์อื่นๆ เช่น OpenStreetMap ที่มีผู้ชายเป็นผู้แก้ไขจำนวนมาก หรือเว็บไซต์ GitHub มีปรากฏการณ์ที่พอคนค้นพบว่าผู้นำเสนอผลงานนิยามตัวเองเป็นผู้หญิงก็จะลดระดับคะแนนลง นอกจากนี้ยังมีอคติทางเพศในอัลกอริทึมการค้นหาของกูเกิล ในกูเกิลทรานสเลทก็มักจะมีการใช้สรรพนามที่เป็นชายมากเกินความจำเป็น และในเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กสร้างโปร์ไฟล์สำหรับการทำงานอย่าง LinkedIn ก็มักจะแนะนำชื่อผู้ชายเมื่อมีการค้นหาผู้หญิง

สำหรับวิกิพีเดียเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหานี้ พวกเขาพยายามพัฒนาให้มีตัวแทนของเพศสภาพอื่นๆ ในเว็บไซต์ของพวกเขามากขึ้น เช่น การจัดงาน edit-a-thons เพื่อส่งเสริมให้มีจำนวนผู้เขียนหรือแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นและเน้นให้ผู้มีส่วนร่วมเขียนหรือแก้ไขบทความเกี่ยวกับผู้หญิง

ห้องสมุดของสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์เป็นผู้ร่วมจัดงาน edit-a-thons ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาในฐานะเดือนแห่งประวัติศาสตร์ของสตรีเพื่อให้มีการพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างน้อย 100 บทความภายในบ่ายวันเดียว การจัดงานเช่นนี้ช่วยให้ผู้หญิงมีปากเสียงในพื้นที่ๆ เคยถูกละเลยมาก่อน เช่นการเพิ่มบทความเกี่ยวกับผู้บุกเบิกด้านสิทธิของผู้พิการทางสายตากับทางการได้ยิน และเพิ่มเติมเนื้อหาของศิลปินแจ็ซหญิง

งานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากโครงการเพื่อการศึกษาของมูลนิธิวิกิมีเดียทำให้เกิดการหารือกันในประเด็นประวัติศาสตร์ของผู้หญิง มีนักศึกษารายหนึ่งบอกว่ามันเป็นงานที่มีความหมายที่สุดสำหรับเธอ

นอกจากนี้วิกิพีเดียยังมีโครงการอื่นๆ ที่วิกิพีเดียพยายามขยายการมีส่วนร่วมของเนื้อหาไปสู่ผู้หญิงและลดอคติทางเพศสภาพ เช่น โครงการอินสไปร์ (Wikipedia’s Inspire Campaign) ที่มีการจัดตั้งชุมชนผู้ปรับปรุงแก้ไขของผู้หญิงอย่าง วูแมนอินเรด และโครงการทีเฮาส์ รวมถึงการให้ทุนร่วมวิจัยของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ



เรียบเรียงจาก

Why Wikipedia Keeps Overlooking Women, Tamar Carroll and Lara Nicosia, 19-03-2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.