Posted: 29 Mar 2018 09:44 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


เจษฎา บัวบาล


เราอาจเข้าใจว่า ศาสนาพุทธสอนให้มีผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) เพราะอิงกับศีลข้อที่ 3 แต่แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามการมีหลายเมียของกษัตริย์ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป และไม่ได้มองว่าการใช้บริการโสเภณีเป็นเรื่องที่ขัดจริยธรรม ศาสนาพุทธกลับเน้นไปที่การต้องเคารพในสิทธิและไม่ละเมิดผู้อื่น กล่าวคือ หากได้คนใหม่มาด้วยความยินยอมพร้อมใจและถูกต้องด้วยกฎหมายก็ถือเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

การอธิบายแนวคิดเรื่องคู่ครองผ่านศีลข้อที่ 3 เป็นการตีความที่คับแคบ ไม่ตรงกับคำอธิบายในพระวินัยและเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ ผู้เขียนเสนอว่า เหตุที่สังคมเถรวาทตีความพุทธศาสนาให้สนับสนุนระบบผัวเดียวเมียเดียว เพราะ 1.ชาวพุทธดูถูกกิเลสหรือการมักมากในกาม การมีหลายผัวหลายเมีย (polygamy) ดูผิวเผินเหมือนจะสนองกามารมณ์ที่ชาวพุทธรังเกียจ 2.ตีความศาสนาให้เคร่งขึ้นเมื่อต้องปะทะกับศาสนาอิสลามที่สนับสนุนระบบหลายเมีย
จาก polygamy สู่ monogamy

ธเนศ วงศ์ยานาวา (2549, 31) เสนอว่า “คน” โดยธรรมชาติมิได้เป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียว กล่าวคือ เมื่อพบเจอคู่ใหม่ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกกำหนัดอยากร่วมเพศด้วย แต่ธรรมชาตินี้ได้ถูกวัฒนธรรมที่มนุษย์พัฒนาขึ้นภายหลัง เช่น ศาสนาคริสต์ ปิดกั้นเอาไว้ อีกทั้งการเติบโตขึ้นของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่สร้างคำอธิบายแบบน่าเชื่อถือมายืนยันว่าการมีหลายผัวหลายเมียอาจเสี่ยงต่อโรคติดต่อและสุขภาพ แนวคิดผัวเดียวเมียเดียวจึงครอบคลุมมโนทัศน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

สายฝน จิตนุพงศ์ (2559, 186) มองว่า แม้สังคมไทยจะมิได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นไปได้ว่า การออกกฎหมายในยุคแรกของสยามได้รับอิทธิพลอย่างมากจากบาทหลวงในศาสนาคริสต์อีกทั้งศาสตร์สมัยใหม่เช่น การแพทย์ เป็นเหตุให้สังคมไทยรับเอาแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวของตะวันตกมาด้วย ข้อเสนอของสายฝนมีความน่าสนใจ ทั้งนี้ อาจมีเหตุผลอื่นๆ อีกที่ทำให้ชาวพุทธเองมองการมีหลายผัวหลายเมียว่าขัดจริยธรรม เช่น การมองเรื่องนี้ว่าเกิดจากกามารมณ์ล้วนๆ โดยละเลยมิติความสัมพันธ์ทางครอบครัวอย่างอื่น

พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการมีหลายเมีย

วินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม 1 ข้อ 428 แบ่งสตรีที่ไม่ควรละเมิดเป็น 10 จำพวก คือ 1.สตรีมีมารดาปกครอง 2.สตรีมีบิดาปกครอง 3.สตรีมีมารดาบิดาปกครอง 4.สตรีมีพี่น้องชายปกครอง 5.สตรีมีพี่น้องหญิงปกครอง 6.สตรีมีญาติปกครอง 7.สตรีมีโคตรปกครอง (อยู่ภายใต้การดูแลของบุคคลร่วมตระกูลอื่นๆ) 8.สตรีมีธรรมคุ้มครอง (อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มศาสนาอันหนึ่ง) 9.สตรีมีคู่หมั้น และ 10.สตรีมีกฎหมายคุ้มครอง (สตรีที่พระราชากำหนดห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวทางเพศสัมพันธ์ด้วย)

และในข้อถัดไปคือ 429 แบ่งภรรยาเป็น 10 จำพวกคือ 1.ภรรยาสินไถ่ (ช่วยมาด้วยทรัพย์) 2.ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 3.ภรรยาที่บุรุษยกสมบัติให้แล้วให้มาอยู่ร่วม 4.ภรรยาที่บุรุษมอบผ้าให้แล้วให้มาอยู่ร่วม 5.ภรรยาที่สมรส 6)ภรรยาที่ถูกปลงเทริด คือสตรีที่ประเพณีให้สวมใส่เครื่องประดับบางอย่าง ถูกชายใดถอดออก ต้องไปอยู่กับชายนั้น 7)ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 8)ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 9)ภรรยาที่ถูกนำมาเป็นเชลย และ 10)ภรรยาชั่วคราว คือ เป็นภรรยากันชั่วขณะ บรรดาหญิง 10 จำพวกนี้ เฉพาะสองพวกหลังเท่านั้นเป็นมิจฉาจาร (ร่วมเพศแล้วจะผิดศีลธรรม) ฎีกาสารัตถทีปนีอธิบายว่า "เป็นมิจฉาจาร เพราะสตรีเหล่านั้นถูกบุรุษลักผัสสะที่คนเหล่าอื่นรักษาคุ้มครองแตะต้องแล้ว"

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการมีภรรยาหลายคน แต่ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม เช่น ภรรยาที่ไถ่มาด้วยทรัพย์ ภรรยาที่ยกสมบัติให้แล้วยินดีมาอยู่ร่วม หรือภรรยาที่เป็นทั้งคนรับใช้และภรรยาไปพร้อมกัน (อาจเทียบกับบรรดานางสนมในวัง) จะเป็นผิดศีลธรรมก็ต่อเมื่อได้มาเพราะล่วงละเมิดสิทธิเขา เช่น เป็นเชลยศึกและเป็นผู้อยู่ภายใต้การดูแลของผู้อื่น (สตรี 10 พวกแรก และ ภรรยาชั่วคราว ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามจารีต)

“หากตีความแบบเข้าข้างพุทธศาสนา เป็นไปได้ว่า เหตุที่ต้องทำให้สตรีที่จะนำมาเป็นภรรยามีสถานะที่ชัดเจน ก็เพื่อสิทธิอันชอบธรรมที่เธอจะพึงได้จากการเป็นภรรยาของเขาเช่นกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์และความเข้มแข็งของสมาชิกในครอบครัวที่ต้องตระหนัก มากกว่าจะมองไปที่กิเลสหรือกามารมณ์แบบที่ชาวพุทธทั่วไปมอง”

ตัวอย่างของ ท้าวสักกะผู้เป็นหัวหน้าเทวดา สะท้อนชัดถึงการมีภรรยาหลายคนได้พร้อมๆ กัน เรื่องนี้ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท แม้ในอดีตชาติของท้าวสักกะซึ่งเกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆมาณพ ก็มีภรรยาถึง 4 คน เพราะการทำความดีของท่านเหล่านั้น เป็นเหตุให้ได้เกิดเป็นเทวดาในภพถัดไป ดูเหมือนพุทธศาสนาจะไม่สนใจจำนวนของภรรยา หากแต่เน้นไปที่การต้องทำความดีมากกว่า

อรรถกถาธรรมบทอีกเรื่องคือ อุบาสิกาอุตตรา ซึ่งเป็นโสดาบัน ได้จ้างโสเภณีชื่อ สิริมา มาดูแลสามี เพราะตนจะใช้เวลาตระเตรียมอาหารเพื่อทำบุญกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ การจ้างโสเภณีมารับหน้าที่ภรรยาชั่วคราว (ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) เป็นสิ่งที่โสดาบันทำได้เพื่อจะสามารถทำหน้าที่ภรรยาที่ดีคือไม่ละเลยการปรนนิบัติสามี สุดท้ายพระพุทธเจ้าได้เทศน์ให้ทุกคนฟังจนทำให้สิริมาได้บรรลุโสดาบันไปด้วย และไม่มีข้อความระบุว่า นางได้หยุดอาชีพโสเภณี (เพราะอาชีพนี้ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชา)

เรื่องนี้สะท้อน 2 ประเด็นคือ 1.การใช้บริการโสเภณีไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม เพราะโสดาบัน เช่น อุตตรา ก็ทำได้ 2.โสเภณีบรรลุโสดาบันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเลิกอาชีพนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม มิใช่การแอบขโมยหรือแย่งผัวเมียใคร แต่เป็นการตกลงและจ่ายทรัพย์ตามที่กฎหมายในเมืองนั้นๆ รับรอง

กามเป็นสิ่งชั่วร้ายในทัศนะเถรวาท

ชาวพุทธเถรวาทมักดูถูกกามารมณ์เพราะมองเพศสัมพันธ์ว่าเป็นความมักมากในกาม แท้จริง ความสุขทางเพศยังสะท้อนสุนทรียศาสตร์อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุข ผู้ชายจำนวนมากเมื่อตนถึงจุดสุดยอดก็ยุติกิจกรรมทางเพศไปเลย แต่ผู้ที่เห็นแก่คู่รักของตนจะพยายามหาวิธีให้อีกฝ่ายถึงจุดสุดยอดได้ด้วย การร่วมเพศจึงมิใช่แค่การเสพสุข แต่ยังเป็นการเสียสละ การรู้จักเรียนรู้ที่จะสร้างความสุขให้ผู้อื่น ซึ่งสุนทรียะเหล่านี้จะมองไม่เห็นหากถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์การเหยียด “กาม” ในแบบเถรวาท

การดูถูกกามารมณ์เป็นทัศนะที่ไม่ชัดเจนในตัวเอง เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะต้องมีเซ็กส์วันละกี่ครั้งจึงจะเรียกว่า “บ้ากาม” พุทธศาสนาเองก็มิได้มีมาตรวัดกิจกรรมทางเพศเหล่านี้ แต่เน้นไปที่ความชอบธรรมของคู่ครองที่ตนได้มามากกว่าดังที่กล่าวไปแล้ว

วิสาขาเป็นโสดาบันตั้งแต่ 7 ขวบและต่อมามีลูกถึง 20 คน คุณธรรมสำหรับพระโสดาบันซึ่งศาสนาพุทธเรียกร้องคือ รักษาศีลห้าได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ ไม่ล่วงละเมิดสามี-ภรรยาของผู้อื่นซึ่งผิดตามกฎหมาย แต่การจะยินดีในกามมากน้อยเพียงใด (มีเซ็กส์วันละกี่ครั้ง มีลูกกี่คน มีภรรยา/สามีกี่คน) เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญ

แม้กามจะดูชั่วร้ายที่ต้องคอยควบคุมจัดการ แต่การมีหลายผัวหลายเมีย มักถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทำความดีและรอรับผลในสวรรค์ ตัวอย่างของการเกิดเป็นเทวดาโดยจะมีนางอัปสรแวดล้อม (เป็นเมีย) ถึง 500 นางของศาสนาพุทธ และการมีนางฟ้ารับใช้ 72 นางในสวรรค์ของมุสลิม (อัลกอรีย์: รฮ.) นี่จึงเป็นความลักลั่นของศาสนาที่แง่หนึ่งก็รังเกียจกาม แต่อีกแง่ก็ใช้กามเป็นตัวล่อให้คนทำความดี ในรูปแบบของการอดเปรี้ยวไว้กินหวานในภพหน้า

ชาวพุทธรับ polygamy ไม่ได้เพราะรังเกียจอิสลาม


หลวงพ่อ ก. ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หยิบยกเอาเรื่อง “ชาวพุทธมีเมียได้หลายคน” มาเป็นซีรี่ส์ในการเทศน์โดยใช้เวลาหนึ่งพรรษา เรื่องนี้เกิดจากปมปัญหาที่สตรีคนหนึ่งเข้าปรึกษากับท่าน เพราะฝ่ายชายขออนุญาตเธอเพื่อจะมีภรรยาคนที่สอง ท่านตอบว่า “เธอช่างเป็นสตรีที่โชคดีที่สุดในโลก เพราะการที่ฝ่ายชายทำเช่นนี้ถือเป็นการเคารพ ซื่อสัตย์และให้เกียรติเธออย่างมาก หากเป็นผู้ชายทั่วไป เขาจะแอบมีโดยไม่ขออนุญาตเลย”

เมียหลวงจึงยอมตกลงและรับผู้หญิงอีกคนมาอยู่ในบ้านด้วย พยายามทำหน้าที่ภรรยาที่ดีต่อไป เธอรักษาใจไม่ให้เกลียดชังผู้หญิงคนนั้นตามคำแนะนำของหลวงพ่อ โดยตั้งทัศนคติว่า “เขาเข้ามาช่วยเธอดูแลสามี” สุดท้าย ผู้หญิงคนนั้นขอออกจากบ้านไปเองเพราะรู้สึกว่าเมียหลวงดีกับเธอมากและเธอก็ไม่อยากเป็นเมียน้อยใครในระยะยาว

หลวงพ่อเสนอหลักการเรื่อง สตรี 10 จำพวกเป็นต้นเพื่อสื่อว่า การมีภรรยาหลายคนที่ได้มาด้วยความชอบธรรมและยินยอมของฝ่ายหญิงเป็นสิ่งที่ทำได้ ชาวพุทธจำนวนมากรังเกียจการเทศน์ของท่าน เรื่องนี้โด่งดังมากเมื่อราว 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีใครแย้งท่านได้ในแง่หลักการพุทธ ได้แต่รังเกียจและนินทากันว่า ท่านได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามมากเกินไป จนถึงขั้นต้องสนับสนุนให้คนทำตามหลักศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธที่มีผัวเดียวเมียเดียว (ในแบบที่พวกเขาตีความกันเอง)

สังเกตได้ว่า แม้ศาสนาพุทธหรือหลวงพ่อรูปนี้จะเห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้มีหลายเมีย (ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม) แต่มักจะไม่เสนอให้สตรีมีหลายผัว นี่อาจเป็นอิทธิพลของระบอบปิตาธิปไตยซึ่งเป็นสถานะทางสังคมที่เน้นให้ชายเป็นใหญ่ แต่หากยึดเหตุผลและหลักการชุดเดียวกัน คือ การไม่ละเมิดสิทธิและทำให้ถูกต้องตามจารีต จะตีความว่าศาสนาพุทธและหลวงพ่อ ก. เปิดโอกาสต่อการมีหลายผัว (ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม) ก็ไม่น่าจะผิด

อย่างไรก็ตาม การได้มาด้วยความชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและจารีตเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัด แต่การยินยอมจากภรรยาคนก่อน ที่หลวงพ่อ ก. เน้น (โดยที่ศาสนาพุทธไม่ได้เน้น?) เป็นนามธรรมที่วัดได้ยาก เพราะการที่เธอไม่โต้แย้งมิได้หมายความว่าเธอจะเห็นดีด้วย แต่อาจเพราะถูกอำนาจบางอย่างครอบไว้ เช่น กลัวความลำบากเพราะฐานะยากจนเป็นต้น ทั้งนี้ โลกปัจจุบันก็ไม่ได้มองว่าหญิง/ชายที่เป็นหม้ายจะเป็นบุคคลชั่วร้ายแต่อย่างใด การยอมอดทนเพื่อหนีความลำบากจึงถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เขาหรือเธอเลือกแล้วเช่นกัน





เอกสารอ้างอิง

ธเนศ วงศ์ยานาวา. (2549). (การร่วม) เพศนอกสถาบันการแต่งงานในฐานะ “ระเบิด”: จากประวัติศาสตร์ “การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง” ถึง “เพศศึกษา” เมื่ออุดมการณ์ประสานกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์. รัฐศาสตร์สาร, 27(3), 1- 55.

สายฝน จิตนุพงศ์. (2016). ปรากฏการณ์ “กิ๊ก” กับมุมอง การท้าทาย ระบบความเชื่อเรื่องเพศในสังคมไทย. สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์, 16(2), 175-193.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.