สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน CEO Innovation Forum 2018 “Thailand Shifting Towards Science Technology and Innovation Frontier” ที่จัดขึ้นโดย สวทน.

Posted: 26 Mar 2018 01:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'สมคิด' ย้ำไทยต้องเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รับมือตลาดแรงงานถูก ลดบทบาท ยันรัฐเตรียมเดินหน้าคลอดนโยบายสนับสนุนเอกชนต่อเนื่อง ขณะที่ทาง สวทน. เปิดผลสำรวจด้านการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ ปี 2560 พบเอกชนขานรับลงทุนเพิ่มขึ้น 39%

26 มี.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รายงานว่า วันนี้ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน CEO Innovation Forum 2018 “Thailand Shifting Towards Science Technology and Innovation Frontier” ที่จัดขึ้นโดย สวทน. และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา” โดยระบุว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เรามีนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญไปกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนรูปแบบวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตด้วย Advanced materials การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการบริการ การเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน การพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ตลอดเวลาด้วย Advanced robotics และ AI การที่คนจะมีอายุยืนขึ้น

“ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4% เท่านั้น และยังมีความท้าทายจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของกำลังแรงงาน และข้อจำกัด ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศ แต่จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้พร้อมจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่ เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการทะยานในครั้งนี้” ดร.สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ดี การก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลกำหนดแนวทางพัฒนาไว้ 5 กลุ่มหลัก อันได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มที่ 4 กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดให้เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็กำลังขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญหลายๆ ประการ เช่น โครงการ Big rock คาราวานวิทยาศาสตร์ การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การขจัดอุปสรรคการทำธุรกิจนวัตกรรม หรือ Ease of Doing Innovation Business (EDIB) เพื่อมุ่งหวังให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พร้อมพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นก้าวใหม่ในการพัฒนาประเทศ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและมีการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากผลของการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2560

สำหรับการจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ในครั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า มุ่งหวังเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทยจากผลสืบเนื่องของนโยบาย มาตรการของรัฐบาล รวมทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทาย และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เผยถึง ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม รอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า มูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 100,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.78 ของ GDP โดยภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากรอบการสำรวจประจำปี 2559 ถึงร้อยละ 39 นับเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในปี 2561 จะมีมูลค่าการลงทุนถึงร้อยละ 1 ของ GDP หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท

เลขาธิการ สวทน. ระบุถึงการสำรวจ พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9,251 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สูตรน้ำมันหล่อลื่นใหม่ เป็นต้น ด้านภาคบริการที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุนสูงถึง 4,891 ล้านบาท มาจากวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น โปรแกรม Streaming และ e-payment เป็นต้น รองลงมาคือ การบริการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,750 ล้านบาท และบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่ลงทุน 1,983 ล้านบาท ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation Center) เพื่อให้พนักงานเสนอความคิดสร้างสรรค์ภายใต้บริบท “Internet of Things” และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลมากขึ้น สำหรับภาคค้าปลีกค้าส่งที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงุทน 5,070 ล้านบาท จากการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทไทยมีนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 78 โดยส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการตลาด และนวัตกรรมองค์กร

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.