Posted: 23 Mar 2018 01:48 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ข่าวร้อนสำหรับการเมืองไทยในช่วงต้นสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นการขอจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเข้าสู่สังเวียนการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการขอจดจองชื่อพรรคดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธและไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. โดยมีเหตุผลหลักสำคัญที่ว่าชื่อพรรคมีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กลับระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ปรากฏการณ์นี้นำมาสู่คำถามในใจของผู้เขียนว่าปัจจุบันการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นแนวทางที่เป็นคู่ตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย อยู่มากน้อยเพียงใด และจริงหรือไม่ที่การลงสู่สนามการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของพรรคคอมมิวนิสต์จะนำมาซึ่งการล้มล้างระบอบการปกครองดั่งเดิมที่มีอยู่ คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่น่าคิด น่าพิจารณาอย่างมากในสังคมไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่หวาดกลัวต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์อย่างมากในช่วงสงครามเย็น (Cold War) จนนำมาสู่สงครามของประชาชนที่ในอดีต

วันนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาลองทบทวนและถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทและความสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์กับระบอบประชาธิปไตยในยุคศตวรรษที่21 ซึ่งมีสถานการณ์ที่แตกต่างไปมากแล้วจากยุคสมัยสงครามเย็น เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าผมต้องการพาทุกคนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยควรมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือไม่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยควรได้รับโอกาสในการลงสมัครรับเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน และการตัดสิทธิในการจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยของ กกต. สะท้อนปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย คำถามเหล่านี้ผมจะพยายามตอบทั้งโดยอ้อมและตรงไปตรงมาผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างประเทศอินเดีย เหตุผลสำคัญที่ผมเลือกอินเดียมาเป็นกรณีศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยก็คงเป็นเพราะผมกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะและสร้างนักเคลื่อนไหวสายคอมมิวนิสต์ของประเทศอินเดีย อย่าง Jawaharlal Nehru University มหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเป็นฝ่ายซ้ายนิยม (Leftism) ทั้งยังผลิตนักการเมืองสายคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมคนสำคัญจำนวนมากให้กับประเทศอินเดีย นอกเหนือจากประเด็นส่วนตัวของผมแล้ว หลายคนก็คงพอทราบว่าอินเดียถือเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเชิงประชากร กล่าวคืออินเดียมีประชากรที่มีสิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาลมากหากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ในขณะเดียวกันอินเดียยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมากในมุมมองทางด้านประชากร รวมถึงระบบพรรคการเมืองด้วย การอาศัยบทเรียนของอินเดียจึงเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย

จากยุคอาณานิคมสู่สังเวียนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยภายใต้สาธารณรัฐอินเดีย: พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียกับโครงสร้างการปกครองที่เปลี่ยนแปลง

การถือกำเนิดของคอมมิวนิสต์ในอินเดียสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังคงปกครองอินเดีย ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์หลายชิ้นมีความขัดแย้งกันในช่วงเวลาการก่อตัวที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดีย บางกระแสว่าการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินเดียนั้นเริ่มก่อตัวนับตั้งแต่ปี 2463 ซึ่งนักคิดหลายคนของอินเดียเข้าร่วมประชุมคอมมิวนิสต์สากล (Communist International) ที่เมือง Tashkent ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Uzbekistan ในขณะที่บางกระแสนับว่าการถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดียนั้นก่อตัวในปี 2468 เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดียมีการจัดประชุมอย่างเป็นทางการในการถกเถียงเรื่องแนวทางคอมมิวนิสต์ ณ เมือง Kanpur อันนำมาซึ่งการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย (Communist Party of India: CPI) ในที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วงการปกครองของอังกฤษก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชนั้น CPI มีลักษณะที่ไม่เป็นระบบระเบียบและขาดความนิยมอย่างมากโดยเปรียบเทียบกับครองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) นอกจากนี้ยังถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลอาณานิคมด้วย

ภาพตราสัญลักษณ์ในการเลือกตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดีย CPI (ซ้าย) CPI(M) (ขวา)

ดังนั้นบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียจึงโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในช่วงที่อินเดียประกาศเอกราชและสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) ในปี 2490 สิ่งที่น่าสนใจประการสำคัญของประเทศอินเดียภายหลังได้รับเอกราชคืออินเดียสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าอินเดียจะเกิดจากการรวมตัวของรัฐมหาราชา (Princely State) มากกว่า 500 รัฐ ในช่วงที่อังกฤษปกครอง ในขณะที่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับเอกราชใกล้เคียงกันอย่างปากีสถานกลับประสบปัญหาการรัฐประหารอันนำไปสู่การปกครองด้วยระบอบทหารเป็นเวลายาวนาน ในการนี้ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นประเทศใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศกำลังร้อนระอุโดยเฉพาะสภาวะสงครามเย็นและเกิดการแบ่งขั้วระหว่างโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ อินเดียตัดสินใจประกาศตนเองเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่อการแบ่งขั้วทางอำนาจดังกล่าว ฉะนั้นเพื่อดำรงรักษาความเป็นกลางนี้ รัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสและให้การยอมรับต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย โดยอนุญาตให้สามารถลงแข่งขันในระบบเลือกตั้งระดับชาติได้ตามปกติ ถึงแม้ว่าในบางรัฐของอินเดียจะยังมีกฎหมายห้ามพรรคนี้ลงแข่งขัน ซึ่งในเวลาต่อมามีการแก้ไข

ความน่าสนใจของบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียในประวัติศาสตร์คือนับตั้งแต่อินเดียประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 1950 (พ.ศ. 2493) พรรคนี้ได้รับเสียงเข้าไปนั่งในรัฐสภาและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญได้สำเร็จด้วยการชนะเลือกตั้งระดับรัฐ โดยสามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรกในปี 2500 ที่รัฐ Kerala อย่างไรก็ตามการเถลิงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอุดมการณ์ นำไปสู่การแตกตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียลัทธิมาร์กซิส (Communist Party of India (Marxist): CPI(M)) ในปี 2513 นอกจากนี้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในอินเดียเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น หลักคิดหรือแนวคิดทางด้านคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมส่งผลให้เกิดการแตกตัวของพรรคการเมืองจำนวนมากที่มีความคิดความเชื่อดังกล่าวในหลายพื้นที่ของประเทศ มุขมนตรี (Chief Minister) และรัฐบาลระดับรัฐของอินเดียจำนวนมากปกครองโดยพรรคการเมืองที่มีความคิดและความเชื่อในแนวทางคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ทั้งนี้หากคิดคำนวณแบบคร่าวๆ ก็คาดว่าประเทศอินเดียจะมีพรรคการเมืองที่ลงสู่สังเวียนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั้งปีไม่ต่ำกว่า 50 พรรคการเมือง นอกจากการเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติแล้ว พรรคฝ่ายซ้ายและพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์ทั้งหลายยังให้การสนับสนุนการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จึงเกิดพรรคการเมืองนักศึกษาภายใต้พรรคการเมืองเหล่านี้ เช่น Students' Federation of India (SFI) ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาของ CPI(M) หรือ All India Students Federation (AISF) ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาของ CPI เป็นต้น

บทบาทพรรคฝ่ายซ้ายภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์:ความนิยม ความเปลี่ยนแปลง และการผลักดันนโยบาย

สำหรับสถานการณ์การเมืองในระบบเลือกตั้งของประเทศอินเดียปัจจุบัน ผมพบว่าบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดียลดต่ำลงมากในการเมืองระดับประเทศหลังจากที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภามาอย่างยาวนาน และในบางครั้งได้จับมือกับพรรคคองเกรสเพื่อจัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่สำหรับในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ฝ่ายซ้ายของอินเดียทุกพรรคการเมืองสามารถคว้าที่นั่งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Lok Sabha) ได้ไม่ถึง 20 ที่นั่งจากทั้งหมด 545 ที่นั่ง ในขณะที่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในระดับวุฒิสภา (Rajya Sabha) เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่า พรรคฝ่ายซ้ายจะลดบทบาทลงอย่างมากในการเลือกตั้งระดับชาติ ข้อมูลจำนวนมากกลับพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสายสังคมนิยมต่างๆ สามารถดำรงรักษาสถานะทางอำนาจไว้ได้ในหลายรัฐ ซึ่งหนึ่งในรัฐสำคัญที่ถือเป็นฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันก็คือรัฐ Kerala สถานการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างจากในรัฐสำคัญอย่าง West Bengal และ Tripura ซึ่งพรรคฝ่ายซ้ายยังได้รับความนิยมและพลัดเปลี่ยนขึ้นมามีอำนาจในการปกครองอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นผมจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายกำลังล้มหายตายจากในประเทศอินเดีย เพราะข้อมูลจำนวนมากเริ่มชี้ให้เห็นว่าพรรคฝ่ายซ้ายในหลายพื้นที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งระดับประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 มันจึงเป็นเรื่องที่จับตามองอย่างมากว่าการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่จะถึงนี้ พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายของอินเดียจะสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้มากน้อยเพียงใด และจะส่วนสำคัญมากน้อยแค่ในการกำหนดชะตาชีวิตของการเมืองอินเดีย

ภาพการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค CPIM ใน Kerala
จาก The Hindu

ฉะนั้นบทเรียนของประเทศอินเดียที่เปิดกว้างอย่างมากในระบบการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีการกีดกันพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดในเชิงการปฏิวัติสังคมอย่างพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายในระบอบการเมือง ทั้งที่ในช่วงนั้นเกิดสภาพสงครามเย็นซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ประเทศอินเดียอาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ได้หากพรรคเหล่านั้นชนะการเลือกตั้ง แต่ข้อมูลที่ผมพยายามแสดงไว้ข้างต้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่าถึงแม้ว่าพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายจะสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในหลายรัฐของประเทศอินเดีย แต่เรากลับพบว่ามุขมนตรีของรัฐเหล่านั้นได้มีการแสดงออกที่จะสร้างปัญหาในเชิงความมั่นคงโดยเฉพาะการประกาศเอกราช หรือไม่เอาด้วยกับอำนาจรัฐบาลส่วนกลาง ในทางกลับกันเราพบว่าการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายในระบอบประชาธิปไตยมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้รัฐบาลอินเดียต้องผลักดันนโยบายสวัสดิการจำนวนมาก ทั้งในเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และเศรษฐกิจให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในระบอบประชาธิปไตยของอินเดียยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านการพัฒนาของรัฐ Kerala ซึ่งมีความโดดเด่นอย่างมากทั้งในเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้รัฐ Kerala ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและประหยัด รัฐบาลสามารถส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมจนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐ Kerala เป็นมลรัฐไม่กี่รัฐในประเทศอินเดียที่ไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมหนักที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน แต่สามารถแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยวได้จำนวนมากจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

ถึงเวลาต้องลบภาพการเมืองของฝ่ายซ้ายในสายตาสังคมไทยหรือยัง?

สิ่งเหล่านี้คงพอจะเป็นคำตอบของหลายคำถามที่ผมพยายามตั้งไว้ในตอนต้นของการไม่รับจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สมการที่ว่าคอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับประชาธิปไตยที่คนไทยหลายคนเข้าใจ เห็นทีว่าจะต้องแก้เสียใหม่เป็นว่าคอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่คอมมิวนิสต์ควรจะเท่ากับการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์และเป็นไปเพื่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยนั้นจะไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์และคิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศมานานมากแล้ว แต่ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจถูกล้มล้างได้จากการอาศัยวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยในหลายครั้งหลายคราที่ผ่านมา ดังนั้นการไม่เปิดโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งได้ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงปัญหาความเปิดกว้างในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

โดยรวมเราสามารถกล่าวได้ว่าภาพจำเกี่ยวกับค้อน เคียว และพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอันเป็นมรดกตกทอดจากยุคสงครามเย็น ควรได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง เพราะบทเรียนจากหลากหลายประเทศสะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัจจุบันพิษภัยของพรรคคอมมิวนิสต์มีแนวโน้มลดต่ำลงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันความเข้มแข็งของรัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีระดับความมั่นคงสูงขึ้น จะมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่สามารถใช้ความรุนแรงในการต่อต้านรัฐได้อีกต่อไป ในทางกลับกันพรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นทางเลือกทางนโยบายที่สำคัญสำหรับคนที่เล็งเห็นถึงปัญหาทุนนิยมซึ่งส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ การถือครองที่ดินจำนวนมากมายมหาศาลของนายทุนในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน หรือแม้ได้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในระบบอุตสาหกรรม เป็นต้น

“พรรคคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย หากแต่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์และเปิดกว้างรับความคิดที่แตกต่างจากทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยขนาดใหญ่อย่างอินเดีย”


อ่านเพิ่มเติม

1. Parayil, Govindan (2000). "Introduction: Is Kerala's Development Experience a Model?". In Govindan Parayil. Kerala: The Development Experience: Reflections on Sustainability and Replicability. London: Zed Books.

2. https://www.livemint.com/Politics/3KhGMVXGxXcGYBRMsmDCFO/Why-Kerala-is-like-Maldives-and-Uttar-Pradesh-Pakistan.html

3. https://www.utne.com/community/theenigmaofkerala

4. Soundarapandian, Mookkiah (1 January 2000). Literacy Campaign in India. Discovery Publishing House. p. 21.



เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก กำลังศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies ณ Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.