Posted: 29 Mar 2018 09:26 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อนินท์ญา ขันขาว

คนไร้บ้าน (homelessness) คือ สภาพของบุคคล ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยในแบบปกติทั่วไปได้ [1] ทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยทางสังคมด้านต่างๆ และการที่สังคมมีความเป็นพลวัตรจึงเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งออกมาจากพื้นที่ ที่เรียกว่า บ้าน

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและปัจจัยหลายๆ อย่างมีความจำเป็นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น 1.ตำแหน่งหน้าที่ ชื่อเสียงในสังคม ที่จะทำให้คนบางคนสามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้ 2.ทรัพย์สินเงินทอง ที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสามารถตอบสนองความต้องการ รวมไปถึงเป็นตัวบ่งชี้ในเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมตามความสามารถของบุคคล บุคคลใดมีความสามารถมากกว่าก็จะสามารถครอบครองได้มากกว่าเป็นต้น จึงทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากกว่า “ปัจจัย 4”

สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ของคนไร้บ้านมีปัจจัยต่างๆ มากมายโดยเฉพาะ เรื่องเศรษฐกิจ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้คนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางมีความลำบากในการดิ้นรนต่อสู้ชีวิตแม้ว่า ประเทศไทย รัฐบาลใดจะขึ้นค่าครองชีพแต่ราคาอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อคนเหล่านี้ไม่สามารถดิ้นรนต่อไปได้หนทางในการใช้ชีวิตก็มีลำบาก ไม่มีเงินเก็บ รายได้มากกว่ารายจ่าย เป็นหนี้สิน เป็นปัญหาของสังคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเช่นเดียวกัน หากบางคนยึดติดในวัตถุนิยม มีรสนิยมสูง เสพติดความหรู มีความโลภ ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาหนี้สิน หรือร้ายแรงจนถึงการล้มละลาย นอกจากนี้หากมีการกระทำทางศีลธรรมและการหาเงินโดยวิธีที่ไม่สุจริต เพื่อนำเงินมาตอบสนองความต้องการของตน จนนำมาสู่ปัญหาของสังคมเช่น การทุจริต การฉ้อราษฎร์บังหลวง การติดคุก

เมื่อบุคคลเกิดปัญหาในชีวิตไม่ว่าจะเป็นล้มละลาย มีหนี้สิน ตกงาน หรือเคยติดคุก จะทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดการดูถูกตนเองและกังวลคนรอบข้างจะนินทาหรือเป็นที่รังเกียจในสังคมจึงทำให้ต้องเลือกทางเดินใหม่ ออกจากสภาพสังคมเดิม ออกไปให้ไกลจากสายตาของคนในสังคมเดิม จนนำมาสู่การเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งก็สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.คนไร้บ้านชั่วคราว คือ อาจจะออกจากบ้านเดิมในชนบทหรือในเมืองมาใช้ชีวิตโดยลำพังมืดไหนนอนที่นั้น อายุยังไม่มาก สามารถดิ้นรนต่อสู้ชีวิตในวันข้างหน้าได้ โดยระหว่างนี้ สามารถอาศัยอยู่ตามสถานที่พักพิงต่างๆ ที่ภาครัฐหรือ องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ (NGO) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อพร้อมที่จะเผชิญโลกก็สามารถ พึ่งพาตนเองได้มีช่องทางในการทำอาชีพมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2.คนไร้บ้านแบบถาวร คือ ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพศชาย ซึ่งไม่มีลูกหลาน ไม่มีครอบครัว ทำให้เกิดสภาวะซึมเศร้าหนีออกจากบ้านรวมไปถึงการที่ผู้สูงอายุบางคนหลงๆลืมๆ หนีออกไป กลับบ้านไม่ถูกและไม่มีบัตรประชาชนหรือสิ่งที่แสดงตัวว่าเป็นใคร นอกจากนี้ปัญหาความยากจนไม่มีทักษะอาชีพหรือหนทางหารายได้ และอายุที่มากทำให้ไม่มีที่พักพิง ไม่มีอาหาร ไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้า นอกจากนี้บางคนก็มีอาการทางจิตซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่คนส่วนใหญ่มักมีชุดความเชื่อ เหมารวมว่าคนไร้บ้าน คือ “คนบ้า”

แม้ว่าที่ผ่านมาคนกลุ่มหนึ่งในไทย มีความพยายามเรียกร้องความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มคนเหล่านี้ เนื่องจาก สังคมผลิตวาทกรรมกับคนไร้บ้านว่าเป็น คนจรจัด (ซึ่งเรียกคล้ายสุนัข) ทำให้ลดคุณค่าความเป็นคนเห็นคนอื่นไม่เท่าเทียมกันโดยหาคำเรียกใหม่มาแทน เช่น คนไร้บ้าน คนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นต้น

จากพื้นที่สาธารณะที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนขอเปรียบเทียบว่าเป็น บ้านของคน(ไม่)ไร้บ้าน เพราะว่าแท้จริงแล้วบางคนมีความต้องการ หรือมีความจำเป็น มีเหตุผลเฉพาะตนในการใช้ชีวิตโดยไม่มีบ้าน สังเกตได้จากสภาพเศรษฐกิจที่อะไรก็แพงไปเสียหมด หากมีบ้าน ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ถ้าไม่ใช่บ้านตนเองก็ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน การจะมีบ้านสักหลังก็ต้องมีงบประมาณพอสมควร ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้มีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และสังคมที่เปลี่ยนไปผู้คนทั้งชายและหญิงเลือกที่จะไม่แต่งงาน เลือกจะมีสถานะโสดมากขึ้น ทำให้การมีครอบครัวลดลง ประชากรที่เกิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน

ในระยะยาว สังคมทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยก็จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอาจทำให้จำนวนคนไร้บ้านแบบถาวรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่หากรัฐใดมีการบริการพื้นที่สาธารณะเช่น ห้องอาบน้ำในพื้นที่สาธารณะต่างๆ การจัดโซนสำหรับผู้ที่ต้องการพักผ่อนบริเวณขนส่งมวลชน หรือจัดตั้งสถานที่พักพิงที่สามารถอาศัยได้เหมือนบ้านไม่กำหนดเวลาเข้าออก หรือสร้างกฎเกณฑ์ใดๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Michael Foucault กล่าวถึง พื้นที่บางแห่งถูกสร้างขึ้นสำหรับคนที่ถูกสังคมตัดสินว่า เบี่ยงเบนบรรทัดฐานทางสังคม เช่นคุก โรงพยาบาลบ้า สถานที่พักพิงต่างๆ ทำให้รู้สึกมีความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่ากัน

ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงโดยจะเห็นได้จากสังคมไทยเองก็มีค่านิยม การผลิตซ้ำว่า คนที่เข้าไปอยู่ในคุก เป็นพวก “ขี้คุก” หลายๆคนมีความกังวลและเกรงกลัวที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ และการที่ผู้ใดเข้าไปอยู่ในสถานที่พักพิงต่างๆ เป็นคนที่ต้องถูกมองว่ามีปัญหาชีวิต ถูกตราหน้าในทางลบๆ โรงเรียนประจำหลายๆ แห่งของรัฐบาลบางคนก็มีการใช้คำรุนแรงว่า “โรงเรียนดัดสันดาน” เป็นต้น

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะสามารถช่วยเหลือ ช่วยอำนวยความสะดวกกับกลุ่มคนไร้บ้านอย่างจริงจังในประเทศไทยที่ผู้เขียนเห็นว่าควรทำ 3 ประการคือ

ประการแรก รัฐจัดสวัสดิการให้ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการบริการในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ควรมีห้องอาบน้ำหรือ ตู้ล็อคเกอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไร้บ้านหรือประชาชนทั่วไป ซึ่งในต่างประเทศมีแล้ว และสถานที่พักพิงที่ไม่กำหนดเวลาไม่มีกฎระเบียบ

ประการที่สอง คนไทยควรเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ คือ 1.ค่านิยมเลิกดูถูกกันและกันเปลี่ยนความคิดความเชื่อเรื่องชนชั้นมองคนให้เท่ากับคน ไม่พูดให้ผู้ที่ด้อยกว่ารู้สึกว่าด้อยหรือเสียความมั่นใจ ท้อใจ หยุดดูถูกเหยียดหยาม เปิดใจให้โอกาสคนในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ 2.ค่านิยมเงินมาก่อน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหลายๆคนเพราะเงินตอบสนองความต้องการสร้างหลายๆสิ่งๆได้ หากคนไทยมีค่านิยมใช้เงินเท่าที่มีไม่โลภ ปัญหาการโกง ลักขโมย หรือการได้เงินมาโดยไม่สุจริตก็จะลดลง ปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินจะดีขึ้นไม่เป็นหนี้สิ้นหรือมีประวัติที่ไม่ดี

ประการสุดท้าย การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ควรแก้ปัญหาในระยะยาวรัฐเป็นกลไกลที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ มีความพยายามลดปัญหาสังคมไทยที่รวยกระจุกจนกระจาย ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น



บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2552). โลกของคนไร้บ้าน. กรุงเทพ: ภาพพิมพ์.

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99


[1]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.